กรณีเจ้าหนี้มีการแก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ยืม
บางครั้งฝ่ายเจ้าหนี้ได้แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ยืมก่อนแล้วจึงนำมาฟ้องปัญหาว่าผู้กู้จะต้องรับผิดหรือไม่เพียงใดแยกเป็น 5 กรณี
5.1 แก้ไขจำนวนเงินในขณะที่เขียนสัญญากู้ กรณีนี้อาจจะเกิดขึ้นเพราะเขียนผิด เช่น กู้กันเพียง 5,000 บาท แต่เขียนผิดเป็น 6,000 บาทจึงแก้ไขให้เป็น 5,000 บาท ตามที่กู้จริงหรือเขียนสัญญากู้ระบุจำนวน 10,000 บาท ขณะกำลังเขียนสัญญาผู้กู้ขอกู้เพิ่มเป็น 20,000 บาท ผู้ให้กู้ตกลงจึงแก้จำนวนเงินเป็น 20,000 บาทตามที่กู้จริงก่อนที่ ผู้กู้จะลงชื่อในสัญญากู้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าในกรณีที่มีการแก้ไขตัวเลขจำนวนเงินในขณะเขียนสัญญากู้ แม้ผู้กู้จะไม่ได้ลงชื่อกำกับก็ใช้ได้เพราะถือว่าเป็นเจตนากู้ยืมกันครั้งเดียวตามจำนวนที่แก้ไขแล้วลงชื่อไว้ท้ายสัญญาแห่งเดียวก็ใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมโดยสมบูรณ์ (ฎีกาที่ 1154/2511)
5.2 แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้เดิม เมื่อมีการกู้ยืมครั้งใหม่หลังจากทำสัญญากู้จนเสร็จสมบูรณ์แล้วต่อมา ผู้กู้ขอกู้เพิ่ม คู่กรณีไม่ทำสัญญาฉบับใหม่ แต่ใช้วิธีเปลี่ยนจำนวนเงินกู้ในสัญญาฉบับเก่าเช่นเดิมกู้ยืมเงิน 10,000 บาท ทำหนังสือสัญญากู้กันไว้ 10,000 บาท เมื่อครบกำหนดเวลาชำระหนี้แล้วผู้กู้ขอกู้เพิ่มอีก 10,000 บาทจึงเอาสัญญากู้ฉบับเดิมมาขีดฆ่าจำนวนเงินเดิมแล้วเขียนใหม่เป็น 20,000 บาท โดยผู้กู้ไม่ได้ลงชื่อกำกับ ต่อมาเจ้าหนี้ฟ้องให้บังคับชำระหนี้เงินกู้ 20,000 บาทตามสัญญากู้ที่มีการแก้ไขดังกล่าวศาลฎีกาวินิจฉัยว่าถือว่าการกู้ครั้งใหม่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือผู้กู้รับผิดเฉพาะ การกู้ครั้งแรกเท่านั้น (ฎีกาที่ 326 /2507)
5.3 แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ให้สูงขึ้นโดยผู้กู้ไม่ยินยอม เช่นกู้ยืมเงินเพียง 5,000 บาท ต่อมาผู้กู้ไม่ชำระหนี้ผู้ให้กู้จึงเติม 0 อีก 1 ตัวเป็น 50,000 บาท หรือเติม 1 เป็น 15,000 บาท แล้วนำสัญญานั้นมาฟ้องศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม จำเลยไม่ต้องผิดตามสัญญากู้ปลอม แต่ให้จำเลยผู้กู้รับผิดใช้เงิน 5,000 บาท ตามที่กู้จริง เพราะก่อนฟ้องการกู้เงิน 5,000 บาท มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ (ฎีกาที่ 407/2542, 1149/2552)
5.4 สัญญากู้ไม่ได้กรอกจำนวนเงินไว้ มี 2 กรณี
5.4.1 ผู้ให้กู้กรอกจำนวนเงินสูงกว่าที่กู้จริง บางครั้งผู้กู้เพียงแต่ลงชื่อเป็นผู้กู้ในแบบพิมพ์สัญญากู้ซึ่งไม่มีการกรอกจำนวนเงิน เมื่อผู้ให้กู้จะฟ้องคดีจึงกรอกข้อความระบุจำนวนเงินที่กู้สูงกว่าที่กู้จริงเช่นกู้ยืมเงิน 5,000 บาท โดยให้ผู้กู้ลงชื่อในช่องผู้กู้ในแบบพิมพ์สัญญากู้ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ ต่อมาผู้กู้ไม่ชำระหนี้ผู้ให้กู้จึงกรอกจำนวนเงินในสัญญากู้เป็น 50,000 บาทหรือ 15,000 บาท ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญากู้ฉบับที่นำมาฟ้องเป็นสัญญาปลอมพิพากษายกฟ้อง โดยผู้กู้ไม่ต้องรับผิดเลย (ฎีกาที่ 2518/2547, 7541/2548, 759/2557) แม้ผู้กู้และผู้ค้ำประกันจะให้การยอมรับว่ากู้จริง 5,000 บาทก็ตาม (ฎีกาที่ 513/2537 และ 1539/2548) จะเห็นได้ว่าผลแตกต่างกับกรณีตามข้อ 5.3 ที่ศาลฎีกาพิพากษาให้ชำระหนี้ตามสัญญาฉบับก่อนมีการแก้ไข เพราะในกรณีตามข้อนี้ไม่เคยมีการกรอกจำนวนเงินที่ถูกต้องในสัญญากู้ฉบับที่ถูกต้องเลย
5.4.2 ผู้ให้กู้กรอกจำนวนเงินตามที่กู้จริงถ้าทำสัญญากู้กันโดยผู้กู้ลงชื่อไว้ในแบบพิมพ์สัญญากู้ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความต่อมาเมื่อผู้กู้ไม่ชำระหนี้ผู้ให้กู้จึงกรอกข้อความและจำนวนเงินตามความเป็นจริงที่ตกลงกันดังนี้สัญญากู้ดังกล่าวใช้บังคับได้ (ฎีกาที่ 7428/2543, 5685/2548 และ 1483/2551)
5.5 กรณีที่กู้ยืมเพียงครั้งเดียวแต่ผู้กู้ลงชื่อไว้ในสัญญากู้ ๒ ฉบับ
คำพิพากษาฎีกาที่ 730/2508 จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ 7,000 บาท แต่ทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้ 2 ฉบับ ฉบับแรกระบุจำนวนเงินกู้ 7,000 บาท ฉบับที่สอง 14,000 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยตกลงกันว่าถ้าไม่ชำระหนี้ให้โจทก์นำสัญญากู้ฉบับที่สองมาฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงนำสัญญากู้ฉบับที่สองมาฟ้อง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นได้ว่าประโยชน์ที่ผู้ให้กู้ได้รับมากเกินสมควร เป็นการที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 ผู้กู้คงต้องรับผิดเฉพาะเงิน 7,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ 14,000 บาท มิได้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ 7,000 บาท จึงหาต้องรับผิดด้วยไม่
"ทำสัญญากู้ยืมเงินอย่างไร ไม่เสียเปรียบลูกหนี้"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น