สิทธิครอบครองและการครอบครองปรปักษ์
สิทธิครอบครอง คือ สิทธิที่จะยึดถือทรัพย์สินไว้เพื่อตน ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๖๗ ว่า "บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง"
สิทธิครอบครองเป็นสิทธิส่วนหนึ่งของกรรมสิทธิ์และเป็นสิทธิที่มีความยิ่งใหญ่รองจากกรรมสิทธิ์ เจ้าของสิทธิครอบครองมีอำนาจใช้สอยทรัพย์ ให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครอง เรียกเอาคืนซึ่งการครอบครอง ได้ดอกผล และโอนสิทธิครอบครองได้ คล้ายกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทั้งเป็นสิทธิที่ใช้ยันต่อบุคคลอื่นได้ทั่วไป
การจะได้สิทธิครอบครอง ต้องครบองค์ประกอบ 2 อย่างคือ
1.มีการยึดถือทรัพย์สิน
2.มีเจตนายึดถือเพื่อตน
การยึดถือทรัพย์สิน คือ ได้เข้าครอบครองทรัพย์สินไว้เท่านั้น และการยึดถือนี้ไม่จำเป็นจะต้องยึดถือ หรือครอบครองทรัพย์สินนั้นไว้ด้วยตนเอง ผู้อื่นยึดถือหรือครอบครองแทนก็เป็นการยึดถือได้ดังที่ มาตรา ๑๓๖๘ บัญญัติว่า
"บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้"
ตัวอย่าง เช่น นาย ก ไปกู้เงิน นาง ข โดยนำที่นามอบไว้ นาง ข ทำกินต่างดอกเบี้ย ถือว่า นาย ก เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ส่วนนาง ข เป็น ผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินแทนนาย ก เป็นต้น
คำว่า "ครอบครอง" ต่างจาก "สิทธิครอบครอง"
ครอบครอง เป็นคำธรรมดาสามัญ หมายถึงกิริยาเข้ายึดถือทรัพย์สิน ตามตัวอย่าง นาง ข. เข้าทำนาก็ได้ชื่อว่า นาง ข.ยึดถือนา แต่จะเรียกว่า นาง ข.มีสิทธิครอบครองอันเป็นทรัพยสิทธิตามกฎหมายในนานั้นยังไม่ได้ จนกว่า นาง ข จะยึดถือนานั้น เพื่อตนเอง และที่สำคัญ นาง ข ต้องบอกกล่าว เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยัง นาย ก ด้วย จึงจะได้สิทธิครอบครอง
เจตนายึดถือทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อตน หมายความว่ามีเจตนาที่จะยึดถือ ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์ของตนเอง เช่น กู้เงินแล้วมอบที่ดินมือเปล่าให้เจ้าหนี้ทำกินต่างดอกเบี้ย โดยสัญญาว่าถ้าไม่ชำระภายในกำหนดยอมให้ผู้ให้กู้ยึดเอาที่ดินไว้โดยผู้กู้ไม่เกี่ยวข้อง ดังนี้ถ้าไม่ชำระหนี้ตามกำหนดถือว่าผู้ให้กู้ได้ยึดถือที่นาเพื่อตนแล้ว และเป็นการแย่งการครอบครอง เมื่อเกิน ๑ ปี ผู้กู้จึงฟ้องเรียกคืนมิได้ ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ผู้ใดมียึดถือโดยเจตนายึดถือเพื่อตนหรือไม่ ต้องสันนิษฐานว่าผู้ที่ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้มีเจตนายึดถือเพื่อตน เป็นหน้าที่ของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งต้องนำสืบหักล้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๗๖ ถึง ๑๐๗๙/๒๕๑๐ ผู้ไม่มีสิทธิในที่ดินแม้จะไปแจ้งการครอบครองจนได้ ส.ค.๑ และได้รับ น.ส.๓ แล้ว ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองในที่ดินนั้น ผู้ที่ซื้อโดยสุจริต และจดทะเบียนแล้วก็ไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๑๙/๒๕๑๔ การแจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอ(แจ้ง ส.ค.๑) หาใช่เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าผู้แจ้งการครอบครองเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินนั้นเสมอไปไม่
ปพพ. มาตรา ๑๓๖๙ บัญญัติว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๕๙/๒๔๘๑, ๘๗๐/๒๔๘๖, ๑๒๐๘/๒๔๙๑ และ ๑๙๖๙/๒๔๙๔ วินิจฉัยว่า กู้เงินแล้วมอบที่ดินมือเปล่าให้เจ้าหนี้ทำกินต่างดอกเบี้ย โดยสัญญาว่าถ้าไม่ชำระภายในกำหนดยอมให้ผู้ให้กู้ยึดเอาที่ดินไว้โดยผู้กู้ไม่เกี่ยวข้อง ดังนี้ถ้าไม่ชำระหนี้ตามกำหนดถือว่าผู้ให้กู้ได้ครอบครองที่นาเพื่อตนแล้ว เมื่อเกิน ๑ ปี ผู้กู้จึงฟ้องเรียกคืนมิได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๔๕/๒๕๑๘ ที่ป่าสงวนก็มีสิทธิครอบครองได้และมีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ที่ขออาศัยทำไร่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๖๖/๒๕๒๓ ที่ดิน ๖๐-๗๐ ไร่ โจทก์เพียงแต่เข้าไปตัดฟืนเผาถ่านเล็กน้อยเป็นครั้งคราว เอาโคเข้าไปเลี้ยง ไม่พอฟังว่าได้สิทธิครอบครอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๓๓๐/๒๕๒๕ การครอบครองทรัพย์มรดกในฐานะทายาทและฐานผู้จัดการมรดก ถือเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จะยกอายุความตามมาตรา ๑๗๕๔ มาใช้มิได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๐๔/๒๕๓๒ ก่อนเจ้ามรดกตายได้พูดยกที่ดินมือเปล่าให้บุตรแต่ละคน โดยบุตรคนใดปลูกบ้านอยู่ในที่ดินส่วนใดก็ให้ที่ดินส่วนนั้น โจทก์ครอบครองปลูกบ้านอยู่ในที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของ แม้ต่อมาจำเลยจะไปขอรับมรดกที่พิพาทและขอออก น.ส.๓ เมื่อโจทก์ยังครอบครองที่พิพาทตลอดมา จำเลยก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ในที่พิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๔๔/๒๕๒๐ จำเลยฝากนาไม่มีหนังสือสำคัญไว้กับน้อง น้องขายนานั้นให้แก่โจทก์ โจทก์ครอบครองมา ๓ ปี ถือว่าเป็นการครอบครองแทนจำเลย โจทก์ไม่ได้สิทธิครอบครองในนานั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๑๖/๒๕๑๙ ผู้คัดค้านเป็นผู้ใช้สิทธิครอบครองที่พิพาท การที่ผู้ร้องถือโฉนดและเสียภาษีบำรุงท้องที่ และเข้าไปตัดฟืนเป็นครั้งคราว ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครองในที่พิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๘/๒๕๑๙ ผู้ร้องทำสัญญาจะขายที่ดิน ส.ค.๑ ให้จำเลยโดยยอมให้จำเลยครอบครองไปก่อนได้ และยอมให้ที่ดินนี้เป็นประกันเงินกู้ที่ผู้ร้องกู้จำเลย ดังนี้ถือว่าจำเลยยึดถือที่ดินแทนผู้ร้อง แม้จำเลยชำระราคาครบถ้วนแล้ว ก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๐๕/๒๔๘๑ วินิจฉัยว่า ที่จะอ้างว่าได้สิทธิครอบครองทรัพย์สินนั้น จะต้องปรากฏว่าได้ครอบครองทำประโยชน์เหมาะสมกับสภาพของทรัพย์สินและอัตภาพของตน มิฉะนั้นไม่แสดงว่ามีเจตนายึดถือเพื่อตน ที่ดินกว้าง ๒-๓ เส้นในป่าไม้ขึ้นเต็มคง ให้กระบือนอนทำแอ่งน้ำไว้ แล้วจึงตกกล้า ไม่ถือว่าได้สิทธิครอบครอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๑๕/๒๕๐๗ และ ๒๖๘/๒๕๐๘ ครอบครองที่พิพาทในระหว่างเป็นความกัน จะอ้างว่ายึดถือเพื่อตนมิได้ แม้ศาลฎีกาพิพากษาแล้วจะยังคงครอบครองต่อมาก็เป็นการครองครองสืบต่อต่อมาในระหว่างคดี ถือว่าครอบครองแทนผู้ชนะคดีไม่ได้สิทธิครอบครอง เว้นแต่จะบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา ๑๓๘๑
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๓๘/๒๔๙๙ เป็นเจ้าของหนองน้ำใช้สิทธิจับปลาแต่ในฤดูจับปลาเพียง ๓ เดือนในปีหนึ่ง ส่วนนอกฤดูจับปลาปล่อยให้ผู้อื่นทำนาตามขอบหนอง ดังนี้ถือว่าเจ้าของหนองยังครอบครองขอบหนองอยู่ และผู้ทำนาก็ยังถือมิได้ว่าเจตนายึดถือเพื่อตน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๓๖-๘๓๗ /๒๔๙๗ เพียงแต่ปลูกต้นสาคูลงในลำห้วยังไม่เป็นการครอบครองที่ป่าตามใบเหยียบย่ำ ไม่มีอำนาจฟ้องบุกรุก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๓๔๔-๔๓๕๐/๒๕๓๒ กระทรวงมหาดไทยจัดสรรที่ให้จำเลย โจทก์แย่งการครอบครองที่ดินนั้นในระหว่างที่ทางราชการดำเนินการเพื่อออกหลักฐานเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินให้จำเลยดังนี้ถือว่าเป็นการยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙ แม้โจทก์จะครอบครองมานานเพียงใดก็ไม่มีอำนาจฟ้องห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่พิพาท หรือให้จำเลยถอนคำขอออก น.ส.๓ ก.
แม้ว่ามาตรา ๑๓๖๙ ยัญญัติไว้ว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน แต่ถ้าทรัพย์สินที่ยึดถือนั้น เป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มีการจดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน เช่น ที่ดินที่มีโฉนดหรือตราจอง จะสันนิษฐานจะต้องสันนิษฐานว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง โดยมีหลักกฎหมายตาม ปพพ.มาตรา ๑๓๗๓
ปพพ.๑๓๗๓ ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
คำว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนตามมาตรา ๑๓๗๓ คือ บุคคลที่มีชื่อในโฉนดทุกประเภท และ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือ น.ส.๓ ทุกประเภท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๗๖/๒๕๒๐ ที่ดินที่มีทะเบียน น.ส.๓ น.ส.๓ ก. ถือว่ามีทะเบียนที่ดินแล้ว บุคคลที่มีชื่อในทะเบียนที่ดินนั้น ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามมาตรา ๑๓๗๓
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๓๔๓/๒๕๓๙ และ ๕๑๓๒/๒๕๓๙ วินิจฉัยว่า ที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้ว ถือว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนที่ดิน
ในเรื่องทะเบียนที่ดินประเภทที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ ตามปกติผู้ที่มีชื่อในทะเบียนที่ดินย่อมเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น แต่ผู้มีกรรมสิทธิ์อาจไม่ได้ยึดถือครอบครองที่ดินเอง โดยการยึดถือครอบครองอาจไปตกอยู่แก่บุคคลอื่นได้ ในเมื่อผู้มีกรรมสิทธิ์มิได้ยึดถือที่ดินไว้ เช่น เจ้าของที่ดินมีโฉนดนำที่ดินนั้นให้ผู้อื่นเช่า ผู้เช่าเป็นผู้ยึดถือที่ดินนั้นแทนเจ้าของ หากผู้เช่านำสืบไม่ได้ว่า ได้ยึดถือที่ดินนั้นโดยเจตนายึดถือเพื่อตน จะต้องถือตามกฎหมายที่ให้สันนิษฐาน ว่า ผู้มีชื่อในโฉนดเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
การครอบครองทรัพย์สินแทนผู้อื่น และ การเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ เป็นยึดถือเพื่อตน
ตาม ปพพ.มาตรา ๑๓๘๑ บัญญัติว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองบุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่า ไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก
บุคคลที่ยึดถือทรัพย์สิน คือ บุคคลที่เข้าใช้ประโยชน์ในตัวทรัพย์สินนั้นโดยตรง
ผู้ครอบครอง คือ ผู้มีสิทธิครอบครอง อันเป็นทรัพยสิทธิ
การเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ นั้น จะบอกกล่าวด้วยวาจา ด้วยหนังสือ หรือด้วยอากัปกิริยาอย่างใดอันแสดงให้อีกฝ่ายรู้ว่าได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ก็ได้ เช่น จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยในที่ดินโจทก์ เมื่อโจทก์นำรังวัดที่พิพาทเพื่อออกโฉนดจำเลยไปคัดค้าน ดังนี้เป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์แล้ว การคัดค้านของจำเลยถือว่าได้แสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ตามมาตรา ๑๓๘๑ แล้ว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๙๖-๗๐๐/๒๔๙๓)
เช่าที่ดินจากเขา เมื่อเขามาทวงค่าเช่า ก็ไม่ยอมให้และอ้างว่าเป็นที่ดินของตน ดังนี้เป็นการเปลี่ยนเจตนายึดถือแล้ว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๕๒-๒๔๙๘)
การที่ผู้ให้กู้นำที่ดินที่ผู้กู้นำมาเป็นประกันและให้ทำกินต่างดอกเบี้ยไปแจ้งการครอบครองตามแบบ ส.ค.๑ ว่าเป็นของตนเสียนั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๗๕/๒๕๐๖
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๗๕/๒๕๑๙ บิดาครอบครองทรัพย์มรดกของภริยาแทนผู้เยาว์ แล้วขายทรัพย์มรดกนั้นไปส่วนหนึ่งโดยปรึกษากับบุตรทุกคนว่าขายแล้วจะเอาเงินไว้เป็นกองกลาง ไม่ถือเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๕๔/๒๕๑๙ วินิจฉัยว่า การที่บุคคลผู้ยึดถือที่ดินแทนผู้ครอบครองได้ขอออก น.ส.๓ สำหรับที่ดินนั้น แม้เจ้าของที่ดินนั้นจะไปคัดค้านต่ออำเภอ ก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้ยึดถือไว้แทนได้เปลี่ยนลักณะแห่งการยึดถือ ทั้งนี้เพราะว่าผู้ยึดถือไว้แทนมิใช่เป็นผู้บอกกล่าวเปลี่ยนการยึดถือให้เจ้าของที่ดินทราบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๐๕๐/๒๕๓๓ โจทก์และจำเลยต่างครอบครองที่พิพาทร่วมกัน แม้ต่อมาโจทก์ไม่ได้ครอบครองแต่ให้จำเลยครอบครอง ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์ การที่จำเลยเป็นผู้นำสำรวจเขตเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ และเป็นผู้ออกเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่ ไม่ถือเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา ๑๓๘๑
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๐๕/๒๕๑๙ วินิจฉัยว่า การที่จำเลยพูดว่าทรัพย์ส่วนของเจ้ามรดกเอาไว้เป็นเบี้ยเผาผี แล้วจำเลยคงครอบครองทรัพย์นั้นไว้ต่อมา และยังรื้อเรือนไปปลูกที่อื่น กับอ้างว่า น.ส.๓ สำหรับที่ดินว่าเป็นของจำเลยด้วย ดังนี้ ถือเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา ๑๓๘๑ แล้ว โจทก์ต้องฟ้องเอาการครอบครองที่ดินคืนภายใน ๑ ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๕/๒๕๒๑ จำเลยครอบครองทำนาต่างดอกเบี้ยเงินกู้ เมื่อผู้กู้ขอไถ่คืนจำเลยไม่ยอมให้ไถ่ อ้างว่านาเป็นของจำเลย ถือได้ว่าได้บอกกล่าวไม่ยึดถือแทนต่อไป อ้างว่านาเป็นของจำเลย ถือได้ว่าได้บอกกล่าวไม่ยึดถือแทนต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๐/๒๕๒๒ จำเลยทำนาโจทก์ต่างดอกเบี้ย โจทก์ขอไถ่ จำเลยไม่ให้ไถ่ อ้างว่าเป็นการขายขาด ดังนี้เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือแทนโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ฟ้องเรียกคืนภายใน ๑ ปี ย่อมไม่มีสิทธิฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๒๓/๒๕๒๒ ผู้เช่านาไม่ยอมเสียค่าเช่า ไม่ยอมออกจากที่เช่าและไม่ยอมให้ผู้เก็บค่าเช่าทำนา เป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๖๕/๒๕๐๘ การที่จำเลยผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ได้บอกโจทก์ว่าจะไม่ให้ทรัพย์มรดกนั้นแก่โจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยพูดด้วยความโมโห ไม่มีเจตนาจริงจัง ก็ไม่ถือว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา ๑๓๘๑
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๖๕/๒๕๓๓ จำเลยทำสัญญาขายฝากที่พิพาทที่มี น.ส.๓ เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยยังครอบครองที่พิพาทตลอดมา โจทก์ขอให้จำเลยทำสัญญาเช่าที่พิพาทจากโจทก์จำเลยไม่ทำ และต่อมาได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากทางราชการเกี่ยวกับการขายฝาก ถือว่าจำเลยโต้แย้งการครอบครองและได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือสำหรับที่พิพาทแล้ว โจทก์ฟ้องคดีเกิน ๑ ปี นับแต่วันสัญญาขายฝากครบกำหนด จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๖๒/๒๕๓๖ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า โจทก์เป็นผู้ซื้อประทานบัตรเหมืองแร่ ซึ่งให้สิทธิแก่โจทก์ได้สิทธิตามผิวดินที่จะทำเหมืองแร่เท่านั้น บ. ผู้ได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ในที่ดินพิพาทหาได้โอนสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ไม่ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทยังเป็นของ บ. เจ้าของเดิมหรือทายาทผู้สืบสิทธิทางมรดกสืบต่อกันมา การที่จำเลยไปสอบเขตที่ดินพิพาทและโจทก์ยื่นคัดค้านว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของ โดยไม่ได้อาศัยสิทธิอื่นใดนอกเหนือจากสิทธิตามประทานบัตรเหมืองแร่ ซึ่งมีสิทธิที่จะเก็บประโยชน์ได้จากพื้นผิวดินเท่านั้น จะถือว่าคำคัดค้านของโจทก์เป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๖๕/๒๕๓๙ การที่ผู้ขายฝากที่ดินขอไถ่ถอนการขายฝากก่อนครบกำหนดไถ่ แต่ผู้ซื้อฝากไม่ยอมให้ไถ่เป็นการผิดสัญญา ไม่ถือว่าผู้ขายฝากบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือโดยจะเอาที่ดินเป็นของตน
การยึดทรัพย์สินแทนผู้มีสิทธิครอบครองตามมาตรา ๑๓๘๑ นี้ หากผู้มีสิทธิครอบครองตาย มีปัญหาว่า การยึดถือแทนจะสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่ มีแนวคำพิพากษา เป็นบรรทัดฐานดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1579/2514 วินิจฉัยว่า เจ้าของที่ดินมีโฉนดอนุญาตให้มารดาทำกินในที่ดินนั้น ถือว่ามารดาครอบครองแทนเฉพาะในระหว่างที่เจ้าของยังมีชีวิตอยู่ หากเจ้าของที่ดินตาย มารดาซึ่งเป็นทายาทด้วยผู้หนึ่งจะถือว่าครอบครองแทนสามีของผู้ตายด้วยมิได้ หากสามีมิได้ฟ้องคดีภายใน ๑ ปี นับตั้งแต่เจ้ามรดกตาย คดีย่อมขาดอายุความ แต่คำพิพากษาฎีกาที่ 2128/2518 วินิจฉัยว่า ครอบครองทรัพย์ไว้แทนผู้ใดแม้ผู้นั้นตายไปแล้วก็ต้องถือว่าครอบครองไว้แทนทายาทของผู้นั้นต่อไป ระหว่างคำพิพากษาฎีกาทั้งสองนี้ คำพิพากษาฎีกาที่ 1579/2514 น่าจะมีเหตุผลดีกว่า เพราะการยึดถือไว้แทนนั้นจะต้องยึดถือแทนผู้ที่มีตัวตนแน่ชัด ดังนั้นเมื่อผู้นั้นตาย ปัญหาว่าจะมีทายาทหรือไม่ และเป็นผู้ใดบ้างเป็นการไม่แน่ชัด จะยึดถือไว้แทนได้อย่างใด แต่มีคำพิพากษาฎีกาที่ 4548/2532 วินิจฉัยว่า ผู้ร้องทั้งสี่ และ ส.เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนด และได้ครอบครองร่วมกันมา เมื่อ ส. ตาย ผู้ร้องที่ 1 ได้เลี้ยงดูบุตรทั้งสองของ ส. ซึ่งเป็นผู้เยาว์โดยความรู้เห็นของผู้ร้องที่ 2 ถึงที่ 4 จึงถือว่าผู้ร้องทั้งสี่ครอบครองที่ดินรวมถึงนาของ ส. ไว้แทนบุตรทั้งสองของ ส. เมื่อบุตรของ ส. ทั้งสองได้หนีไป และไม่ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งสี่เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ดังนั้นแม้ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินมาถึง 10 ปีก็มิได้กรรมสิทธิ์
คำพิพากษาฎีกาที่ 699/2536 ผู้เช่าที่พิพาทเมื่อผู้ให้เช่าตายโดยไม่ได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ได้บอกกล่าวไปยังทายาทของผู้ให้เช่าว่าจะยึดถือที่พิพาทแทนทายาทของผู้ให้เช่าต่อไป ดังนี้แม้ผู้เช่าจะครอบครองที่พิพาทมาช้านานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์
คำพิพากษาฎีกาที่ 2617/2536 จำเลยเป็นหลานของ ล. อาศัยสิทธิ ล.เข้าทำกินในที่พิพาท เมื่อ ล. ตาย จำเลยมิได้แจ้งให้ทายาทของ ล.ว่า จะครอบครองที่พิพาทเพื่อตน ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทแทนทายาทของ ล. แม้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ คำสั่งศาลก็ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งไม่ใช่คู่ความในคดีนี้
มีปัญหาว่าการบอกกล่าวนั้น จะต้องบอกกล่าวโดยตรงต่อผู้มีสิทธิครอบครองหรือไม่ ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1208/2496 วินิจฉัยว่า บุตรเช่านาจากมารดา เมื่อน้องมาทวงค่าเช่านา กลับเถียงว่าเป็นของตน ดังนี้ จะถือว่าบุตรแย่งการครอบครองจากมารดามิได้เพราะเป็นการเช่าจากมารดา แต่มาเถียงสิทธิกับน้อง แต่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1307/2509 วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำขอการรับรองการทำประโยชน์ที่ดินต่ออำเภอ จำเลยได้คัดค้านอ้างว่าโจทก์รังวัดทับที่นาของจำเลย ดังนี้เมื่อโจทก์รับทราบคำคัดค้านของจำเลยแล้ว ถือได้ว่าจำเลยได้บอกกล่าวไปยังโจทก์โดยตรงว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่พิพาทแทนโจทก์ หากแต่จะยึดถือเพื่อตนเองตามมาตรา 1381 และคำพิพากษาฎีกาที่ 2789/2536 วินิจฉัยว่า บิดาจำเลยให้โจทก์อาศัยอยู่ในที่พิพาท แม้โจทก์ได้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยโจทก์ไม่ได้แจ้งให้บิดาจำเลยทราบ ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาเปลี่ยนการครอบครองจากผู้อาศัยมาเป็นครอบครองเพื่อตนเองตามมาตรา 1381 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสามฉบับนี้แสดงว่า การบอกกล่าวตามมาตรา 1381 ควรจะต้องบอกกล่าวโดยตรงต่อผู้มีสิทธิครอบครอง แต่ถ้าเป็นการบอกกล่าวต่อผู้อื่น หากผู้มีสิทธิครอบครองได้ทราบแล้ว ก็ถือว่าได้มีการบอกกล่าวต่อผู้มีสิทธิครอบครองแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การบอกกล่าวต่อผู้มีอำนาจแทนผู้มีสิทธิครอบครองเช่น ตัวแทน สามีหรือภรรยา เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่ง ย่อมเพียงพอที่จะถือว่าได้บอกกล่าวโดยตรงต่อผู้มีสิทธิครอบครองแล้ว คำพิพากษาฎีกาที่ 3962/2533 โจทก์อยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของจำเลย ต่อมาจำเลยมอบอำนาจให้ บ.ยื่นขอออกโฉนดและมอบให้ดูแลที่พิพาทแทน เมื่อ บ. นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่พิพาท โจทก์แจ้งความดำเนินคดีแก่ บ. และมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินคัดค้านการรังวัด เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินเรียกคู่กรณีมาเจรจา โจทก์ก็อ้างว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ พฤติการณ์พอถือได้ว่าโจทก์บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่พิพาทไว้แทนจำเลยมาเป็นยึดถือเพื่อตนเองแล้ว
การครอบครองโดยสุจริตอาศัยอำนาจใหม่จากบุคคลภายนอก เช่น ก.ครอบครองที่นามือเปล่าแทน ข. ต่อมา ค. นำ ส.ค.๑ มาแสดงว่า ข. ขายนานั้นให้ตนแล้ว ก.เชื่อว่าเป็นความจริงจึงซื้อนานั้นจาก ค. ดังนี้ นับแต่นั้นต้องถือว่า ก. ครอบครองเพื่อตนแล้ว
เกี่ยวกับสิทธิครอบครองนี้มีบทกฎหมายสันนิษฐานเป็นคุณแก่ผู้มีสิทธิครอบครองอยู่หลายมาตรา คือ
มาตรา ๑๓๗๐ บัญญัติว่า
ผู้ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าครอบครองโดยสุจริตด้วยความสงบและโดยเปิดเผย
มาตรา ๑๓๗๑ บัญญัติว่า
ถ้าพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดครอบครองทรัพย์สินเดียวกันสองคราว ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นได้ครอบครองติดต่อกันตลอดเวลา
มาตรา ๑๓๗๒ บัญญัติว่า สิทธิซึ่งผู้ครอบครองใช้ในทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสิทธิซึ่งผู้ครอบครองมีตามกฎหมาย
คำว่าผู้ครอบครองในมาตรา ๑๓๗๐ และ ๑๓๗๒ นั้น ย่อมหมายถึงผู้มีสิทธิครอบครอง มิใช่ผู้ครอบครองที่เพียงแต่ยึดทรัพย์สินไว้เฉยๆ โดยขาดเจตนายึดถือเพื่อตน
ตามมาตรา ๑๓๗๐ ผู้มีสิทธิครอบครองซึ่งครอบครองทรัพย์สินไว้นั้น เบื้องแรกต้องถือว่า ครอบครองโดยสุจริต โดยความสงบ และโดยเปิดเผย ผู้ใดจะเถียงเป็นอย่างอื่นมีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้าง เช่น ผู้ใดจะอ้างว่าผู้ที่ครอบครองที่ดินครอบครองโดยการบุกรุกที่ดินของผู้อื่นก็ดี ผู้ที่ใส่นาฬิกาข้อมือขโมยเขามาก็ดี จะต้องเป็นผู้นำสืบพิสูจน์ทั้งสิ้ิน มาตรา ๑๓๗๐ ให้สันนิษฐานไว้เพียงสามประการเท่านั้น หาได้สันนิษฐานต่อไปว่าผู้ครอบครองนั้นเจตนาครอบครองยึดถืออย่างเป็นเจ้าของ ด้วยไม่
ตามมาตรา ๑๓๗๑ นั้นเป็นเรื่องที่ผู้ครอบครองยึดถือทรัพย์สินนำสืบไม่ได้ว่าตนได้ครอบครองทรัพย์สินติดต่อกันตลอดไป เพียงแต่นำสืบได้เพียงว่าตนได้ครอบครองยึดถือทรัพย์สินนั้นสองคราว คือแรกคราวหนึ่งและเว้นระยะมา แล้วจึงมาครอบครองครั้งหลังอีกคราวหนึ่ง ดังนี้มาตรา ๑๓๗๑ สันนิษฐานว่าผู้นั้นครอบครองยึดถือทรัพย์สินนั้นติดต่อกันตลอดเวลา มาตรานี้มีประโยชน์ในการนับระยะเวลาการครอบครองเพื่อจะได้กรรมสิทธิ์ ตาม มาตรา ๑๓๘๒
ตามมาตรา ๑๓๘๒ เป็นเรื่องที่กฎหมายถือว่าสิทธิของผู้มีสิทธิครอบครองที่ใช้ต่อตัวทรัพย์สินที่ตนครอบครองยึดถืออยู่นั้นเป็นสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ใดจะโต้เถียงว่าเป็นสิทธิที่ไม่ชอบต้องมีหน้าที่นำสืบ หักล้าง เช่น ผู้ที่ขโมยทรัพย์เขามาและยึดถือไว้เพื่อตน ย่อมมีสิทธิครอบครอง เมื่อมีผู้ใดมาเอาทรัพย์นั้นต่อไป ขโมยย่อมมีสิทธิเรียกเอาทรัพย์นั้นคืน ตามมาตรา ๑๓๗๕ และการใช้สิทธิเช่นนี้ ย่อมถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ เว้นแต่เจ้าของทรัพย์ผู้มีกรรมสิทธิ์จะโต้แย้งว่าตนมีสิทธิดีกว่า เพราะ ขโมย นั้น ลักทรัพย์ของตนมา ในกรณีเช่นนี้เจ้าของทรัพย์ย่อมมีหน้าที่นำสืบ
ผลของการมีสิทธิครอบครอง
ผู้มีสิทธิครอบครองย่อมมีสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้สิทธิครอบครองของตนดังต่อไปนี้
๑.ผู้มีสิทธิครอบครองมีสิทธิให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๗๔ ว่า
"ถ้าผู้ครอบครองถูกรบกวนในการครอบครองทรัพย์สิน เพราะมีผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร์ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้ ถ้าเป็นที่น่าวิตกว่าจะยังมีการรบกวนอีก ผู้ครอบครองจะขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้
การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกรบกวน
ผู้ครอบครองดังกล่าวในมาตรา ๑๓๗๔ นี้ย่อมหมายถึงสิทธิครอบครอง มิใช่เป็นเพียงผู้ยึดถือครอบครองโดยมิได้เจตนายึดถือเพื่อเพื่อตน เพราะเพียงแต่ยึดถือหรือครอบครองทรัพย์สินเฉยๆ โดยยังไม่มีสิทธิครอบครองนั้น หามีอำนาจที่จะฟ้องผู้ใดไม่ คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๗๕/๒๕๑๘ ผู้เช่าอาคารซึ่งครอบครองอาคารที่เช่า แม้ไม่มีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือ ก็ฟ้องผู้บุกรุกละเมิดการครอบครองนั้นได้ แต่ถ้าผู้เช่ายังไม่ได้เข้าไปครอบครองทรัพย์ที่เช่า ก็ถือว่าผู้เช่ายังไม่มีสิทธิครอบครอง จึงไม่มีอำนาจฟ้องผู้ที่ทำละเมิดต่อทรัพย์ที่เช่านั้นได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๑๖/๒๕๑๓ ผู้เช่าที่ยังไม่เคยเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าไม่มีอำนาจฟ้องผู้ที่ปลูกโรงไว้ในที่เช่าก่อนทำสัญญาเช่า) แต่อย่างไรก็ตาม แม้การได้ซึ่งสิทธิครอบครองจะตกอยู่ในบังคับห้ามโอนตามกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการเกษตร พ.ศ.๒๕๑๑ ก็ต้องถือว่าผู้ครอบครองมีสิทธิครอบครอง ชอบที่จะใช้สิทธิขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองได้(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๕๖/๒๕๓๗)
การรบกวนการครอบครองของผู้มีสิทธิครอบครองนั้น ถ้าเป็นการรบกวนการครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ได้มีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒ และ ๓๖๔ บัญญัติเป็นความผิดอยู่แล้ว
การรบกวนการครอบครองนี้ อาจเป็นการส่งเสียงรบกวนหรือขัดขวางต่อการใช้ทรัพย์สินของผู้มีสิทธิครอบครอง เช่น เข้าไปใช้ทรัพย์สินของผู้มีสิทธิครอบครองโดยมิได้อนุญาต เป็นต้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๕๖-๘๕๗/๒๕๐๘ เข้าครอบครองที่ดินไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๖ ต่อมาได้แจ้ง ส.ค.๑ ย่อมมีสิทธิครอบครอง ทางราชการไม่มีสิทธิไปปักหลักเขตประกาศเป็นหนองสาธารณะ ถ้าทำถือว่ารบกวนสิทธิของผู้ครอบครอง ผู้ครอบครองมีสิทธิข้อให้ห้ามได้ แต่การสอดแทรกรบกวนนั้นต้องเป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจตามกฎหมาย หรือไม่มีกฎหมายรับรองให้กระทำได้ถ้าเขามีสิทธิกระทำได้โดยชอบ ผู้มีสิทธิครอบครองหาอาจมีสิทธิให้ปลดเปลื้องการรบกวนได้ไม่ เช่น ผู้ที่บุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น แม้จะเจตนายึดถือเพื่อตน แต่ถ้าเจ้าของที่ดินเขาเข้ามาหวงห้ามขับไล่ ตนจะอ้างสิทธิตามมาตรา ๑๓๗๔ นี้มิได้
สิทธิที่จะปลดเปลื้องการรบกวนนั้น ผู้มีสิทธิครอบครองย่อมกระทำได้ทันทีโดยไม่ต้องฟ้องร้องต่อศาล แต่ถ้าผู้รบกวนยังขัดขืนหรือโต้แย้งสิทธิอยู่ ผู้มีสิทธิครอบครองต้องฟ้องศาล จะกระทำเองโดยพลการมิได้ และการใช้สิทธิฟ้องศาลนอกจากจะขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนที่เกิดขึ้นแล้ว ยังขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้กระทำการรบกวนได้อีก การโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับการครอบครองที่ดิน ไม่จำต้องถึงกับใช้กำลังกายเข้ายื้อแย่งหรือบุกรุกเข้าไปในที่ดิน เพียงการที่สามีจำเลยเคยร้องเรียนต่อนายอำเภอว่า โจทก์บุกรุกที่ดินนั้น และเมื่อสามีจำเลยตาย จำเลยก็ยังแสดงสิทธิโดยขอให้โจทก์ออกไปจากที่ดินดังกล่าวก็ถือว่า เป็นการโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์จึงชอบจะเสนอคดีเพื่อขจัดข้อโต้แย้งและแสดงสิทธิของโจทก์ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๓/๒๕๑๑) เพียงแต่ฟ้องให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ มิได้ฟ้องขอให้ห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินด้วย มิใช่เป็นการฟ้องขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตาม มาตรา ๑๓๗๔ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๑๙/๒๕๓๘)
เนื่องจากสิทธิครอบครองเป็นสิทธิต่ำกว่ากรรมสิทธิ์ ฉะนั้นกฎหมายจึงได้กำหนดระยะเวลาในการฟ้องร้องเพื่อปลดเปลื้องการครอบครองไว้ว่าต้องฟ้องเสียภายในหนึ่งปี บทบัญญัติของมาตรา ๑๓๗๔ จึงนำไปใช้กับที่ดินโฉนดไม่ได้(คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๒๗๙/๒๕๓๗,๒๕๓๔ ถึง ๓๕๒๕/๒๕๔๖) ระยะเวลาที่มาตรา ๑๓๗๔ บังคับให้ฟ้องร้องนั้น มิใช่อายุความฟ้องร้องดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙๓/๙ เหตุนี้แม้จะได้มีการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยฐานบุกรุก ก็จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๕๑ วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้(คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๕๒๖-๕๕๒๘/๒๕๓๘) และแม้จำเลยจะมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙๓/๒๙ ศาลก็ยกขึ้นเองได้ ทั้งนี้โดยเทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๔๖/๒๕๐๕ ซึ่งวินิจฉัยเกี่ยวกับระยะเวลาฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองตามมาตรา ๑๓๗๕ ว่า เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเสียภายในหนึ่งปี ศาลชอบจะยกฟ้องเสียได้ แม้จำเลยจะมิได้ยกมาตรานี้เป็นข้อต่อสู้ก็ตาม
๒.ผู้มีสิทธิครอบครองมีสิทธิเรียกเอาการครอบครองคืนจากผู้ที่แย่งการครอบครองโดยมิชอบ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๗๕ ว่า
ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้
การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง
มาตรา ๑๓๗๕ นี้ต่างกับมาตรา ๑๓๗๔ ในข้อที่ว่า มาตรา ๑๓๗๔ เป็นเรื่องรบกวนการครอบครอง แต่มาตรา ๑๓๗๕ เป็นเรื่องแย่งการครอบครอง หรือแย่งตัวทรัพย์สินทีเดียว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๔๔/๒๕๔๑ วินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวเป็นคนละเรื่องกัน)
คำว่าผู้ครอบครองตามมาตรานี้ ก็เช่นเดียวกับมาตรา ๑๓๗๔ ย่อมหมายถึงผู้มีสิทธิครอบครอง
การแย่งการครอบครองนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๙๙๑/๒๕๔๑,๒๖๑/๒๕๔๕,๔๖๕๙/๒๕๔๙ อาจเป็นการแย่งเอาตัวทรัพย์โดยตรงหรือ เพียงแต่โต้แย้งคัดค้านสิทธิครอบครองในเมื่อผู้โต้แย้งได้ยึดถือครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ก่อนแล้วก็ได้ เช่น จำเลยเช่าที่พิพาท ต่อมาเมื่อโจทก์นำรังวัดที่พิพาทเพื่อออกโฉนด จำเลยไปคัดค้าน ดังนี้เป็นการโต้แย้งคัดค้านสิทธิของโจทก์แล้ว หากโจทก์ไม่ฟ้องเอาคืนการครอบครองภายใน ๑ ปี ย่อมหมดสิทธิฟ้อง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๙๖-๗๐๐/๒๔๙๓) การอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินที่มี น.ส.๓ ต่อมาที่ดินและบ้านตกเป็นของผู้ซื้อฝาก ผู้อาศัยต้องถือว่าครอบครองแทนผู้ซื้อฝาก แต่การที่ผู้อาศัยฟ้องผู้ซื้อฝากขอให้เพิกถอนการขายฝาก ถือว่าเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือแล้วจึงเป็นการแย่งการครอบครองนับแต่นั้น และเมื่อผู้ซื้อฝากซึ่งถูกฟ้องได้ฟ้องแย้งขอให้ขับไล่ผู้อาศัย ต้องถือว่าได้มีการฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองแล้ว แม้คดีนั้นศาลจะสั่งจำหน่ายคดีของผู้อาศัยอันทำให้ฟ้องแย้งตกไปก็ตาม หากผู้ซื้อฝากมาฟ้องผู้อาศัยเกิน ๑ ปี นับแต่วันแย่งการครอบครองก็ถือว่าไม่ขาดสิทธิฟ้องตามมาตรา ๑๓๗๕ เพราะต้องถือวันฟ้องแย้งเป็นการฟ้องแล้ว (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔๗๖/๒๕๓๖) จำเลยครอบครองที่ดินมือเปล่ามาฝ่ายเดียว ต่อมาจำเลยตกลงทำบันทึกแบ่งที่ดินนี้ให้โจทก์ การครอบครองของจำเลยต่อจากนั้นจึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ด้วย แต่เมื่อภายหลังจำเลยได้ขอถอนการให้ ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองเพื่อตนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา(คำพิพากษาฎีการที่ ๑๔๐๔/๒๕๑๑)
แต่การที่เจ้าพนักงานออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลย ยังไม่ถือว่าเป็นการรบกวนหรือแย่งการครอบครองของโจทก์แต่เมื่อจำเลยยืนคำคัดค้านการขอรับรองการทำประโยชน์ จึงถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วและเริ่มนับกำหนดเวลาฟ้องตั้งแต่นั้น(คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๘/๒๕๐๘)
การฟ้องขับไล่โดยอาศัยสัญญาประนีประนอมยอมความหรือสัญญาให้อาศัยไม่ใช่เป็นการถูกแย่งการครอบครอง ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๓๗๕(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙๒/๒๕๓๔)
ขอออกโฉนดที่ดินทับที่ดิน น.ส.๓ ของโจทก์แล้วมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์สืบต่อกันมาโดยมิได้เข้าครอบครองที่ดิน ยังไม่ถือว่าเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินของโจทก์ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๙/๒๕๓๘)เพียงขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินแต่ไม่เคยเข้าไปครอบครองที่ดินก็เช่นกัน
ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่นามือเปล่าให้เขาและศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้ว แม้ผู้นั้นจะยังคงครอบครองนานั้นอยู่จนเกิน ๑ ปีแล้ว ก็มิใช่เป็นการแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันจะทำให้คดีของผู้รับโอนหมดสิทธิฟ้องร้อง(คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๐๕/๒๕๐๘) ผู้ที่เป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สิน แม้ผู้ใดจะมิได้ครอบครองก็ถือว่าเจ้าของรวมคนอื่นครอบครองแทน ฉะนั้นจะอ้างว่าแย่งการครอบครองจากเจ้าของรวมคนอื่นที่มิได้ครอบครองมิได้(คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๕๒/๒๕๐๘) เว้นแต่จะได้มีการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าตนเจตนาจะยึดถืออย่างเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ผู้ที่ครอบครองทรัพย์ในฐานะตัวแทนแม้จะพ้นหน้าที่แล้ว ก็ยังมีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์ให้ตัวการ ฉะนั้นจะอ้างว่าครอบครองเพื่อตนมิได้ ผู้อื่นที่ได้รับมอบการครอบครองต่อจากตัวแทนโดยรู้ความจริงเช่นนั้นต้องถือว่าอยู่ในฐานะเดียวกับตัวแทน เว้นแต่จะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา ๑๓๘๑ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๖๓/๒๔๙๓) ผู้แพ้คดีถูกยึดที่ดินขายทอดตลาดและมีผู้ซื้อได้ แม้ผู้แพ้คดีจะยังคงยึดถือที่ดินนั้นอยู่ต่อมาเกิน ๑ ปี ก็ต้องถือว่าเป็นการยึดถือเพราะเป็นเจ้าของเดิมทำกินต่อเนื่องมาโดยผู้ซื้อยังไม่ประสงค์ขับไล่เนื่องจากอยู่ในระหว่างขอออก น.ส.๓ และขอจดทะเบียนรับโอน การยึดถือดังนี้ หากไม่มีพฤติการณ์ใดๆ ขึ้นใหม่อันแสดงว่าเป็นการแย่งการครอบครองแล้ว ก็จะนำกำหนดเวลา ๑ ปี ตามมาตรา ๑๓๗๕ มาใช้มิได้(คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๔๕/๒๕๒๐) จำเลยครอบครองที่ดินของโจทก์โดยอาศัยสิทธิของ จ. และ ป.ซึ่งอยู่ระหว่างโจทก์ฟ้องเอาคืนการครอบครอง จาก จ.และ ป. คดียังไม่ถึงที่สุด จำเลยไม่อาจยกการครอบครองยันสิทธิครอบครองของโจทก์ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๕/๒๕๔๐) ที่ดินที่ทางราชการจัดให้ราษฎรทำกินนั้น ห้ามโอนภายใน ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๓๑ ดังนี้แสดงว่าทางราชการยังควบคุมที่ดินนั้นอยู่ การครอบครองในเวลาห้ามโอนอังกล่าวจึงกระทำมิได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๐๙/๒๕๓๑) จำเลยครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์ จำเลยเคยฟ้องภริยาโจทก์เป็นคดีอาญาข้อหาบุกรุกที่พิพาท ทำให้เสียทรัพย์ และเรียกค่าเสียหาย แต่ศาลพิพากษายกฟ้อง การครอบครองที่พิพาทของจำเลยในระหว่างดำเนินคดีอาญาถือเป็นการครอบครองแทนโจทก์ จำเลยจะอ้างกำหนดเวลาฟ้องเรียกคืนการครอบครองตามมาตรา ๑๓๗๕ ยันโจทก์มิได้(คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๔๖/๒๕๓๕)
ถ้าผู้โต้แย้งสิทธิครอบครองมิได้ครอบครองทรัพย์ที่โต้แย้งอยู่ไม่ถือว่าเป็นการแย่งการครอบครอง จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๓๗๕ ที่จะฟ้องผู้โต้แย้งภายใน ๑ ปี แต่การโต้แย้งนั้นทำให้ผู้ถูกโต้แย้งมีสิทธิฟ้องผู้โต้แย้งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๕๕ และการฟ้องผู้โต้แย้งเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องฟ้องภายใน ๑ ปี ทั้งนี้ จะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๔๐/๒๕๒๒ ซึ่งวินิจฉัยว่า โจทก์ซื้อที่พิพาทจาก ส. และได้ครอบครองตลอดมา ได้ออก น.ส.๓ ที่พิพาทในนาม ส. เมื่อ ส.ตาย จำเลยบุตร ส. ขอรับมรดกต่ออำเภอ ดังนี้มิใช่แย่งการครอบครอง แม้เกิน ๑ ปี โจทก์ก็ฟ้องจำเลยได้ คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๕๒/๒๕๒๒ โจทก์ครอบครองที่ดิน จำเลยขอหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โจทก์คัดค้าน แม้เจ้าพนักงานจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลย ก็ไม่ใช่เรื่องแย่งการครอบครอง โจทก์ไม่ต้องฟ้องภายใน ๑ ปี (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๓๖/๒๕๒๓, ๒๒๓๐/๒๕๒๕, ๗๙๕/๒๕๓๓, ๓๐๘๙/๒๕๓๗ และ ๖๓๓/๒๕๓๘ ก็วินิจฉัยอย่างเดียวกัน
จำเลยแจ้งความต่อตำรวจกล่าวหาโจทก์บุกรุกที่ดิน น.ส.๓ ก. แต่จำเลยก็ยังมิได้ครอบครองที่ดิน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยแย่งการครอบครอง โจทก์ไม่หมดสิทธิฟ้อง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๙๔/๒๕๓๗) การที่ผู้รับประทานบัตรเหมืองแร่ฟ้องผู้ที่สร้างสิ่งปลูกสร้างในที่ดินที่ได้รับประทานบัตรให้รื้อถอนออกไป มิใช่เป็นการฟ้องเรียกสิทธิครอบครองคืน ตามมาตรา ๑๓๗๕
สำนักงานทนายความ จ้างทนาย รับว่าความทั่วประเทศ ทนายที่ดิน จ้างทนายคดีแพ่ง อาญา ว่าต่างแก้ต่าง ฟ้อง ใช้สิทธิทางศาล ร่างสัญญาทุกประเภท ปรับโครงสร้างหนี้ เร่งรัดหนี้ สืบทรัพย์ บังคับคดี โดยทนายความวิชาชีพ โทร.0986165819, line: pnek
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
-
เมื่อได้รับ หมายศาลคดีแพ่ง แล้วต้องทำอย่างไร 1.อ่านรายละเอียดในหมายให้ละเอียดเริ่มจากมุมบนขวา ไปจนถึงมุมล่างซ้...
-
กรณีเจ้าหนี้มีการแก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ยืม บางครั้งฝ่ายเจ้าหนี้ได้แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ยืมก่อนแล้วจึงนำมาฟ้องปัญหาว่าผู้ก...
-
การถูกกำจัดมิให้รับมรดก การถูกกำจัดมิให้รับมรดกเป็นผลจากบทบัญญัติของกฎหมายที่ทำให้ทายาทเสียสิทธิในมรดก การถูกกำจัดมิให้รับมรดกมีอยู...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น