1.อ่านรายละเอียดในหมายให้ละเอียดเริ่มจากมุมบนขวา ไปจนถึงมุมล่างซ้ายทุกคำมีความหมาย เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดูว่าหมายเป็นหมายอะไร ระหว่างใคร กับใคร ออกหมายถึงใคร ให้ทำอะไร เป็นต้น
2.หมายศาลมีหลายอย่าง เช่น หมายเรียก หมายนัด หมายเรียกพยานบุคคล คำสั่งเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ หมายคำบังคับ ฯลฯ การปฏิบัติจะแตกต่างกัน หากไม่เข้าใจความหมาย ควรปรึกษาทนายความผู้มีวิชาชีพ ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ตัวอย่างเช่น หมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ต้องยื่นคำให้การภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหรือถือว่าได้รับหมายเรียก เป็นต้น
3.ไม่ควรคิดว่า ได้รับหมายศาลแล้วไม่เป็นไร คงไม่มีใครทำอะไร เพราะหมายศาลเป็นกระบวนพิจารณาคดีเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในคดี หากได้รับหมายแล้วดำเนินการไม่ถูกต้องจะทำให้แพ้คดีได้เลย บางครั้งกฎหมายเพียงข้อเดียวแต่เป็นเส้นผมบังภูเขาที่ทำให้คนที่ประมาทพลาดพลั้ง ต้องแพ้คดีไปโดยไม่รู้ตัว
รูปที่ 1 ตัวอย่างหมายเรียก ที่มาพร้อมกับสำเนาคำฟ้อง
1.คือ ชนิดของหมาย เช่น หมายเรียกแพ่งสามัญ หมายเรียกคดีผบ. เป็นต้น
2.คือ คู่ความที่เกี่ยวข้องในคดี โจทก์ จำเลย
3.คือ ตัวบุคคลที่ศาลหมายถึง
4.คือ คำสั่งศาล เกี่ยวกับการดำเนินการต่อไป
5.คือ รายละเอียดการรับหมาย ใครเป็นคนรับ ใครเป็นคนส่ง
ในคดีแพ่งสามัญ สังเกตุตรงตำแหน่งที่ 1 ตามกฎหมายเมื่อบุคคลใดกล่าวหาว่า ถูกบุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง โต้แย้งสิทธิในทางแพ่ง เช่น ทำผิดสัญญา ทำละเมิด ก็จะไปยื่นฟ้องที่ศาล เมื่อศาลรับคำฟ้องฝ่ายที่ยื่นฟ้องเรียกว่า โจทก์ ส่วนฝ่ายที่ถูกฟ้องจะเรียกว่าจำเลย กระบวนการต่อไปคือ เจ้าหน้าที่่ศาลจะส่งหมายเรียก และสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลย เพื่อให้จำเลยทราบการถูกฟ้อง การส่งหมายโดยทั่วไปมี 2 รูปแบบ คือ ส่งได้โดยจำเลยรับหมายด้วยตนเอง กับ ส่งโดยวิธีอื่น เช่น ปิดหมาย การรับหมายทั้งสองรูปแบบมีผลทางกฎหมายแตกต่างกัน บุคคลที่ถูกหมายถึงในหมาย ไม่ควรประมาท คิดว่าคงไม่เป็นไร ไม่รับหมายไม่มีใครทำอะไรได้ ไม่รู้หรือคิดไปเองว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เพราะเมื่อ เจ้าหน้าที่ส่งหมายไปตรวจสอบพบบ้านเลขที่ตรงตามที่ระบุในทะเบียนราษฎร หากไม่มีผู้ใดรับหมาย ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด เจ้าหน้าที่จะทำการปิดหมายไว้ที่บ้านเลขที่นั้น ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การปิดหมายจะถือว่ามีผลเมื่อระยะเวลาครบสิบห้าวันนับแต่วันปิด เมื่อครบสิบห้าวันกฎหมายได้ปิดปากไว้แล้วถือว่า บุคคลที่ถูกหมายถึงในหมายทราบว่าถูกฟ้องแล้ว ซึ่งจะต้องยื่นคำให้การภายในสิบห้าวัน
ในคดีผู้บริโภค ในหมายจะเขียนไว้ในตำแหน่งที่ 1 ว่า ผบ.ซึ่งการปฏิบัติจะแตกต่างจากคดีแพ่งสามัญ โดยเมื่อได้รับหมายแล้ว จะมีเวลายื่นคำให้การได้ภายในวันที่ระบุไว้ในหมาย โดยไม่จำต้องยื่นภายในกำหนดสิบห้าวันเหมือนคดีแพ่งสามัญ
จะเห็นได้ว่ารายละเอียดต่างๆ ในหมายศาล ได้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายอย่างเป็นระบบแล้ว จำต้องศึกษากฎหมายอย่างละเอียด และเข้าใจ และมีประสบการณ์ จึงจะดำเนินการตามกฎหมายได้ถูกต้อง การถูกฟ้องคดี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีทนายความผู้มีวิชาชีพ ให้คำปรึกษา และหาทางออก เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ถูกต้อง ต่อเนื่อง เป็นธรรม ไม่ปล่อยไก่หลุดออกไป
***ติดต่อสำนักงานทั่วราชอาณาจักรโทร 0929501440 หรือที่ไลน์ไอดี pnek***