วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

กองมรดกตกทอดเมื่อใด และตกทอดแก่ผู้ใดบ้าง

    กฎหมายที่จะนำมาปรับใช้ในเรื่อง มรดก คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6

    ตาม มาตรา 1599 บัญญัติว่า เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น     

    เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท        

    คำว่าตายหมายถึงการตายโดยธรรมชาติและการตายโดยศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1602 วรรคหนึ่ง 

    กองมรดกจะตกทอดแก่ผู้ใดบ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1599 วรรคหนึ่งใช้คำว่าทายาทซึ่งเป็นคำกลางๆแต่ตามมาตรา 1603 ได้แบ่งทายาทออกเป็น 2 ประเภทคือทายาทที่เรียกว่าทายาทโดยธรรมซึ่งหมายถึงทายาทตามมาตรา 1629 ซึ่งเป็นมาตราหลักมาตรา 1607,1615 วรรค 2, 1639 ถึงมาตรา 1645 และอีกประเภท คือ ทายาทโดยพินัยกรรม ซึ่งทรัพย์สินใดถ้าเจ้าของทรัพย์สินทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์ของตนไว้ตั้งแต่ก่อนตายแล้ว ทรัพย์สินนั้นจะไม่ตกทอด ทายาทโดยธรรม

    ทายาทมี 2 ประเภท คือ 1 ทายาทโดยธรรม  2 ผู้รับพินัยกรรม

    ดังนั้นจะต้องพิจารณาก่อนว่า ก่อนตายเจ้ามรดกผู้ตายได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเองไว้หรือไม่หากทรัพย์สินนั้นเจ้ามรดกมิได้มีการทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้แต่พินัยกรรมใช้บังคับไม่ได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นสิทธิแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

    ทายาทโดยธรรมเกิดขึ้นตามผลของกฎหมายจะมีส่วนแบ่งในการรับมรดกตามมาตรา 1629 ถึงมาตรา 1638 

    ตามมาตรา 1629 บัญญัติว่า ทายาทโดยธรรม 6 ลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ 

      1.ผู้สืบสันดาน

      2.บิดามารดา

      3.พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

      4.พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

      5.ปู่ ย่า ตา ยาย 

      6.ลุง ป้า น้า อา  

    มาตรา 1630 บัญญัติว่า ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย 

    แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณีและมีบิดามารดายังมีชีวิตที่อยู่ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

    คำว่าผู้สืบสันดาน ตามมาตรา 1629 วรรค 1 (1) หมายถึงบุตรของเจ้ามรดกเท่านั้น 

    ส่วนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ตาม มาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (3) หรือ ร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ตาม (4) ถือตามความเป็นจริง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2545, 1397/2551)

    ถ้าเจ้ามรดกเป็นมารดาผู้สืบสันดานคือบุตรไม่ว่าบิดามารดาจะได้จดทะเบียนสมรสกันหรือไม่

    ถ้าเจ้ามรดกเป็นบิดาผู้สืบสันดานได้แก่บุตรที่เกิดแต่บิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1536 ถึงมาตรา 1538 บุตรที่เกิดจากบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันแต่บิดารับรองแล้วหรือบุตรบุญธรรมตามมาตรา 1627 บุตรที่เกิดจากบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันแต่ได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรตามมาตรา 1547 ซึ่งบุตรที่เกิดจากบิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันแม้ในภายหลังศาลจะมีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ตามก็เป็นผู้สืบสันดาน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1580/2494)

     ดังนั้นเมื่อมีบุคคลใดตาย และมีทรัพย์สิน จะต้องพิจารณาก่อนว่า ทรัพย์สินนั้นผู้ตายเคยทำพินัยกรรมไว้หรือไม่ ถ้ามีการทำพินัยกรรมไว้สิทธิจะตกแก่ผู้รับพินัยกรรมตามที่ผู้ตายได้แสดงเจตนาไว้ก่อนตาย ถ้าไม่มีพินัยกรรม ทรัพย์สินนั้นจะตกแก่ทายาทโดยธรรม ตามลำดับ จาก 1 ถึง 6 

     สิทธิระหว่างทายาทในลำดับต่างๆ ทายาทในลำดับต้นจะตัดทายาทลำดับถัดไป เช่น ถ้าทายาทลำดับที่ 1 มีชีวิตอยู่ หรือตายแล้วแต่มีการรับมรดกแทนที่ ทายาทโดยธรรมที่อยู่ในลำดับ 2 ถึง 6 จะไม่มีสิทธิรับมรดกเลย 

     ข้อยกเว้นการตัดลำดับทายาท ตามมาตรา 1629 คือ ถ้าผู้ตายมีทายาทในลำดับที่ 1 คือผู้สืบสันดานหรือมีการรับมรดกแทนที่ และมีบิดามารดาที่ยังมีชีวิตอยู่ บิดามารดามีสิทธิรับมรดกด้วยโดยได้ส่วนแบ่งเสมือนเป็นบุตรของผู้ตาย

     การรับมรดกแทนที่ของทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 1 ตามมาตรา 1629 เช่น ทายาทลำดับที่ 1 ตายก่อนเจ้ามรดก แต่มีบุตร บุตรของทายาทลำดับที่ 1 มีสิทธิรับมรดกแทนที่ต่อไปได้ และให้มีการรับมรดกแทนที่เช่นนี้ต่อไปจนหมดสาย พูดง่ายๆ คือ ลูก ของเจ้ามรดกมีสิทธิรับมรดก ส่วน หลาน เหลน ลื่อ ฯลฯ ของเจ้ามรดกมีสิทธิรับมรดกแทนที่ 

     ส่วนกรณีทายาทตาม มาตรา 1629 ลำดับที่ 3 ,4, 6 คือพี่น้องของเจ้ามรดก หรือ ลุง ป้า น้า อา ถ้าตายก่อนเจ้ามรดก ลูกก็รับมรดกแทนที่ได้ ถ้าลูกตายอีก หลานก็รับมรดกแทนที่ ถ้าหลานตายอีก เหลนก็รับมรดกแทนที่ ถ้าเหลนตายอีก ลื่อก็รับมรดกแทนที่ ฯลฯ 

     ส่วนกรณีทายาทตาม มาตรา 1629 ลำดับที่ 2 คือบิดามารดา และ ลำดับที่ 5 คือ ปู่ ย่า ตา ยาย กฎหมายห้ามมิให้ มีการรับมรดกแทนที่กัน แต่ให้แบ่งมรดกให้แก่ทายาทในลำดับเดียวกันที่มีชีวิตอยู่ คือ ถ้า เจ้ามรดกตาย บิดาของเจ้ามรดกก็ตาย สิทธิจะตกแก่มารดาเท่านั้น จะไม่ตกแก่พี่น้องของเจ้ามรดกซึ่งเป็นลูกของบิดา ถ้าปู่ของเจ้ามรดกตาย สิทธิก็จะตกแก่ย่า ตา ยาย เท่านั้น จะไม่ตกแก่ลูกของปู่ คือ บิดา เพราะ ปู่จะมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกก็ต่อเมื่อ บิดามารดาของเจ้ามรดกซึ่งเป็นทายาทในลำดับก่อนตายหมดแล้ว หากให้มีการรับมรดกแทนที่กัน ก็จะทำให้วนไปวนมา งง

     ส่วนคู่สมรสของเจ้ามรดกที่ยังมีชีวิตอยู่ ต้องแบ่งสินสมรส ออกไปก่อน ในทางปฏิบัติ ก่อนจะแบ่งมรดก ต้อง แบ่งสินสมรส ออกไปก่อน ครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลืออีกครึ่งจะเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก ซึ่งทายาทมีสิทธินำส่วนนี้มาแบ่งกันได้ และคู่สมรส ก็ถือว่า เป็นทายาท มีสิทธิรับมรดกในทรัพย์สินซึ่งเป็นส่วนของเจ้ามรดกได้อีกในฐานะทายาท

     จบเพียงแค่นี้ ติดตามได้ในบทความต่อไป

           Add Friend   

                                   

                                  

      

      

     

              

    





   

  

       

    

   






   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น