วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2565

ความผิดต่อเสรีภาพ หน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย

      ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310 ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ    

      ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยว ถูกกักขัง หรือปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย หรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวังโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 290 มาตรา 297 หรือมาตรา 298 นั้น  

      องค์ประกอบมีดังนี้ 

       1.ผู้ใด

       2.หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใด ให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย

       3.โดยเจตนา(องค์ประกอบภายใน)

       ข้อที่จะนำมาพิจารณาก็คือองค์ประกอบข้อสอง คือ การหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยประการใดๆให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย การกระทำตามมาตรานี้ย่อมอาจเป็นการกระทำโดยเคลื่อนไหว หรือเป็นการงดเว้นเคลื่อนไหวร่างกายตามมาตรา 59 วรรคสุดท้าย ก็ได้ปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปก็คือคำว่า "หน่วงเหนี่ยว"หรือคำว่า"กักขัง"หมายความว่าอย่างไร คำว่า“ หน่วงเหนี่ยว"หมายความว่าทำให้บุคคลต้องอยู่ตรง ณ ที่นั้นไม่ให้ไปยังจุดอื่นหรือพูดง่าย ๆ คือตั้งตัวเขาไว้ตรง ณ ที่นั้นยกตัวอย่างเช่น ก. ล่ามโซ่ ๆ ไว้กับเสาย่อมเป็นการหน่วงเหนี่ยวไม่ให้เคลื่อนไหวร่างกายไปยังที่อื่นส่วนคำว่า“ กักขัง” หมายถึงการบังคับให้บุคคลอยู่ในที่จำกัด เช่นการขังไว้ในห้องน้ำอย่างไรก็ตามบางกรณีเป็นได้ทั้งสองอย่างยกตัวอย่าง เช่นการจับขังไว้ในห้องน้ำก็ย่อมไปที่อื่นไม่ได้เป็นหน่วงเหนียวและในขณะเดียวกันก็เป็นการบังคับให้อยู่ในที่ จำกัด ก็เป็นการกักขังอยู่ในตัว ฉุดหญิงลงจากรถยนต์ที่นั่งมาด้วยกันดึงเข้าไปในโรงเรียนหน่วงเหนี่ยวไว้ในโรงเรียนไม่มีเสรีภาพจะไปไหนดังที่ต้องการได้เป็นการหน่วงเหนียวหรือถูกขังให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายฎีกาที่ ๒๕๖๐/๒๕๑๗ หรือหญิงหนีลงไปในบ่อไม่กล้าขึ้นจากน้ำเพราะเกรงจำเลยจะมาทำร้าย (ฎีกาที่ ๑๕๑๔/๒๕๓๒) การจับโดยไม่มีหมายจับ (ฎีกาที่ ๑๐๘๙/๒๕๑๒) หรือจำเลยอุ้มผู้เสียหายขึ้นไปบนรถ (ฎีกาที่ ๙๘๕/๒๕๔๖) การฉุดขึ้นรถยนต์ก็เป็นการหน่วงเหนี่ยว (ฎีกาที่ ๒๓๙/๒๕๔๗) สถานที่กักขังอาจจะเป็นห้องหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งก็ได้เช่นในรถในเรือหรือบนเครื่องบินมีนักกฎหมายบางท่านเห็นถึงขนาดว่าการ จำกัด ไม่ให้ออกไปจากท้องที่เช่นอำเภอหรือจังหวัดก็เป็นกักขังตามมาตรา ๓๑๐ นี้ได้ตามมาตรา ๓๑๐ ในส่วนของการกระทำนอกจากจะมีเรื่องการหน่วงเหนี่ยวหรือการกักขังซึ่งเห็นอยู่ในตัวว่าทำให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายมาตรา ๓๑๐ ยังบัญญัติต่อไปว่าหรือการกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายเพราะฉะนั้นการกระทำตามมาตรา ๓๑๐ นี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็น แต่เฉพาะเรื่องหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังยกตัวอย่างเช่นบอกก. ว่าเดี๋ยวครูกำลังจะมาหาโดยมีเจตนาที่จะรั้งไม่ให้ ก. ไปไหนเพื่อให้หลงเชื่อ ซึ่งเป็นความเท็จเช่นนี้ก็เป็นการหน่วงเหนียว ก ไว้โดยการใช้อุบายหลอกลวงหรือกระทำด้วยประการอื่นใดปัญหาว่าปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามมาตรา ๓๑๐ มีความหมายกว้างแคบแค่ไหนเพราะคำว่าเสรีภาพในร่างกายมีความหมายกว้างมากอาจจะหมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกายทุก ๆ อย่างหรืออาจจะหมายถึงเสรีภาพในการขีดในการเขียนในการคิดท่านศาสตราจารย์จิตติติงศภัทิย์และนักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าคำว่า“ เสรีภาพ "ตามมาตรา ๓๐๐ นี้จะต้องตีความว่าเป็นเสรีภาพในร่างกายในทำนองเดียวกับการหน่วงเหนี่ยวกักขังคือเป็นการ จำกัด การเคลื่อนไหวอวัยวะของร่างกายลงอยู่ในขอบเขต จำกัด เช่นถูกใส่กุญแจมือ (ฎีกาที่ ๑๕.๓๐ / ๒๕๔๒ และฎีกาที่ ๗๔๔/๒๕๐๑) หรือเช่นใส่กลอนขังไว้ในห้องนอน (ฎีกาที่ ๓๖๖๘/๒๕๕๕) ดังได้กล่าวแล้วว่าการกระทำตามมาตรา ๓๑๐ รวมถึงการงดเว้นการซึ่งจะต้องกระทำการเพื่อป้องกันผลตามมาตรา ๕๙ วรรคสุดท้ายด้วยและถ้าพิจารณาตามมาตรา ๓๑๐ จะเห็นได้ว่าวิธีการหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือทำให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นกระทำด้วยประการใด ๆ ก็ได้ไม่ จำกัด ซึ่งต่างไปจากมาตรา ๓๐๙ ที่ส่วนของการกระทำคือทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายอื่น ๆ หรือมิฉะนั้นก็ต้องเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายดังนั้นมาตรา ๓๐๙ เป็นการ จำกัด วิธีในการกระทำ แต่ไม่จํากัดเสรีภาพที่เสียไปว่าจะเป็นเสรีภาพประเภทไหน ส่วนมาตรา ๓๐๐ ไม่จำกัด วิธีในการกระทำ แต่มุ่งหมายจำกัดเสรีภาพที่เสียไปเฉพาะเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกาย คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๒๔๓/๒๕๔๒ จำเลยไม่มีหมายจับจับผู้เสียหายไม่แจ้งข้อหาไม่ส่งมอบผู้เสียหายให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกลับนำไปควบคุมที่ด่านตรวจผิดมาตรา ๑๕๒ และ ๓๑๐ และดูฎีกาที่ ๑๒๐๘/๒๕๐๘ ฎีกาที่ ๑๐๗๗/๒๕๐๕ ฎีกาที่ ๕๗/๒๕๑๗) ในคดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเรื่องรุนแรงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษถ้าผู้กระทำกระทำโดยมีอำนาจตามกฎหมายก็ไม่เป็นความผิดเช่นเจ้าพนักงานตำรวจจับผู้ต้องหาซึ่งกระทำความผิดฎีกาที่ ๔๓๗/๒๕๕๕ ซึ่จับไว้เพราะจำเลยเมาสุราอาละวาดหรือในกรณีเช่นเด็กอายุ 6 ขวบเข้าไปลักมะม่วงในสวนเจ้าของสวนจับเด็กมัดมือคร่อมไว้กับต้นมะม่วงประมาณ 10 นาทีแล้วมารดาของเด็กมารับตัวเด็กไปศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการกระทำของเด็กเป็นความผิด แต่กฎหมายไม่เอาโทษเจ้าของสวนมีอำนาจจับเพื่อระงับเหตุการณ์อันจะพึงมีไม่เป็นความผิด (ฎีกาที่ ๑๔๖/๒๔๗๒) ป. ไล่ทำร้าย ล ไปถึงหน้าบันไดเรือน ล ตี ป เป็นการป้องกันตัวสมควรแก่เหตุและการที่ ล จับ ป มัดเอาไว้เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ไม่มีความผิด (ฎีกาที่ ๗๓๗/๒๔๗๓) ไล่ทําร้าย

     ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าราษฎรมีอำนาจจับผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๗๘ หรืออย่างกรณีเช่นนายประกันมีอำนาจจับบุคคลที่ตนประกันไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๑๗ (ฎีกาที่ ๑๖๒/๒๕๕๖) หรือในกรณีที่ผู้พิพากษาใช้ดุลพินิจในการสั่งถอนประกันทำให้จำเลยต้องถูกคุมขังก็ไม่เป็นความผิด (ฎีกาที่ ๔๖๖/๒๕๑๘ ฎีกาที่ ๕๔/๒๕๓๐ หรือศาลสั่งตามอำนาจให้รอฟังคำสั่งฎีกาที่ ๒๕๘/๒๕๒๔) แต่การจับคนโดยไม่มีมูลหรือไม่มีอำนาจเป็นการแกล้งจับนอกจากจะเป็นความผิดตามมาตรา ๓๐๐ นี้แล้วยังอาจจะเป็นความผิดตามมาตรา ๑๕๗ ได้อีกด้วย (ฎีกาที่ ๒๕๕๔ ๒๕๒๐ เป็นต้น) มีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งว่าการกระทำให้ปราศจากเสรีภาพกฎหมายมุ่งประสงค์ถึงตัวบุคคลดังนั้นถ้าผู้ถูกกระทำยังอาจเคลื่อนไหวไปไหนมาไหนได้เช่นนี้ฎีกาวินิจฉัยว่าไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๓๑๐ คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๐๔/๒๕๑๘ ถนนซอยในที่ดินเอกชนซึ่งแบ่งให้เช่าปลูกบ้านประชาชนชอบที่จะเข้าออกติดต่อกันได้เป็นสาธารณะการเอารถยนต์ขวางกันไม่ให้รถข้างในออกจากซอยได้นั้นไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๓๐๐ แต่การที่ไม่ยอมถอยรถให้รถข้างในออกไปได้เป็นการข่มเหงตามมาตรา ๒๙๗ ล่ามโซ่ใส่กุญแจประตูใหญ่ทำให้โจทก์ออกจากบริเวณบ้านไม่ได้โจทก์ต้องปืนกำแพงรั้วกระโดดลงมาได้รับบาดเจ็บเป็นความผิดตามมาตรา ๓๑๐ วรรคแรก (ฎีกาที่ ๔๒๘/๒๕๒๐) ใส่กุญแจประตูตึกแถวผู้เช่าเข้าห้องไม่ได้ไม่ผิด ๓๑๐ (ฎีกาที่ ๒๑ ๒๕๓๑)  ก

      จากฎีกาข้างต้นจะเห็นได้ว่าบุคคลที่อยู่ในรถสามารถเดินลงจากรถไปยัง ณ ที่อื่น ๆ ได้หรือเดินจากห้องเช่าไปยังที่อื่นได้ตามปกติศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่าไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพทำนองเดียวกันกับการขับรถยนต์ปาดหน้าทำให้ต้องหยุดรถไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๓๐๐ (ฎีกาที่ ๑๗๑๗/๒๕๒๗) 

      องค์ประกอบข้อสุดท้ายคือองค์ประกอบภายในส่วนของจิตใจ ได้แก่ เจตนาตามมาตรา ๕๙ คือมีเจตนาที่จะหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือกระทำด้วยประการอื่นใดทำให้บุคคลปราศจากเสรีภาพในร่างกาย

       คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๐๒๕/๒๕๒๑ จำเลยกับพวกควบคุมตัวผู้เสียหายกับพวกเป็นประกันเพื่อการสะดวกแก่การพาทรัพย์ไปอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานปล้นทรัพย์การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๓๐๙ ๓๑๐ อีกกรรมหนึ่งต่างหาก (การควบคุมเป็นการกระทำต่อเสรีภาพไม่ใช่การกระทำต่อเนื้อตัวจิตใจจึงมิใช่การใช้กำลังประทุษร้ายซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานชิงทรัพย์เว้นแต่การหน่วงเหนี่ยวเป็นการประทุษร้ายอยู่ในตัวด้วย) 

       คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๔๒/๒๕๕๙ บ. กับอ. เคยอยู่กินกันอย่างสามีภริยากันได้ ๓ เดือน อ. จึงออกจากบ้านไปบ. สามีพบ อ. ชวน อ. กลับบ้าน อ. ไม่ยอม บ. จึงฉุด อ. เพื่อให้ไปอยู่กินด้วยกันตามเดิมถึงแม้ อ. จะมิใช่ภริยาโดยถูกต้องตามกฎหมายเพราะมิได้จดทะเบียน บ. ก็ไม่มีความผิด (ดูฎีกาที่ ๔๓๐/๒๕๓๒) ซึ่งเป็นเรื่องที่เชื่อว่าตนมีอำนาจที่จะกระทำได้ (ฎีกาที่ ๑๒๒๑/๒๔๗๙) กรณีเหล่านี้เป็นกรณีที่อ้างว่าสำคัญ

       





























   


วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

กองมรดกตกทอดเมื่อใด และตกทอดแก่ผู้ใดบ้าง

    กฎหมายที่จะนำมาปรับใช้ในเรื่อง มรดก คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6

    ตาม มาตรา 1599 บัญญัติว่า เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น     

    เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท        

    คำว่าตายหมายถึงการตายโดยธรรมชาติและการตายโดยศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1602 วรรคหนึ่ง 

    กองมรดกจะตกทอดแก่ผู้ใดบ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1599 วรรคหนึ่งใช้คำว่าทายาทซึ่งเป็นคำกลางๆแต่ตามมาตรา 1603 ได้แบ่งทายาทออกเป็น 2 ประเภทคือทายาทที่เรียกว่าทายาทโดยธรรมซึ่งหมายถึงทายาทตามมาตรา 1629 ซึ่งเป็นมาตราหลักมาตรา 1607,1615 วรรค 2, 1639 ถึงมาตรา 1645 และอีกประเภท คือ ทายาทโดยพินัยกรรม ซึ่งทรัพย์สินใดถ้าเจ้าของทรัพย์สินทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์ของตนไว้ตั้งแต่ก่อนตายแล้ว ทรัพย์สินนั้นจะไม่ตกทอด ทายาทโดยธรรม

    ทายาทมี 2 ประเภท คือ 1 ทายาทโดยธรรม  2 ผู้รับพินัยกรรม

    ดังนั้นจะต้องพิจารณาก่อนว่า ก่อนตายเจ้ามรดกผู้ตายได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเองไว้หรือไม่หากทรัพย์สินนั้นเจ้ามรดกมิได้มีการทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้แต่พินัยกรรมใช้บังคับไม่ได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นสิทธิแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

    ทายาทโดยธรรมเกิดขึ้นตามผลของกฎหมายจะมีส่วนแบ่งในการรับมรดกตามมาตรา 1629 ถึงมาตรา 1638 

    ตามมาตรา 1629 บัญญัติว่า ทายาทโดยธรรม 6 ลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ 

      1.ผู้สืบสันดาน

      2.บิดามารดา

      3.พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

      4.พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

      5.ปู่ ย่า ตา ยาย 

      6.ลุง ป้า น้า อา  

    มาตรา 1630 บัญญัติว่า ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย 

    แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณีและมีบิดามารดายังมีชีวิตที่อยู่ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

    คำว่าผู้สืบสันดาน ตามมาตรา 1629 วรรค 1 (1) หมายถึงบุตรของเจ้ามรดกเท่านั้น 

    ส่วนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ตาม มาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (3) หรือ ร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ตาม (4) ถือตามความเป็นจริง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2545, 1397/2551)

    ถ้าเจ้ามรดกเป็นมารดาผู้สืบสันดานคือบุตรไม่ว่าบิดามารดาจะได้จดทะเบียนสมรสกันหรือไม่

    ถ้าเจ้ามรดกเป็นบิดาผู้สืบสันดานได้แก่บุตรที่เกิดแต่บิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1536 ถึงมาตรา 1538 บุตรที่เกิดจากบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันแต่บิดารับรองแล้วหรือบุตรบุญธรรมตามมาตรา 1627 บุตรที่เกิดจากบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันแต่ได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรตามมาตรา 1547 ซึ่งบุตรที่เกิดจากบิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันแม้ในภายหลังศาลจะมีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ตามก็เป็นผู้สืบสันดาน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1580/2494)

     ดังนั้นเมื่อมีบุคคลใดตาย และมีทรัพย์สิน จะต้องพิจารณาก่อนว่า ทรัพย์สินนั้นผู้ตายเคยทำพินัยกรรมไว้หรือไม่ ถ้ามีการทำพินัยกรรมไว้สิทธิจะตกแก่ผู้รับพินัยกรรมตามที่ผู้ตายได้แสดงเจตนาไว้ก่อนตาย ถ้าไม่มีพินัยกรรม ทรัพย์สินนั้นจะตกแก่ทายาทโดยธรรม ตามลำดับ จาก 1 ถึง 6 

     สิทธิระหว่างทายาทในลำดับต่างๆ ทายาทในลำดับต้นจะตัดทายาทลำดับถัดไป เช่น ถ้าทายาทลำดับที่ 1 มีชีวิตอยู่ หรือตายแล้วแต่มีการรับมรดกแทนที่ ทายาทโดยธรรมที่อยู่ในลำดับ 2 ถึง 6 จะไม่มีสิทธิรับมรดกเลย 

     ข้อยกเว้นการตัดลำดับทายาท ตามมาตรา 1629 คือ ถ้าผู้ตายมีทายาทในลำดับที่ 1 คือผู้สืบสันดานหรือมีการรับมรดกแทนที่ และมีบิดามารดาที่ยังมีชีวิตอยู่ บิดามารดามีสิทธิรับมรดกด้วยโดยได้ส่วนแบ่งเสมือนเป็นบุตรของผู้ตาย

     การรับมรดกแทนที่ของทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 1 ตามมาตรา 1629 เช่น ทายาทลำดับที่ 1 ตายก่อนเจ้ามรดก แต่มีบุตร บุตรของทายาทลำดับที่ 1 มีสิทธิรับมรดกแทนที่ต่อไปได้ และให้มีการรับมรดกแทนที่เช่นนี้ต่อไปจนหมดสาย พูดง่ายๆ คือ ลูก ของเจ้ามรดกมีสิทธิรับมรดก ส่วน หลาน เหลน ลื่อ ฯลฯ ของเจ้ามรดกมีสิทธิรับมรดกแทนที่ 

     ส่วนกรณีทายาทตาม มาตรา 1629 ลำดับที่ 3 ,4, 6 คือพี่น้องของเจ้ามรดก หรือ ลุง ป้า น้า อา ถ้าตายก่อนเจ้ามรดก ลูกก็รับมรดกแทนที่ได้ ถ้าลูกตายอีก หลานก็รับมรดกแทนที่ ถ้าหลานตายอีก เหลนก็รับมรดกแทนที่ ถ้าเหลนตายอีก ลื่อก็รับมรดกแทนที่ ฯลฯ 

     ส่วนกรณีทายาทตาม มาตรา 1629 ลำดับที่ 2 คือบิดามารดา และ ลำดับที่ 5 คือ ปู่ ย่า ตา ยาย กฎหมายห้ามมิให้ มีการรับมรดกแทนที่กัน แต่ให้แบ่งมรดกให้แก่ทายาทในลำดับเดียวกันที่มีชีวิตอยู่ คือ ถ้า เจ้ามรดกตาย บิดาของเจ้ามรดกก็ตาย สิทธิจะตกแก่มารดาเท่านั้น จะไม่ตกแก่พี่น้องของเจ้ามรดกซึ่งเป็นลูกของบิดา ถ้าปู่ของเจ้ามรดกตาย สิทธิก็จะตกแก่ย่า ตา ยาย เท่านั้น จะไม่ตกแก่ลูกของปู่ คือ บิดา เพราะ ปู่จะมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกก็ต่อเมื่อ บิดามารดาของเจ้ามรดกซึ่งเป็นทายาทในลำดับก่อนตายหมดแล้ว หากให้มีการรับมรดกแทนที่กัน ก็จะทำให้วนไปวนมา งง

     ส่วนคู่สมรสของเจ้ามรดกที่ยังมีชีวิตอยู่ ต้องแบ่งสินสมรส ออกไปก่อน ในทางปฏิบัติ ก่อนจะแบ่งมรดก ต้อง แบ่งสินสมรส ออกไปก่อน ครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลืออีกครึ่งจะเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก ซึ่งทายาทมีสิทธินำส่วนนี้มาแบ่งกันได้ และคู่สมรส ก็ถือว่า เป็นทายาท มีสิทธิรับมรดกในทรัพย์สินซึ่งเป็นส่วนของเจ้ามรดกได้อีกในฐานะทายาท

     จบเพียงแค่นี้ ติดตามได้ในบทความต่อไป

           Add Friend   

                                   

                                  

      

      

     

              

    





   

  

       

    

   






   

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

กองมรดก มีอะไรบ้าง

           ความหมายของคำว่า กองมรดก จะต้องทำความเข้าใจให้ได้เพราะหากเป็น กองมรดก แล้วต้องดำเนินการตามมาตรา 1599 ถึงมาตรา 1755 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

           ความหมายของ กองมรดก อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600 โดยต้องเป็นทรัพย์สินหรือสิทธิของเจ้ามรดกซึ่งเจ้ามรดกมีอยู่แล้วในเวลาที่เจ้ามรดกตาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1016/2513,2604/2516,17/2524)

           คำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยเกี่ยวกับทรัพย์มรดกที่ควรจดจำมีดังนี้

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2401/ 2515 ประชุมใหญ่ วินิจฉัยว่าแม้เงินพิพาทจะไม่ใช่ทรัพย์มรดกแต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 6 ลักษณะมรดกเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับได้ศาลฎีกาจึงมีคำวินิจฉัยว่าเงินพิพาทเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 ถึงมาตรา 1638 ต่อไป 

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 370 / 2506 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 678 - 680/2535 และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8485/2544 วินิจฉัยเป็นแนวเดียวกันว่าดอกผลของทรัพย์มรดกไม่ใช่ทรัพย์มรดกโดยเฉพาะคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 678-680/2535 ได้วินิจฉัยไว้ด้วยว่าเมื่อทายาทปิดบังหรือยักย้ายทรัพย์ซึ่งเป็นดอกผลของทรัพย์มรดกจึงไม่ถูกกำจัดไม่ให้รับมรดก

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4714/2542 วินิจฉัยว่า เงินประกันชีวิตตามมาตรา 897 มิใช่กองมรดก โดยวินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดบ้างเป็นกองมรดก

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1174/2508 คำพิพากษานี้วินิจฉัยว่าการทำพินัยกรรมยกศพ เป็นการต่างๆที่ผู้ตายพึงกระทำได้ โดยมิได้วินิจฉัยโดยตรงว่าศพเป็นทรัพย์สินหรือไม่

           เมื่อทราบความหมายของกองมรดกแล้วต่อไปก็จะต้องรู้ว่ากองมรดกจะตกทอดเมื่อใด โดยผู้เขียนจะนำเสนอต่อไป



              Add Friend   

                                   

                                  

วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เจ้าหนี้แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ยืม มีผลอย่างไร

กรณีเจ้าหนี้มีการแก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ยืม

              บางครั้งฝ่ายเจ้าหนี้ได้แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ยืมก่อนแล้วจึงนำมาฟ้องปัญหาว่าผู้กู้จะต้องรับผิดหรือไม่เพียงใดแยกเป็น 5 กรณี 

              5.1 แก้ไขจำนวนเงินในขณะที่เขียนสัญญากู้  กรณีนี้อาจจะเกิดขึ้นเพราะเขียนผิด เช่น กู้กันเพียง 5,000 บาท แต่เขียนผิดเป็น 6,000 บาทจึงแก้ไขให้เป็น 5,000 บาท ตามที่กู้จริงหรือเขียนสัญญากู้ระบุจำนวน 10,000 บาท ขณะกำลังเขียนสัญญาผู้กู้ขอกู้เพิ่มเป็น 20,000 บาท ผู้ให้กู้ตกลงจึงแก้จำนวนเงินเป็น 20,000 บาทตามที่กู้จริงก่อนที่ ผู้กู้จะลงชื่อในสัญญากู้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าในกรณีที่มีการแก้ไขตัวเลขจำนวนเงินในขณะเขียนสัญญากู้ แม้ผู้กู้จะไม่ได้ลงชื่อกำกับก็ใช้ได้เพราะถือว่าเป็นเจตนากู้ยืมกันครั้งเดียวตามจำนวนที่แก้ไขแล้วลงชื่อไว้ท้ายสัญญาแห่งเดียวก็ใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมโดยสมบูรณ์ (ฎีกาที่ 1154/2511) 

             5.2 แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้เดิม เมื่อมีการกู้ยืมครั้งใหม่หลังจากทำสัญญากู้จนเสร็จสมบูรณ์แล้วต่อมา ผู้กู้ขอกู้เพิ่ม คู่กรณีไม่ทำสัญญาฉบับใหม่ แต่ใช้วิธีเปลี่ยนจำนวนเงินกู้ในสัญญาฉบับเก่าเช่นเดิมกู้ยืมเงิน 10,000 บาท ทำหนังสือสัญญากู้กันไว้ 10,000 บาท เมื่อครบกำหนดเวลาชำระหนี้แล้วผู้กู้ขอกู้เพิ่มอีก 10,000 บาทจึงเอาสัญญากู้ฉบับเดิมมาขีดฆ่าจำนวนเงินเดิมแล้วเขียนใหม่เป็น 20,000 บาท โดยผู้กู้ไม่ได้ลงชื่อกำกับ ต่อมาเจ้าหนี้ฟ้องให้บังคับชำระหนี้เงินกู้ 20,000 บาทตามสัญญากู้ที่มีการแก้ไขดังกล่าวศาลฎีกาวินิจฉัยว่าถือว่าการกู้ครั้งใหม่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือผู้กู้รับผิดเฉพาะ การกู้ครั้งแรกเท่านั้น (ฎีกาที่ 326 /2507)

             5.3 แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ให้สูงขึ้นโดยผู้กู้ไม่ยินยอม   เช่นกู้ยืมเงินเพียง 5,000 บาท ต่อมาผู้กู้ไม่ชำระหนี้ผู้ให้กู้จึงเติม 0 อีก 1 ตัวเป็น 50,000 บาท หรือเติม 1 เป็น 15,000 บาท แล้วนำสัญญานั้นมาฟ้องศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม จำเลยไม่ต้องผิดตามสัญญากู้ปลอม แต่ให้จำเลยผู้กู้รับผิดใช้เงิน 5,000 บาท ตามที่กู้จริง เพราะก่อนฟ้องการกู้เงิน 5,000 บาท มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ (ฎีกาที่ 407/2542, 1149/2552) 

             5.4 สัญญากู้ไม่ได้กรอกจำนวนเงินไว้ มี 2 กรณี

                   5.4.1 ผู้ให้กู้กรอกจำนวนเงินสูงกว่าที่กู้จริง บางครั้งผู้กู้เพียงแต่ลงชื่อเป็นผู้กู้ในแบบพิมพ์สัญญากู้ซึ่งไม่มีการกรอกจำนวนเงิน เมื่อผู้ให้กู้จะฟ้องคดีจึงกรอกข้อความระบุจำนวนเงินที่กู้สูงกว่าที่กู้จริงเช่นกู้ยืมเงิน 5,000 บาท โดยให้ผู้กู้ลงชื่อในช่องผู้กู้ในแบบพิมพ์สัญญากู้ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ ต่อมาผู้กู้ไม่ชำระหนี้ผู้ให้กู้จึงกรอกจำนวนเงินในสัญญากู้เป็น 50,000 บาทหรือ 15,000 บาท ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญากู้ฉบับที่นำมาฟ้องเป็นสัญญาปลอมพิพากษายกฟ้อง โดยผู้กู้ไม่ต้องรับผิดเลย (ฎีกาที่ 2518/2547, 7541/2548, 759/2557) แม้ผู้กู้และผู้ค้ำประกันจะให้การยอมรับว่ากู้จริง 5,000 บาทก็ตาม (ฎีกาที่ 513/2537 และ 1539/2548) จะเห็นได้ว่าผลแตกต่างกับกรณีตามข้อ 5.3 ที่ศาลฎีกาพิพากษาให้ชำระหนี้ตามสัญญาฉบับก่อนมีการแก้ไข เพราะในกรณีตามข้อนี้ไม่เคยมีการกรอกจำนวนเงินที่ถูกต้องในสัญญากู้ฉบับที่ถูกต้องเลย 

                   5.4.2 ผู้ให้กู้กรอกจำนวนเงินตามที่กู้จริงถ้าทำสัญญากู้กันโดยผู้กู้ลงชื่อไว้ในแบบพิมพ์สัญญากู้ที่ยังไม่ได้กรอกข้อความต่อมาเมื่อผู้กู้ไม่ชำระหนี้ผู้ให้กู้จึงกรอกข้อความและจำนวนเงินตามความเป็นจริงที่ตกลงกันดังนี้สัญญากู้ดังกล่าวใช้บังคับได้ (ฎีกาที่ 7428/2543, 5685/2548 และ 1483/2551)

             5.5 กรณีที่กู้ยืมเพียงครั้งเดียวแต่ผู้กู้ลงชื่อไว้ในสัญญากู้ ๒ ฉบับ

                  คำพิพากษาฎีกาที่ 730/2508 จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ 7,000 บาท แต่ทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้ 2 ฉบับ ฉบับแรกระบุจำนวนเงินกู้ 7,000 บาท ฉบับที่สอง 14,000 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยตกลงกันว่าถ้าไม่ชำระหนี้ให้โจทก์นำสัญญากู้ฉบับที่สองมาฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงนำสัญญากู้ฉบับที่สองมาฟ้อง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นได้ว่าประโยชน์ที่ผู้ให้กู้ได้รับมากเกินสมควร เป็นการที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 ผู้กู้คงต้องรับผิดเฉพาะเงิน 7,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ 14,000 บาท มิได้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ 7,000 บาท จึงหาต้องรับผิดด้วยไม่ 

            "ทำสัญญากู้ยืมเงินอย่างไร ไม่เสียเปรียบลูกหนี้"


                            Add Friend   

                                                

                                               


วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2564

ทวงหนี้ไม่เป็นธรรม จูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คโดยรู้อยู่ว่า ลูกหนี้ไม่มีเงิน คุก 1 ปี

                  ทวงหนี้ไม่เป็นธรรม จูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คโดยรู้อยู่ว่า ลูกหนี้ไม่มีเงิน อาจติด คุก 1 ปี

                  เจ้าหนี้ตามทวงหนี้ ลูกหนี้บอกแล้วว่า ยังไม่มีเงิน รอก่อน นะ ไม่ได้หนี ขอผ่อนเวลา ขอผ่อนชำระได้ไหม เจ้าหนี้ ไม่ยอม รู้ว่าลูกหนี้ไม่มีเงิน แต่จูงใจลูกหนี้ให้ออกเช็คให้ เพื่อจะนำเช็คไปขึ้นเงิน ถ้าเช็คเด้ง จะได้เป็นคดีอาญา ลูกหนี้ก็ออกเช็ค แบบนี้ เรียกว่า "เจ้าหนี้ทวงหนี้ไม่เป็นธรรม" ซึ่งถ้าเจ้าหนี้ใช้สิทธิฟ้องตามเช็ค ศาลต้องยกฟ้อง มีตัวอย่างฎีกา คือ 

                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6581-6582/2556 จำเลยออกเช็คให้ผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายรู้ดีว่าขณะที่ออกเช็คนั้น จำเลยไม่อาจชำระเงินตามเช็คได้ แต่จำเลยอยู่ในภาวะที่ต้องออกเช็คเพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้เสียหายในเวลาที่ผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยยังไม่มีเงินที่จะมาชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกับผู้เสียหายมีเจตนาใช้เช็คพิพาทเป็นการชำระหนี้

                 นอกจากศาลยกฟ้องแล้ว เจ้าหนี้ อาจถูกดำเนินคดีอาญา ฐานความผิด ตาม พระราชบัญญัติทวงถามหนี้ พ.ศ.๒๕๕๘ มาตรา ๑๓ และ มาตรา ๓๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ 

                 "ทวงหนี้อย่างไร ไม่ติดคุก ติดต่อ ทนายความ"


                            Add Friend   

                                                

                                               

                                                      

วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

  ยืมใช้สิ้นเปลือง 
"เพื่อนยืมเงินแล้วไม่คืน"

               ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๐ บัญญัติว่า อันว่ายืมใช้สิ้นเปลือง นั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่า จะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกัน ให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

               สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

               ลักษณะสำคัญ

               ๑.เป็นสัญญาไม่ต่างตอบแทน  เมื่อเกิดเป็นสัญญาบริบูรณ์แล้ว ผู้ยืมเท่านั้น มีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินที่ยืม ผู้ให้ยืมไม่มีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญายืม การส่งมอบทรัพย์ที่ยืมให้แก่ผู้ยืมเป็นการกระทำที่ทำให้สัญญายืมบริบูรณ์ไม่ใช่หนี้ตามสัญญา แม้เป็นสัญญาไม่ต่างตอบแทนแต่สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองอาจเป็นสัญญามีค่าตอบแทนได้ เช่น ให้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ย

               ๒. เป็นสัญญาที่โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืม ดังนั้น ผู้ให้ยืมใช้สิ้นเปลืองต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้ยืม  กรณีเกิดความเสียหายหรือสูญหายแก่ทรัพย์สินที่ยืม ผู้ยืมจะต้องเป็นคนรับผลในความเสียหาย ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากสัญญายืมใช้คงรูป

               ๓.วัตถุแห่งหนี้ตามสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองต้องเป็นทรัพย์ชนิดใช้ไปสิ้นไป เช่น ยืมข้าวสาร ยืมปูน ยืมน้ำมัน ยืมเงิน โดยต้องดูที่เจตนาของคู่สัญญา ว่า เจตนาจะยืมไปใช้ให้หมดไป แล้ว เมื่อถึงกำหนดคืน จะให้คืนอันใหม่แทน หรือไม่ 

               ๔.เป็นสัญญาที่บริบูรณ์เมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม  การไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมให้แก่ผู้ยืม นั้น ไม่ได้ทำให้สัญญาเป็นโมฆะ แต่ไม่สามารถใช้บังคับได้ สิทธิหน้าที่ระหว่างคู่สัญญายังไม่เกิด เมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมแล้ว สัญญายืมจึงสมบูรณ์ 

               สัญญาจะให้ยืม  มีได้หรือไม่  มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ๒๙๒๓/๒๕๒๕ จำเลยจะจัดสรรที่ดินและปลูกบ้านขายจึงทำสัญญากับบริษัทโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเข้าควบคุมอนุมัติโครงการและควบคุมการก่อสร้างโดยจำเลยจะต้องจ่ายค่าควบคุมงานปลูกบ้านหลังละ ๗๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ และโจทก์มีหน้าที่ต้องให้จำเลย และผู้ซื้อบ้านพร้อมที่ดินจากจำเลยกู้ร้อยละ ๗๕ ของราคาที่ดินและบ้าน ต่อมามีการผิดสัญญา ่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่ให้กู้ยืมไปแล้วคืน จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์รับเงินค่าจ้างควบคุมงานไปแล้วไม่ยอมให้จำเลย และลูกค้ากู้เงิน โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหาย ่โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ตามกฎหมายไม่มีสัญญาจะให้ยืม โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนกันเป็นพิเศษ ยิ่งกว่าสัญญากู้ยืมธรรมดา เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ยอมให้จำเลยและผู้ซื้อที่ดินกู้เงินโจทก์ตามข้อตกลง โจทก์จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย 

                ศาลฎีกาไม่ได้วินิจฉัย ว่า มีสัญญาจะให้ยืมได้หรือไม่  แต่ ถ้ามีข้อตกลงที่คู่สัญญาตกลงกัน ในขณะเข้าทำสัญญา ในลักษณะต่างตอบแทนกันเป็นพิเศษ ก็สามารถบังคับกันได้ แม้สัญญากู้ยืมไม่สมบูรณ์ ตามแนวฎีกา การฟ้องแย้งของจำเลย เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย ไม่ได้ฟ้องแย้งให้ส่งมอบเงินที่ตกลงกันว่าจะให้จำเลยกู้ยืม จึงยังเป็นปัญหาว่า สัญญาจะให้ยืมสามารถบังคับได้หรือไม่

Add Friend

               

วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

 ยืมใช้คงรูป 

                        ลักษณะของสัญญายืมใช้คงรูป มาตรา ๖๔๐ บัญญัติว่า อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่า จะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว" และมาตรา ๖๔๑ บัญญัติว่า การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม จากข้อความดังกล่าวแสดงลักษณะของสัญญายืมใช้คงรูปว่ามีอยู่ ๔ ประการคือ
                        ๑. เป็นสัญญาที่วัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน มาตรา ๖๔๐ ใช้คำว่า ให้ผู้ยืมใช้สอย "ทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่ง" มาตรา ๑๓๘ ให้บทนิยามคำว่า "ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้" เมื่อมาตรา ๖๔๐ ใช้คำว่า "ทรัพย์สิน" ดังนั้นวัตถุแห่งสิทธิตามสัญญายืมใช้คงรูปอาจจะเป็นของที่มีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่างก็ได้ แต่จะต้องคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อใช้สอยเสร็จแล้ว ทรัพย์สินที่ยืมจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้
                        ๒. เป็นสัญญาที่ไม่มีค่าตอบแทน เนื่องจากมาตรา ๖๔๐ ใช้คำว่า "ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า" สัญญายืมใช้คงรูปจึงเป็นสัญญาที่ไม่มีค่าตอบแทนซึ่งมีผลให้ต้องถือเอาตัวผู้ยืมเป็นสาระสำคัญ เราจะให้ผู้ใดยืมทรัพย์สินของเราไปใช้ เราคงจะต้องพิจารณาแล้วว่า คนที่มาขอยืมเป็นคนที่จะใช้ของของเราด้วยความระมัดระวังและเก็บรักษาทรัพย์นั้นอย่างดี มาตรา ๖๔๘ ก็บัญญัติว่า "อันการยืมใช้คงรูป ย่อมระงับสิ้นไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม" เป็นการถือเอาตัวผู้ยืมเป็นสาระสำคัญ ถ้าผู้ยืมตายสัญญายืมระงับ แต่ผู้ให้ยืมตาย สัญญายืมไม่ระงับ ผลอีกประการหนึ่งของสัญญาไม่มีค่าตอบแทน คือ ผู้ให้ยืมไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องหรือในการรอนสิทธิที่ทำให้ผู้ยืมไม่อาจใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมได้ ซึ่งตรงข้ามกับเรื่องเช่าทรัพย์ ถ้าเราให้ใครยืมรถยนต์ของเราไปใช้ เมื่อเราส่งมอบรถยนต์สัญญายืมก็บริบูรณ์ รถยนต์คันนั้นจะเก่าจะชำรุดบกพร่องอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ผู้ยืมจะต้องพิจารณา เอาเองว่า สมควรจะยืมรถของเราหรือไม่ เราไม่มีหน้าที่ต้องช่อมรถนั้นให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้
                         ๓.เป็นสัญญาที่ไม่โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืม มาตรา ๖๔๐ ตอนท้ายใช้คำว่า และผู้ยืมตกลงจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว หมายความว่า ถ้ายืมทรัพย์สินสิ่งใดไปก็จะต้องนำทรัพย์สินสิ่งนั้นมาคืน จะนำทรัพย์สินอื่นมาคืนแทนไม่ได้ แสดงว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืมมิได้โอนไปยังผู้ยืม ดังนั้น ผู้ให้ยืมไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้ยืม (ฎีกาที่ ๕๒๖/๒๕๒๙ และ ๑๔๐๗/๒๕๓๘) ถ้ามีภัยพิบัติต่อทรัพย์สินที่ยืมทำให้ทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลาย โดยมิใช่ความผิดของผู้ยืมแล้ว ผู้ให้ยืมต้องรับผิดชอบในผลนั้นเองตามมาตรา ๒๑๙ วรรคหนึ่ง
                         ๔.เป็นสัญญาที่บริบูรณ์เมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม มาตรา ๖๔๑ บัญญัติว่า การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่า ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม กฎหมายไม่ได้ใช้คำว่า โมฆะ คำว่า ไม่บริบูรณ์ มีความหมายว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์ที่ให้ยืม สัญญาไม่เป็นโมฆะ แต่ยังใช้ไม่ได้ ยังไม่เกิดสิทธิหน้าที่ตามสัญญา เมื่อใดก็ตามที่มีการส่งมอบทรัพย์ที่ให้ยืมสัญญาก็จะครบถ้วนบริบูรณ์ คู่สัญญาจึงจะมีสิทธิหน้าที่ตามที่ระบุในสัญญาตามกฎหมาย
                        หน้าที่และความรับผิดของผู้ยืมใช้คงรูป
                         ๑.หน้าที่ของผู้ยืมใช้คงรูป เมื่อผู้ยืมได้รับมอบทรัพย์สินที่ยืมแล้ว ผู้ยืมมีสิทธิที่จะใช้สอยทรัพย์สินนั้นโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน และมีหน้าที่ ๕ ประการตามที่บัญญัติไว้ใน ปพพ. มาตรา ๖๔๒, ๖๔๓ , ๖๔๔ , ๖๔๖ และ ๖๔๗ คือ 
                           ๑.๑ หน้าที่เสียค่าใช้จ่ายในการทำสัญญา ส่งมอบและส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๖๔๒ ว่า ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี ค่าส่งมอบและค่าส่งคืน ทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดี ย่อมตกแก่ผู้ยืมเป็นผู้เสีย ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา คือค่าธรรมเนียมที่จะต้องเสียให้แก่รัฐในการทำสัญญายืม ขณะนี้ไม่ปรากฏว่ายืมอะไรที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียม ส่วนค่าส่งมอบ และค่าส่งคืนทรัพย์สินที่ยืมถ้าไม่ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย ส่วนปัญหาว่าจะส่งมอบ และส่งคืน ณ สถานที่ใด ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นต้องเป็นไปตามมาตรา ๓๒๔ คือ ต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ที่ทรัพย์นั้นอยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น
                           ๑.๒ หน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ทรัพย์สินที่ยืม หน้าที่นี้กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๖๔๓ ว่า "ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือ นอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย หรือ บุบสลาย ไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ถึงอย่างไรๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง"
                          คำว่า ใช้การอย่างอื่นนอกจากการเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น คือ ทรัพย์ที่ยืมไปนั้นปกติคนทั่วไปเขาใช้ทำอะไร ผู้ยืมก็ต้องใช้อย่างนั้น เช่น ยืมรถเก๋งไปใช้ ผู้ยืมต้องเอาไปใช้ให้คนนั่ง ไม่ใช่เอาไปใช้บรรทุกของ
                          ส่วนการใช้ นอกจากการอันปราฏในสัญญา เช่น ยืมรถเก๋งที่กรุงเทพ โดยบอกว่าจะไปธุระที่เชียงใหม่ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น จะนำไปใช้ในเส้นทางอื่นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันไม่ได้
                          คำว่า เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หมายความว่า ผู้ยืมจะต้องเป็นคนใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมเอง การใช้สอยนี้ต้องดูสภาพของทรัพย์ที่ยืมประกอบด้วย เช่น ยืมรถไปใช้เราขับเองหรือใช้คนขับรถที่มีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถนั้น โดยเราสามารถควบคุมได้ก็ถือว่าเราเป็นคนใช้ทรัพย์นั้น ยืมถ้วยยืมจานไปใช้ในงานทำบุญเลี้ยงพระ แม้ในงานทำบุญนั้นจะมีคนอื่นมาใช้ถ้วยใช้จานนั้นด้วยก็ยังถือว่า เราเป็นคนใช้ทรัพย์นั้น อย่างนี้เป็นต้น
                          ส่วนคำว่า เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้  เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดหน้าที่ให้ผู้ยืม จะต้องรีบคืนทรัพย์ที่ยืมเมื่อใช้สอยทรัพย์นั้นเสร็จแล้ว หรือเมื่อใช้ครบกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้ เช่น ยืมรถมาใช้ ๓ วัน เมื่อครบ ๓ วัน ก็ต้องคืน จะอ้างว่า ยืมมาแล้วยังไม่ได้ใช้ขอเก็บไว้ต่อจนกว่าจะใช้รถคันนั้นครบ ๓ วัน อย่างนี้เป็นการผิดหน้าที่ตามมาตรา ๖๔๓
                          ในกรณีที่ผู้ยืมผิดหน้าที่ดังกล่าวแล้วปรากฏว่าทรัพย์สินที่ยืมสูญหาย หรือบุบสลาย ผู้ยืมจะต้องรับผิดตามมาตรา ๖๔๓ ถ้าผู้ยืมไม่ผิดหน้าที่ผู้ยืมไม่ต้องรับผิด เช่น ยืม โทรทัศน์มาใช้ ๑ สัปดาห์ เมื่อยืมมาได้เพียง ๒ วัน เพื่อนบ้านประมาททำให้เกิดไฟใหม้ ไฟลามมาไหม้บ้านผู้ยืมทำให้โทรทัศน์ที่ยืมถูกไฟไหม้ กรณีนี้ผู้ยืมไม่ต้องรับผิด แต่ถ้าผู้ยืมใช้โทรทัศน์ไป ๑๐ วัน แล้วยังไม่ยอมคืน เกิดไฟใหม้เช่นกรณีแรก ผู้ยืมจะต้องรับผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๔๓ ตอนท้าย เช่น พิสูจน์ได้ บ้านต้นเพลิง บ้านผู้ยืม และบ้านผู้ให้ยืม เป็นตึกแถวติดกันถูกไฟใหม้หมดทั้ง ๓ คูหา อย่างนี้ ผู้ยืมไม่ต้องรับผิด
                          หน้าที่สงวนทรัพย์สินที่ยืม กรณีเป็นหน้าที่ตามมาตรา ๖๔๔ ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง" เช่น ตามปกติเราชอบเอาโน๊ตบุ้คมาใช้ที่ระเบียง ใช้เสร็จก็วางไว้ตรงนั้นเพราะเป็นคอนโดมิเนียม คนมาลักไปไม่ได้ แต่ตรงนั้นมันไม่กันแดดกันฝนร้อยเปอร์เซ็นต์คนธรรมดาทั่วๆ ไป เขาจะเก็บโน๊ตบุ้คไว้ในที่ไม่ร้อนจัด แห้งและไม่ถูกละอองน้ำ เรายืม โน๊ตบุ๊คคนอื่นมาใช้ เราก็ต้องนำมาเก็บไว้ในห้อง จะวางไว้ที่ระเบียงเหมือนของเราเองไม่ได้ ปัญหาว่าขนาดไหนเป็นการสงวนทรัพย์สินอย่างวิญญูชนนั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่ชัด ต้องดูพฤติการณ์เป็นกรณีไปว่า  กรณีเช่นนั้นคนธรรมดาทั่วๆ ไป ในภาวะเช่นนั้นเขาปฏิบัติอย่างไร
                       ๑.๔ หน้าที่คืนทรัพย์สินที่ยืม หน้าที่นี้ กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๖๔๐ ตอนท้ายว่า ผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว และมาตรา ๖๔๖ บัญญัติว่า ถ้ามิได้กำหนดเวลาไว้ ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืม เมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว ตามการอันปรากฏในสัญญา แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้ เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว
                       ถ้าเวลาก็มิได้กำหนดกันไว้ ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร์ ท่านว่าผู้ยืมจะเรียกของคืนเมื่อไหร่ก็ได้
                       มาตรา ๖๔๖ บัญญัติหน้าที่ผู้ยืมไว้  ถ้าการยืมมีกำหนดเวลา เมื่อถึงเวลาก็ต้องคืน แต่ถ้ายืมไม่มีกำหนดเวลา ก็ต้องดูว่า ยืมทรัพย์สินไปใช้สอยเพื่อการอันใด เมื่อทำการอันนั้นเสร็จแล้ว ก็ต้องคืนทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าในสัญญาไม่มีหนดเวลาส่งคืน และ  ก็ไม่ได้ระบุว่า ยืมไปใช้ในการอันใด มาตรา ๖๔๖ วรรคสอง บัญญัติว่า ผู้ให้ยืมจะเรียกของคืนเมื่อไรก็ได้ คือ เรียกคืนได้ทันที ส่วนจะคืนที่ไหนต้องเป็นไปตามมาตรา ๓๒๔ คือ ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้ ก็ต้องคืน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ในเวลาก่อหนี้ ค่าใช้จ่ายในการคืน เป็นไปตามมาตรา ๖๔๒ คือผู้ยืมเป็นผู้เสีย ไม่นำมาตรา ๓๒๕ ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปมาใช้บังคับ 
                      ๑.๕ หน้าที่เสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืม มาตรา ๖๔๗ วางหลักว่า ค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้นผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย  เช่น ยืมรถไปใช้ผู้ยืมต้องบำรุงรักษารถนั้นให้อยู่ในสภาพดี ต้องตรวจและเติมน้ำ น้ำกลั่น น้ำมันเครื่อง และลมยาง ค่าใช้จ่ายแบบนี้ ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาเป็นอย่างอื่นแล้ว ผู้ยืมจะต้องเป็นผู้เสีย และจะเรียกคืนจากผู้ให้ยืมไม่ได้ 
                      ส่วนการซ่อมแซม ใหญ่ ก็เช่นกัน  ต้องตกลงกันไว้ในสัญญาว่า ใครจะเป็นคนออกค่าใช้จ่าย  ถ้าไม่ต้องตกลงกันไว้ แต่ผู้ยืม ไปทำการซ่อมแซมใหญ่โดยพลการ ก็จะเรียกค่าซ่อมจากผู้ให้ยืมไม่ได้
                     ๒.ความรับผิดของผู้ยืมใช้คงรูป  ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ยืมสูญหาย หรือบุบสลาย ปัญหาว่า ผู้ยืมจะต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืม และ  กรณีที่บุคคลภายนอก ทำละเมิดเป็นเหตุ ให้ทรัพย์สินที่ยืมเสียหาย ผู้ยืมจะฟ้องผู้ทำละเมิด ได้หรือไม่
                        ๒.๑  ผู้ยืมต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมเมื่อผิดหน้าที่  ตามที่บัญญัติไว้ใน ปพพ. มาตรา ๖๔๓ วางหลักว่า ผู้ยืมจะต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินสูญหาย หรือบุบสลาย เมื่อ ผู้ยืม ทำผิดหน้าที่  คือ ผู้ยืมเอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้ในการอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น   หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา หรือ เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้ หรือเอาทรัพย์สินที่ยืมไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ ซึ่งแม้จะการสูญหาย หรือ บุบสลาย จะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย ก็ต้องรับผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ถึงจะอย่างไร แม้ผู้ยืมจะไม่ได้ทำผิดหน้าที่ ทรัพย์สินนั้น ก็ต้องสูญหาย หรือ บุบสลาย อยู่นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ ในมาตรา ๖๔๔ คือ หน้าที่ต้องสงวนทรัพย์สินที่ยืมเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง ดังนั้นเมื่อเกิดความเสียหาย ก็ต้องปรากฏว่า ผู้ยืมทำผิดหน้าที่ ตามสัญญา และตามกฎหมาย ดังกล่าว จึงจะต้องรับผิด ถ้าไม่ได้ทำผิดหน้าที่ แม้เกิดความเสียหาย ผู้ยืมไม่ต้องรับผิด (ฎีกาที่ ๕๓๔/๒๕๐๖ และ ๗๔๑๖/๒๕๔๘)
                        ๒.๒ ผู้ยืมฟ้องผู้ทำละเมิดทำให้ทรัพย์สินที่ยืมเสียหายได้หรือไม่ ผู้ยืมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องผู้ทำละเมิด ทำให้ทรัพย์สินซึ่งยืม สูญหาย หรือบุบสลาย ได้ เฉพาะ ในกรณีที่ผู้ยืม มีความรับผิดต่อผู้ให้ยืมเท่านั้น ถ้าผู้ยืมไม่ผิดหน้าที่ ก็ไม่มีความรับผิด ต่อผู้ให้ยืม เมื่อมีบุคคลภายนอกมาทำละเมิดแก่ทรัพย์สินที่ยืมไป แม้ผู้ยืมจะเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมทรัพย์ที่ยืมให้กลับสู่สภาพเดิม ผู้ยืมก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ทำละเมิดใช้ค่าเสียหาย  เป็นเรื่องที่ผู้ให้ยืม จะไปว่ากล่าวโดยใช้สิทธิของตนเอง 
                         คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๖๘๓/๒๕๓๗ โจทก์ยืมรถยนต์ผู้อื่นมาใช้แล้วถูกจำเลยทำละเมิดขับรถยนต์มาชนท้ายรถคันที่โจทก์ยืมเสียหาย แม้ มาตรา ๖๔๗ จะบัญญัติว่าค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติ และการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืมนั้น ผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย ก็มีความหมายเพียงว่า ผู้ยืมต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืมอันเป็นปกติของการใช้ทรัพย์สินที่ยืมเท่านั้น มิใช่กรณีอันเกิดจากการถูกกระทำละเมิด ซึ่งเป็นเหตุอันผิดปกติที่มีมาตรา ๔๒๐ และ ๔๓๘ วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ทำละเมิดต้องรับผิดไว้แล้ว โจทก์ จึงไม่มีหน้าที่ต้องซ่อมรถยนต์คันที่จำเลยทำให้เสียหาย โจทก์มิใช่ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิด จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
                         คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๗๖๖/๒๕๕๑ มาตรา ๖๔๓ บัญญัติให้ผู้ยืมใช้คงรูปต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมเฉพาะกรณี ผู้ยืมเอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้ในการอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติของทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา หรือเอาไปใ้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือ เอาไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ แต่โจทก์ยืนยันในคำฟ้องว่าเหตุละเมิด ที่เกิดขึ้น เป็นความผิดของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ดังนี้ โจทก์ ในฐานะผู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของทรัพย์ แม้โจทก์จะได้ซ่อมรถยนต์คันที่โจทก์ยืมมาเรียบร้อยแล้ว โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิของเจ้าของทรัพย์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รับผิดได้ เพราะการรับช่วงสิทธิ จะมีได้ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้อันจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ คือ เจ้าของรถ เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง (วินิจฉัยตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๔๕๑/๒๕๒๔)
                        
                         ความระงับของสัญญายืมใช้คงรูป
                         1.สัญญาระงับเพราะผู้ยืมตาย มาตรา ๖๔๘ วางหลักว่า  อันการยืมใช้คงรูป ย่อมระงับสิ้นไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม  ดังนั้น เฉพาะผู้ยืมตายเท่านั้น ที่เป็นเหตุให้สัญญาระงับ ถ้าผู้ให้ยืมตายสัญญายืมใช้คงรูปไม่ระงับ
                         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 338/2479  จำเลยยืมเรือของนาย ก. ไปใช้โดยมีข้อตกลง ว่ายืมกันตลอดอายุของจำเลย เมื่อผู้ให้ยืมตาย ผู้รับมรดกยังไม่มีสิทธิฟ้องเรียกทรัพย์ที่ให้ยืมคืน เพราะมาตรา ๖๔๘ แสดงให้เห็นว่า กฎหมายมิได้ประสงค์ให้ถือเอาความมรณะของผู้ให้ยืมเป็นเหตุให้สัญญาระงับ
                         2.สัญญาระงับเพราะเหตุอื่น ตามหลักทั่วไปของสัญญา ยืม คือ ๑.เมื่อส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม  ๒.เมื่อทรัพย์ที่ยืมสูญหายหรือบุบสลายจนหมดสิ้นไป   ๓. เมื่อมีการบอกเลิกสัญญา ตามมาตรา ๖๔๕ ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้ยืมปฏิบัติผิดหน้าที่ตามมาตรา ๖๔๓ หรือมาตรา ๖๔๔ เช่นใช้สอยทรัพย์สินไม่ถูกต้องตามสัญญา หรือ ไม่สงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืม ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ส่วนการเลิกสัญญาจะต้องทำอย่างไร และจะมีผลเป็นอย่างไร  ต้องเป็นไปตาม ปพพ. บรรพ ๑ และ บรรพ ๒
                         อายุความ
                           ๑.อายุความเรียกค่าทดแทน มาตรา ๖๔๙ บัญญัติว่า ในข้อความรับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนอันเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูปนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลา หกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา  อายุความในมาตรานี้ ใช้เฉพาะกรณีผู้ยืม  ปฏิบัติผิดหน้าที่ ผิดสัญญา ตามมาตรา ๖๔๓ มาตรา ๖๔๔ และมาตรา ๖๔๗ จนทำให้เกิดความเสียหาย  ถ้าการผิดหน้าที่ดังกล่าวเลยไปถึงขั้นละเมิด ก็ต้องนำอายุความเรื่องละเมิดมาใช้บังคับเมื่อมีการฟ้องให้รับผิดฐานละเมิด
                           ๒.อายุความเรียกทรัพย์สินที่ยืม  การฟ้องเรียกคืนทรัพย์สินที่ยืม หรือ ให้ใช้ราคาทรัพย์สินที่ยืม ผู้ให้ยืมมีสิทธิฟ้องภายใน อายุความ ๑๐ ปี ตาม ปพพ. มาตรา ๑๙๓/๓๐
                           คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๘๙/๒๕๒๖ อายุความตามมาตรา ๖๔๙ เป็นกรณีฟ้องให้รับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนอันเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูป เช่น ค่าเสียหายเกี่ยวกับการชำรุดหรือเสื่อมราคาเนื่องจากการใช้สอยทรัพย์สินที่ยืม ในกรณีฟ้องเรียกคืน หรือ ใช้ราคาทรัพย์สินที่ยืมไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ จึงต้องปรับด้วยมาตรา ๑๖๔(ปัจจุบัน เป็นมาตรา ๑๙๓/๓๐)  คืออายุความ ๑๐ ปี
                           คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๖/๒๕๓๖ ตามคำฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องเรียกคืนลังไม้หรือราคาลังไม้ซึ่งจำเลยที่ ๑ ยืมไปพร้อมผลิตภัณฑ์ขวดแล้ว ซึ่งโจทก์ขายให้จำเลยที่ ๑ ตามสัญญาซื้อขาย และจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติกับโจทก์ตลอดมาตั้งแต่มีการซื้อขายกัน จึงนำมาตรา ๖๔๙ มาบังคับไม่ได้ ต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๖๔(ปัจจุบันเป็น มาตรา ๑๙๓/๓๐)
                           นอกจากเจ้าของทรัพย์สินที่ยืม จะใช้สิทธิ ในอายุความทั่วไปในฐานะเป็นคู่สัญญา แล้ว เมื่อสัญญาระงับ เจ้าของทรัพย์สินยังสามารถใช้สิทธิ ตาม ปพพ.มาตา ๑๓๓๖ ในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ติดตามเอาทรัพย์คืน จากผู้ยืมที่ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ โดยไม่มีกำหนดอายุความ เว้นแต่ ผู้ยืมที่ยึดถือทรัพย์สินไว้ จะได้สิทธิโดยการครอบครองปรปักษ์ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เจ้าของทรัพย์สิน ไม่สามารถเรียกทรัพย์สินคืนจากผู้ยืมได้ ดังนั้นเมื่อสัญญาระงับแล้ว ไม่ว่าด้วยเหตุใด เจ้าของทรัพย์ที่ให้ยืม ต้องเร่งขวนขวายรักษาสิทธิของตนเอง เพราะ  ถ้าเป็นการยืมทรัพย์สิน ที่เป็นสังหาริมทรัพย์ เช่น รถ สิ่งของ อุปกรณ์ ต่างๆ ผู้ยืมจะเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ยืม หากมีเหตุให้สัญญาระงับ แล้ว ผู้ยืมไม่ส่งคืน ผู้ให้ยืมทักท้วงแล้ว ก็ไม่คืน เท่ากับ ผู้ยืมได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ เป็นยึดถือเพื่อตน เมื่อครอบครอง โดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของ ครบ ๕ ปี จะได้กรรมสิทธิโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ปพพ.๑๓๘๒ ทางแก้ของผู้ให้ยืม คือ แจ้งความร้องทุกข์ เป็นคดีอาญา ในข้อหา ยักยอกทรัพย์ ได้ ในทางแพ่ง ก็ฟ้องเรียกคืนทรัพย์สิน โดยต้องดำเนินการภายในกำหนดอายุความตามกฎหมาย                        

                                                          
                                                        ปรึกษาทนายความ แอดไลน์