วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2562

ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ

                                                                                  ยืม
                       ยืมเป็นสัญญาชนิดหนึ่งที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จัดไว้เป็นเอกเทศ สัญญาโดยบัญญัติไว้ในบรรพ ๓ ลักษณะ ๙ ตั้งแต่มาตรา ๖๔๐ ถึงมาตรา ๖๕๖ รวม ๑๗ มาตรา เนื่องจากสัญญายืมเป็นนิติกรรมสองฝ่าย จึงต้องนำกฎหมายลักษณะนิติกรรมและหนี้มาใช้ด้วย การปฏิบัติและการวินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญายืม นอกจากจะพิจารณาข้อสัญญาและบทบัญญัติในบรรพ ๑ และบรรพ ๒ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องดังต่อไปนี้
                       ๑.เจตนาของคู่สัญญา สัญญายืมเป็นนิติกรรม ๒ ฝ่าย เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป เมื่อเป็นนิติกรรมก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของมาตรา ๑๔๙ ที่ว่า "มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล" ดังนั้นการที่พนักงานในหน่วยงานหนึ่งทำใบยืมให้หน่วยงานนั้นเพื่อเบิกเงินไปจ่ายในการงานของหน่วยงานนั้นเอง ไม่เป็นสัญญายืม เพราะเขามิได้มีเจตนาที่จะยืมเงินของหน่วยงานไปใช้ แต่เป็นการทำใบยืมเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของหน่วยงานและเงินตามใบยืมก็นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานนั้นเท่านั้น เช่น
                       คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๑๑/๒๕๒๙ เรื่องยืมตาม ป.พ.พ. เป็นกรณีที่ผู้ให้ยืมให้ผู้ยืมใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมเพื่อประโยชน์ของผู้ยืมหาใช่เพื่อประโยชน์ของผู้ให้ยืมไม่ การที่โจทก์ผู้ให้ยืมให้จำเลยยืมเงินไปเป็นการทดรองเพื่อให้จำเลยนำไปใช้สอยในกิจการของโจทก์เป็นประโยชน์ของโจทก์ผู้ให้ยืมเอง รูปเรื่อง จึงปรับเข้าเรื่องยืมไม่ได้
                       คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๔๖/๒๕๓๘ โจทก์ซึ่งเป็นนายอำเภอยืมเงินจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด แล้วมอบเงินนั้นให้จำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าหมวดการศึกษา เพื่อนำไปจ่ายเป็นเงินเดือน และค่าจ้างพนักงานในหมวดการศึกษา แต่จำเลยกลับเอาเงินนั้นไปให้สมาชิกสหกรณ์ครูกู้ เมื่อโจทก์ทวงเงินจากจำเลย จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้วไม่ใช้ โจทก์จึงฟ้องคดี ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เป็นกรณีที่โจทก์ปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ และเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการเท่านั้น หาใช่ทำในฐานะส่วนตัวไม่ การคืนเงินยืมดังกล่าว ก็เพียงแต่นำใบสำคัญที่คณะกรรมการจ่ายเงินได้จ่ายไปนำไปเบิกจากงบประมาณแผ่นดินแล้วนำไปชำระแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด หาจำต้องนำเงินส่วนตัวมาชำระคืนไม่ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ให้ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๐ เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้ให้ยืมเงิน โจทก์กับจำเลยจึงไม่มีหนี้ต่อกัน หนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยทำไว้แก่โจทก์จึงไม่มีผลบังคับ
                       คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๔๑๔/๒๕๕๑ จำเลยเป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการอบรมลูกจ้างของโจทก์ จำเลยจึงขอยืมเงินโจทก์ ๑๒๗,๑๐๐ บาท เพื่อใช้ในการดังกล่าว แต่เงินนั้นถูกคนร้ายลักไป ดังนี้การยืมเงินเป็นเรื่องของการปฏิบัติราชการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา การทำสัญญายืมเงินเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการปฏิบัติราชการของจำเลย จึงมิใช่การยืมตามลักษณะ ๙ แห่ง ป.พ.พ. และกรณีนี้ไม่อาจนำบทบัญญัติในลักษณะ ๙ มาใช้ในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง
                       ถ้าผู้ทำใบยืมนำเงินไปใช้ในการอื่นไม่ถูกต้องตามระเบียบอาจจะต้องรับผิดฐานละเมิดได้(ดูฎีกาที่ ๙๑๐/๒๕๒๐)
                    ๒.ความสามารถในการทำนิติกรรม สัญญายืมเป็นนิติกรรม ๒ ฝ่าย คือ เป็นนิติกรรมที่เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาตรงกันของบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป บุคคลที่ทำสัญญายืมอาจจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้
                       ๒.๑ กรณีที่บุคคลธรรมดาเป็นคู่สัญญา คู่สัญญาทุกคนจะต้องมีความสามารถ มิฉะนั้นสัญญายืมจะเป็นโมฆียะ เพราะมาตรา ๑๕๓ บัญญัติว่า "การใดมิได้เป็นตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคล การนั้นเป็นโมฆียะ" สัญญาที่เป็นโมฆียะนั้นใช้ได้จนกว่าจะถูกบอกล้างโดยบุคคลตามที่มาตรา ๑๗๕ กำหนด บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคล เช่น มาตรา ๒๑, ๒๙, ๓๐, และ ๓๔ ดังนั้น ในกรณีที่บุคคลธรรมดาทำนิติกรรมหรือสัญญายืมนอกจากจะพิจารณาตามบทบัญญัติในบรรพ ๓ ลักษณะ ๙ แล้วจะต้องพิจารณาถึงบทบัญญัติในมาตรา ดังกล่าวด้วย
                       ๒.๒ กรณีที่นิติบุคคลเป็นคู่สัญญา โดยสภาพแล้วนิติบุคคลไม่เป็นผู้เยาว์ไม่เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ แต่ความประสงค์ของนิติบุคคลจะต้องแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคลและต้องอยู่ภายในขอบอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น ด้วยตามมาตรา ๖๖ ดังนั้นในสัญญาจะผูกพันนิติบุคคลหรือไม่จะต้องดูว่า ผู้แทนกระทำการภายในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้นหรือไม่
                             ๒.๒.๑ ผู้แทนกระทำการภายในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล ถ้าผู้แทนของนิติบุคคลทำการแทนนิติบุคคลภายในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล นิติบุคคลนั้น ต้องผูกพันและรับผิดตามนิติกรรมนั้น สำหรับนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อประกอบธุรกิจการค้าจำเป็นจะต้องมีเงินทุนมาใช้ในการดำเนินกิจการ ดังนั้น การที่ผู้แทนของนิติบุคคลกู้ยืมเงินผู้อื่นมาเพื่อใช้ในกิจการของนิติบุคคลนั้น ต้องถือว่าเป็นการกระทำภายในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น (ฏีกาที่ ๓๘๙๖/๒๕๒๕ และ ๕๐๐๒/๒๕๔๐)
                             ๒.๒.๒ ผู้แทนกระทำการนอกวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล ในกรณีที่ผู้แทนของนิติบุคคลไปทำสัญญาในนามนิติบุคคลแต่นอกวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล ตามปกติแล้วนิติบุคคลนั้นไม่ต้องรับผิด เช่น กรรมการบริษัทใช้เงินในบัญชีของบริษัทเป็นประกันหนี้ของตนที่มีต่อธนาคาร (ฎีกาที่ ๔๑๙๓/๒๕๒๘) กรรมการบริษัททำสัญญาในนามของบริษัทค้ำประกันหนี้ของผู้อื่นที่มิได้เกี่ยวข้องกับบริษัท (ฏีกาที่ ๔๗๗๘/๒๕๓๑) กรรมการของบริษัทจำเลยทำบันทึกการจ่ายเงินให้โจทก์เพื่อช่วยให้โจทก์มีรายได้ เป็นการทำนอกวัตถุประสงค์ ไม่ผูกพันจำเลย (ฎีกาที่ ๑๔๑๘/๒๕๕๔)
                        ถ้าผู้แทนของนิติบุคคลทำสัญญานอกวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล แต่นิติบุคคลได้รับประโยชน์จากนิติกรรมนั้นไปแล้ว เมื่อจะต้องรับผิดหรือมีหน้าที่ตามสัญญานั้น นิติบุคคลจะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าเป็นเรื่องนอกวัตถุประสงค์ไม่ได้ เช่น การรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นการค้ำประกันอย่างหนึ่ง เป็นการกระทำนอกวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ระบุรับค้ำประกันหนี้สิน (ฎีกาที่ ๑๗๓๘/๒๕๓๗)
                        บริษัทจำเลยที่ ๑ ไม่มีวัตถุประสงค์ในการประกันวินาศภัย แต่ได้รับประกันวินาศภัย และรับเบี้ยประกันภัยแล้ว จะปฏิเสธว่าเป็นเรื่องนอกวัตถุประสงค์ของบริษัทเพื่อให้พ้นความรับผิดที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันภัยหาได้ไม่ (ฎีกาที่ ๔๒๑๑-๔๒๑๒/๒๕๒๘ และ ๕๒๕๖/๒๕๕๐)
                        ในทำนองเดียวกันถ้าเราทำสัญญากับนิติบุคคลและได้รับประโยชน์ตามสัญญานั้นแล้วต่อมาเราผิดสัญญา เราจะปฎิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าการทำสัญญานั้นอยู่นอกวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลไม่ได้ เช่น แม้ขณะที่ให้เช่าซื้อบริษัทโจทก์จะมิได้มีวัตถุประสงค์ให้เช่าซื้อสังหาริมทรัพย์ แต่จำเลยให้การและนำสืบรับว่า จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับโจทก์จริง จำเลยจะโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะการให้เช่าซื้อรถยนต์อยู่นอกวัตถุประสงค์ของโจทก์หาได้ไม่ (ฎีกาที่ ๑๘๔๕/๒๕๓๑)
                        ๓.วัตถุประสงค์ของนิติกรรม สัญญายืมจะใช้บังคับได้ต้องเป็นไปตามมาตรา ๑๕๐ คือมีวัตถุประสงค์ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ถ้าเราขอยืมเงินจากเพื่อน ธนบัตรหรือเงินที่ยืมเป็นวัตถุแห่งหนี้วัตถุประสงค์ของการยืมก็คือยืมเงินนั้นไปเพื่อทำอะไร ถ้าวัตถุประสงค์เป็นการไม่ชอบตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๕๐ และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งก็รู้ สัญญานั้นเป็นโมฆะ เช่น กู้เงินโดยบอกผู้ให้กู้ว่าจะเอาไปลงทุนค้าฝิ่นเถื่อน (ฎีกาที่ ๗๐๗/๒๔๘๗) กู้เงินโดยบอกว่าจะเอาไปใช้หนี้ค่าจ้างมือปืนไปยิงครู(ฎีกาที่ ๓๕๘/๒๕๑๑) ให้กู้เงินโดยรู้ว่าผู้กู้จะนำเงินนั้นไปใช้ในการวิ่งเต้นกับกรรมการคุมสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ (ฎีกาที่ ๕๗๑๘/๒๕๕๒) พระภิกษุให้กู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ยได้ (ฎีกาที่ ๓๗๗๓/๒๕๓๘) สัญญากู้ยืมที่มีมูลหนี้มาจากการพนันหวยใต้ดิน เป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมไม่ก่อหนี้ที่พึงชำระต่อกัน(ฎีกาที่ ๔๘๒๒/๒๕๕๐) ธนาคารหรือบริษัทที่ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมให้ลูกค้ากู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงเป็นโมฆะ (ฎีกาที่ ๔๐๐๑/๒๕๕๑ และ ๖๒๒๓/๒๕๕๖)
                        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๗๖/๒๕๔๒ เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายเป็นโมฆะตามตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐ แล้ว การที่โจทก์ชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินพิพาทให้จำเลย ย่อมเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายซึ่งมาตรา ๔๑๑ บัญญัติว่าจะเรียกร้องทรัพย์สินคืนไม่ได้ ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจเรียกเงินคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินที่โจทก์ฟ้องเป็นสัญญาที่จำเลยตกลงยอมรับผิดใช้หนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการที่โจทก์ได้ชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๕๐ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามหนังสือสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์


                                                        ปรึกษาทนายความ แอดไลน์มา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น