ยืมใช้สิ้นเปลือง
"เพื่อนยืมเงินแล้วไม่คืน"
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๐ บัญญัติว่า อันว่ายืมใช้สิ้นเปลือง นั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่า จะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกัน ให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น
สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม
ลักษณะสำคัญ
๑.เป็นสัญญาไม่ต่างตอบแทน เมื่อเกิดเป็นสัญญาบริบูรณ์แล้ว ผู้ยืมเท่านั้น มีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินที่ยืม ผู้ให้ยืมไม่มีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญายืม การส่งมอบทรัพย์ที่ยืมให้แก่ผู้ยืมเป็นการกระทำที่ทำให้สัญญายืมบริบูรณ์ไม่ใช่หนี้ตามสัญญา แม้เป็นสัญญาไม่ต่างตอบแทนแต่สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองอาจเป็นสัญญามีค่าตอบแทนได้ เช่น ให้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ย
๒. เป็นสัญญาที่โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืม ดังนั้น ผู้ให้ยืมใช้สิ้นเปลืองต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้ยืม กรณีเกิดความเสียหายหรือสูญหายแก่ทรัพย์สินที่ยืม ผู้ยืมจะต้องเป็นคนรับผลในความเสียหาย ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากสัญญายืมใช้คงรูป
๓.วัตถุแห่งหนี้ตามสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองต้องเป็นทรัพย์ชนิดใช้ไปสิ้นไป เช่น ยืมข้าวสาร ยืมปูน ยืมน้ำมัน ยืมเงิน โดยต้องดูที่เจตนาของคู่สัญญา ว่า เจตนาจะยืมไปใช้ให้หมดไป แล้ว เมื่อถึงกำหนดคืน จะให้คืนอันใหม่แทน หรือไม่
๔.เป็นสัญญาที่บริบูรณ์เมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม การไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมให้แก่ผู้ยืม นั้น ไม่ได้ทำให้สัญญาเป็นโมฆะ แต่ไม่สามารถใช้บังคับได้ สิทธิหน้าที่ระหว่างคู่สัญญายังไม่เกิด เมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมแล้ว สัญญายืมจึงสมบูรณ์
สัญญาจะให้ยืม มีได้หรือไม่ มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ๒๙๒๓/๒๕๒๕ จำเลยจะจัดสรรที่ดินและปลูกบ้านขายจึงทำสัญญากับบริษัทโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเข้าควบคุมอนุมัติโครงการและควบคุมการก่อสร้างโดยจำเลยจะต้องจ่ายค่าควบคุมงานปลูกบ้านหลังละ ๗๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ และโจทก์มีหน้าที่ต้องให้จำเลย และผู้ซื้อบ้านพร้อมที่ดินจากจำเลยกู้ร้อยละ ๗๕ ของราคาที่ดินและบ้าน ต่อมามีการผิดสัญญา ่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่ให้กู้ยืมไปแล้วคืน จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์รับเงินค่าจ้างควบคุมงานไปแล้วไม่ยอมให้จำเลย และลูกค้ากู้เงิน โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหาย ่โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ตามกฎหมายไม่มีสัญญาจะให้ยืม โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนกันเป็นพิเศษ ยิ่งกว่าสัญญากู้ยืมธรรมดา เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ยอมให้จำเลยและผู้ซื้อที่ดินกู้เงินโจทก์ตามข้อตกลง โจทก์จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย
ศาลฎีกาไม่ได้วินิจฉัย ว่า มีสัญญาจะให้ยืมได้หรือไม่ แต่ ถ้ามีข้อตกลงที่คู่สัญญาตกลงกัน ในขณะเข้าทำสัญญา ในลักษณะต่างตอบแทนกันเป็นพิเศษ ก็สามารถบังคับกันได้ แม้สัญญากู้ยืมไม่สมบูรณ์ ตามแนวฎีกา การฟ้องแย้งของจำเลย เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย ไม่ได้ฟ้องแย้งให้ส่งมอบเงินที่ตกลงกันว่าจะให้จำเลยกู้ยืม จึงยังเป็นปัญหาว่า สัญญาจะให้ยืมสามารถบังคับได้หรือไม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น