วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2562

ทรัพย์-ที่ดิน

ทรัพย์-ที่ดิน
ความหมายของทรัพย์ และทรัพย์สิน
                 มาตรา ๑๓๗ บัญญัตว่า ทรัพย์หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง
                 มาตรา ๑๓๘ บัญญัติว่า ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้
ทั้งสองมาตราดังกล่าวจะเห็นว่า มีส่วนที่ร่วมกันหรือซ้อนกันอยู่ เพราะมาตรา ๑๓๗ บัญญัติว่า ทรัพย์หมายความว่าวัตถุมีรูปร่าง และมาตรา ๑๓๘ ตอนแรกก็บัญญัติว่า ทรัพย์สินหมายความรวมถึงทรัพย์ แล้วก็บัญญัติต่อไปว่ายังหมายความรวมถึงวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ อาจกล่าวได้ว่าทรัพย์คือ วัตถุมีรูปร่างเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สิน แต่มาตรา ๑๓๘ บัญญัติต่อไปว่า ทรัพย์สินนั้นอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ ก็จำเป็นที่จะต้องเอาคำว่าอาจมีราคาและอาจถือเอาได้นั้นมาขยายคำว่าวัตถุมีรูปร่างด้วยเช่นกัน ถือว่า ข้อความว่าอาจมีราคาและอาจถือเอาได้นั้น ก็ต้องขยายทั้งคำว่าทรัพย์ และคำว่าวัตถุไม่มีรูปร่าง ฉะนั้นทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นจะต้องอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ ซึ่งมีข้อสังเกตดังนี้
                 ๑.การมีราคาและการถือเอาได้นั้น ตัวบทใช้คำว่าอาจนำหน้าคือ อาจมีราคาและอาจถือเอาได้ ไม่ได้บังคับว่าต้องมีราคาและต้องถือเอาได้ คำว่าอาจคือ เป็นไปได้ที่จะมีราคาหรือเป็นไปได้ที่จะมีการถือเอาได้ เช่น นกที่เกาะตามกิ่งไม้บินไปบินมา หรือปล่าที่ว่ายน้ำไปมาในคลอง ทั้งนกทั้งปลานั้นยังไม่มีการเข้าถือเอาแต่อยู่ในวิสัยที่จะเข้าถือเอาได้ หรือเอาแร้วไปดักนก เอาเบ็ดไปตกปลา ทั้งนกและปลานั้นก็อาจเป็นทรัพย์ที่อาจถือเอาได้และอาจมีราคาด้วยกันทั้งคู่
                 ๒.คำว่าทรัพย์และทรัพย์สินนั้นมีความหมายไม่เหมือนกัน ทรัพย์มีความหมายแคบกว่าทรัพย์สิน เพราะทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สิน นอกจากนี้ทรัพย์สินยังหมายความรวมถึงวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ ฉะนั้นการใช้กฎหมายต้องระวังว่า เมือใดควรจะใช้คำว่าทรัพย์ เมือใดควรจะใช้คำว่าทรัพย์สิน เช่น ผู้มีฐานะดีท่านหนึ่งต้องการให้เราทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายว่าจะยกทรัพย์มรดกนั้นให้แก่ทายาทคนใดโดยเฉพาะ ส่วนทายาทคนอื่นๆ ไม่ให้ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลส่วนตัว เช่น มีบุตรหลายคน บรรดาบุตรคนโตก็แต่งงานแยกครอบครัวไปแล้วตอนที่แยกครอบครัวนั้น ก็มีการแบ่งทรัพย์สินให้ไปตั้งตัวสร้างครอบครัวแล้วก็เหลือบุตรคนเล็กอยู่ด้วยกัน เป็นคนที่ดูแลตลอดมายังไม่ได้แต่งงานยังไม่ได้แบ่งทรัพย์สินให้ ฉะนั้นทรัพย์สินที่เหลือจะให้บุตรคนเล็กคนเดียว ถ้าไม่ระมัดระวังกำหนดในพินัยกรรมว่าทรัพย์ของข้าพเจ้าทังหมดที่มีอยู่ในขณะที่ข้าพเจ้าถึงแก่ความตายนั้นให้ตกเป็นของบุตรชายคนเล็ก คนอื่นไม่มีสิทธิอย่างนี้พอเจ้ามรดกตายอาจเกิดปัญหาขึ้นได้ว่าทรัพย์นั้นหมายความถึงวัตถุที่มีรูปร่างเท่านั้น เช่น รถยนต์ เครื่องเพชร ที่ดิน บ้านที่อยู่อาศัย ส่วนวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง หรือสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นในบริษัทหรือในสถาบันการเงิน สิทธิหรือลิขสิทธิ์พวกทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหลาย เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร เหล่านี้ไม่มีรูปร่างทั้งสิ้น เป็นสิทธิในความคิดสร้างสรรค์ไม่รวมถึง ทายาทอื่นๆ จะมาขอแบ่งโดยอ้างว่าเป็นกองมรดกของผู้ตาย ซึ่งมาตรา ๑๖๐๐ บัญญัติว่ากองมรดกของผู้ตายนั้นได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย แต่พินัยกรรมกำหนดว่าทรัพย์เท่านั้น คุณเอารถยนต์ไป เอาบ้านไป เอาเครื่องเพชรไป เอาเครื่องตกแต่งในบ้านไป แต่ว่าสิ่งที่เป็นทรัพย์สินนั้นเอาไปไม่ได้ ต้องมาแบ่งถือเป็นกองมรดก ในปัจจุบันทรัพย์สินที่เป็นวัตถุไม่มีรูปร่างอาจมีราคาสูงเป็นต้นว่า เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียง มีมูลค่ามากกว่าที่ดินมากมายนัก ก็จะเกิดปัญหาขึ้นว่าบุตรชายคนเล็กไม่ได้สมประโยชน์ ถ้าเราทำพินัยกรรมแล้วไม่ระวังในเรื่องนี้บุตรชายคนเล็กก็จะต้องเอาทรัพย์สินอื่นๆ ไปแบ่งให้แก่ทายาทคนอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตามบางกรณีกฎหมายอาจจะไม่สอดคล้องหรือการใช้ถ้อยคำในกฎหมายอาจจะไม่เป็นไปในแนวเดียวกันก็อาจทำให้เกิดความสับสนได้ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ และมาตรา ๓๓๕ ในเรื่องลักทรัพย์ กฎหมายใช้คำว่าเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย แต่ในเรื่องฉ้อโกงตามมาตรา ๓๔๑ ความผิดต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา ๑๔๔ กฎหมายใช้คำว่าทรัพย์สิน ก็เกิดปัญหาว่า หมายความว่าอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องลักทรัพย์ คือ ลักกระแสไฟฟ้านั้น จะเป็นลักทรัพย์หรือไม่ เพราะกระแสไฟฟ้านั้นไม่มีตัวตนเป็นพลังงานที่ส่งไปตามสายไฟฟ้าเท่านั้น ก็เกิดปัญหาขึ้นมาว่าการลักลอบใช้กระแสไฟฟ้านั้นความผิดหรือไม่ เราเอาสายไปต่อจากสายของการไฟฟ้านครหลวงเข้ามาใช้ในบ้านโดยไม่ผ่านมาตรวัดไฟฟ้านั้นเป็นการลักทรัพย์หรือไม่ที่เป็นปัญหาก็เพราะว่าประมวลกฎหมายอาญาในเรื่องลักทรัพย์ตามาตรา ๓๓๔ และมาตรา ๓๓๕ ใช้คำว่าทรัพย์เท่านั้น ซึ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๗ ก็ให้ความหมายชัดเจนแล้วว่าทรัพย์หมายความถึงวัตถุที่มีรูปร่าง แปลประกอบกับมาตรา ๑๓๘ ก็คือ อาจมีราคาและอาจถือเอาได้ ในเรื่องนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาประชุมใหญ่
                   คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๗๗/๒๕๐๑ (ประชุมใหญ่) การลักกระแสไฟฟ้าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
                   ซึ่งในคำพิพากษาศาลฎีกาเองก็ไม่ได้อธิบายว่าทำไมการลักกระแสไฟฟ้าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้ทั้งๆ ที่กระแสไฟฟ้านั้นไม่มีรูปร่าง ก็มีนักกฎหมายหลายท่านพยายามที่จะวิเคราะห์หาเหตุผลว่าทำไมศาลฎีกาถึงวินิจฉัยอย่างนั้น ท่านศาสตราจารย์บัญญัติ วิเคราะห์ว่าก่อนที่จะมีการใช้ประมวลกฎหมายอาญา เราใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ ในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ นั้นมีการให้คำนิยามของคำว่าทรัพย์ไว้โดยเฉพาะในมาตรา ๖(๑๐) ว่าหมายความถึงสิ่งของอันบุคคลมีกรรมสิทธิ์หรือมีอำนาจเป็นเจ้าของได้ จะเห็นได้ว่าคำนิยามนั้นกว้างกว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗ ในปัจจุบัน ฉะนั้นในขณะที่ใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ นั้น การลักกระแสไฟฟ้าเป็นการลักทรัพย์อย่างแน่นอน เพราะกระแสไฟฟ้าถือเป็นทรัพย์ได้ตามคำนิยามมาตรา ๖ (๑๐) ท่านศาสตราจารย์บัญญัติเห็นว่าศาลฎีกาถือแนวบรรทัดฐานตามกฎหมายเก่านั่นเอง ซึ่งผมเห็นว่า เป็นคำอธิบายที่มีน้ำหนักอยู่ แต่อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาตามหลักวิชาการในการตีความโดยการใช้กฎหมายนั้นก็ยังมีข้อน่าคิดอยู่ เพราะว่ากฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ นั้น ได้ถูกยกเลิกเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.๒๔๙๙ แล้ว ในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.๒๔๙๙ มาตรา ๔ บัญญัติว่า เมื่อประมวลกฎหมายอาญาได้ใช้บังคับแล้วยกเลิกกฎหมายลักษณะอาญา ก็เท่ากับคำนิยามของคำว่าทรัพย์ตามมาตรา ๖(๑๐) ของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ ได้ถูกยกเลิกผลก็คือประมวลกฎหมายอาญาไม่มีคำนิยามของคำว่า ทรัพย์ เมื่อไม่มีคำนิยามของคำว่าทรัพย์ก็ไม่น่าที่จะเอาคำนิยามของกฎหมายที่ถูกยกเลิกแล้วมาใช้อีก ในทางตรงกันข้ามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๗ ได้ให้ความหมายของคำว่าทรัพย์ไว้โดยเฉพาะ เมื่อมีบทนิยามหรือการให้ความหมายของคำว่าทรัพย์ไว้โดยเฉพาะแล้ว ทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่บัญญัติภายหลังก็ไม่มีบทบัญญัติให้ความหมายเป็นพิเศษของคำว่าทรัพย์ โดยหลักแล้วคำว่าทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔, ๓๓๕ นั้น ก็ควรจะตีความว่า มีความหมายอย่างเดียวกับที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้ คือ วัตถุที่มีรูปร่าง ซึ่งศาลฎีกาเคยถือหลักการตีความทำนองนี้ เช่น ในเรื่องของสถานภาพของการเป็นสามีภริยาว่า เมื่อมีการใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ บรรพ ๕ ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบของการเป็นสามีภริยาไว้ว่าจะต้องมีการจดทะเบียนสมรสจึงถือว่าเป็นการสมรสกันตามกฎหมาย ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๑ วรรคแรก จะเห็นว่าเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาว่าด้วยความผิดฐานลักทรัพย์ ถ้าภริยาไปลักทรัพย์ของสามีหรือสามีไปลักทรัพย์ของภริยาผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ แต่ว่าประมวลกฎหมายอาญาไม่มีบทบัญญัติถึงสถานภาพของการเป็นสามีภริยาหรือ ความสัมพันธ์ในฐานะเป็นสามีภริยาที่มาตรา ๗๑ วรรคหนึ่งกล่าวถึงจะต้องมีการจดทะเบียนสมรสหรือไม่ หรือว่าอยู่กินกันฉันสามีภริยาเป็นที่รู้กันทั่วไปในสังคมก็ถือว่ามีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาตามที่มาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง บัญญัติ ซึ่งในเรื่องนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยในแนวที่ว่า ถ้าในประมวลกฎหมายอาญา นั้นไม่มีคำจำกัดความของคำว่าสามีภริยาไว้ต้องเอากฏหมายทั่วไปของการเป็นสามีภริยามาใช้ คือนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ซึ่งบังคับไว้ว่าการสมรสนั้นจะต้องมีการจดทะเบียนสมรสถึงจะถือว่าเป็นคู่สมรสกัน แล้วตีความว่าสามีภริยาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๑ วรรคแรก นั้นจะต้องเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ จดทะเบียนสมรสกันไม่ใช่อยู่กินกันฉันสามีภริยาเท่านั้น ในเรื่องการลักกระแสไฟฟ้านั้นในต่างประเทศก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน โต้เถียงกันไปมาในที่สุดหลายประเทศก็ออกกฎหมายไว้โดยเฉพาะ เป็นต้นว่า ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเยอรมัน เขามีกฎหมายบัญญัติเฉพาะเรื่องลักพลังงานต่า่งๆ ของเราเองเมื่อประมาณ ปี ๒๕๓๕ หรือ ๒๕๓๖ กระทรวงยุติธรรมได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาได้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นพิจารณาเหมือนกันว่าเราควรจะเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้เป็นพิเศษหรือไม่ แต่ในที่สุดคณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่จำเป็น เพราะมีคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๗๗/๒๕๐๑ (ประชุมใหญ่) วินิจฉัยไว้ชัดแจ้งแล้วว่าการลักกระแสไฟฟ้านั้นเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จากนั้นมาแนวคำพิพากษาฎีกาก็เป็นไปในทางเดียว
                    คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๘๐/๒๕๔๒(ประชุมใหญ่) คำว่าโทรศัพท์สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนอธิบายว่า โทรศัพท์เป็นวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้าให้กลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่ง สัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นกระแสไฟฟ้าที่แปลงมาจากเสียงพูดเคลื่อนที่ไปตามสายลวดตัวนำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การที่จำเลยลักเอากระแสสัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยทุจริต  จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์เช่นเดียวกันกับ ลักกระแสไฟฟ้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น