วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ภารจำยอม ทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการทางออก

ภารจำยอม 
     การอยู่ร่วมกันในสังคม ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ถ้อยทีถ้อยอาศัย น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า สังคมจึงจะอยู่อย่างปกติสุข บ้านใกล้กัน ที่ดินติดกัน หากปรับความเข้าใจ โอนอ่อนผ่อนปรนซึ่งกันและกัน ก็จะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าไม่ยอมกัน จะเอาแบบนี้แบบนั้น ปัญหาเกิดทันที ตื่นเช้าขึ้นมาหันหน้าไปทางข้างบ้านแทนที่จะยิ้มได้ ก็กลายเป็นเครียดแทน หลักกฎหมายเรื่องภารจำยอม น่าจะเป็นทางออกสำหรับใครหลายคน ที่กำลังประสบปัญหา
           ภารจำยอม คือ ทรัพยสิทธิชนิดหนึ่งที่ตัดทอนอำนาจกรรมสิทธิ์โดยทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์อันหนึ่งเรียกว่า ภารยทรัพย์ ต้องรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบกระเทือนทรัพย์สินของตน หรือทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์ของอสังหาริมทรัพย์อื่นที่เรียกว่า สามยทรัพย์ เช่น การที่เจ้าของที่ดินแปลง ก. มีสิทธิเดินผ่านที่ดินแปลง ข. หรือมีสิทธิวางท่อน้ำผ่านที่ดินแปลง ข. หรือมีสิทธิเข้าไปตักน้ำในที่ดินแปลง ข. หรือมีสิทธิใช้ลานดินในที่ดินแปลง ข. กองข้าวเปลือก หรือมีสิทธิปลูกโรงเรียนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินแปลง ข. เป็นต้น ดังนี้ถือว่าเจ้าของที่ดินแปลง ก.มีภารจำยอมเหนือที่ดินแปลง ข. ที่ดินแปลง ก. เรียกว่า สามยทรัพย์ ที่ดินแปลง ข.เรียกว่า ภารยทรัพย์
           ภารจำยอม   มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๗ ดังนี้
           "อสังหาริมทรัพย์อาจต้องอยู่ในภารจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่าง ซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือ ต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น
             มาตรา ๑๓๘๗ นี้ ภารจำยอมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้
             ๑.มีอสังริมทรัพย์สองอสังหาริมทรัพย์ด้วยกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๐๑๓/๒๕๔๐ ภารจำยอมเหนือที่ดินแปลงหนึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินแปลงอื่นเท่านั้น) และอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นที่ดินเสมอไป อสังหาริมทรัพย์อื่นเช่น บ้านเรือนก็อาจก่อให้เกิดภารจำยอม หรืออยู่ใต้ภารจำยอมได้ และอสังหาริมทรัพย์ทั้งสองนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ติดต่อกันด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๙๘/๒๕๑๐) แม้มีคลองสาธารณะคั่นอยู่ก็อาจเป็นทางภารจำยอมได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๐๔/๒๕๓๖)
             แต่คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๙/๒๕๓๙ วินิจฉัยว่า การใช้ทางในที่ดินของบุคคลหนึ่งจะตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความก็ต้องเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของบุคคลอื่นเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ตัวบ้านซึ่งเจ้าของบ้านอาศัยสิทธิปลูกอยู่บนที่ดินของบุคคลดังกล่าว เจ้าของบ้านจึงไม่อาจอ้างการได้สิทธิทางภารจำยอมโดยอายุความได้
             ๒.อสังหาริมทรัพย์ทั้งสองอสังหาริมทรัพย์จะต้องเป็นของเจ้าของต่างคนกัน ถ้าเป็นของเจ้าของเดียวกันไม่มีทางจะเกิดภารจำยอมได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๙๔/๒๕๐๘) เดิมที่ดินเป็นแปลงเดียวกันผู้อยู่ในที่ดินนั้นใช้สิทธิในฐานะเป็นบริวารและโดยอาศัยอำนาจของเจ้าของเดิมซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินรายเดียวกัน จะเกิดภาระจำยอมมิได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๖๖/๒๕๓๑) การเป็นเจ้าของต่างคนกันนั้นถือตามความเป็นจริง แม้จะยังมิได้แยกโฉนดออกจากกันก็ตาม (คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๙๐/๒๕๒๐ โจทก์ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินส่วนหนึ่งแต่ยังมิได้แบ่งแยกโฉนดที่ดิน นอกนั้นเป็นของจำเลยล้อมรอบที่ดินของโจทก์อยู่ แม้ที่ดินของโจทก์และจำเลยอยู่ในโฉนดเดียวกัน แต่เมื่อแยกกันครอบครองเป็นเจ้าของคนละแปลงเป็นส่วนสัด ทางพิพาทซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลย ย่อมตกเป็นภารจำยอม แก่ที่ดินส่วนของโจทก์โดยอายุความได้) คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๕๔/๒๕๓๔ ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสามยทรัพย์มาโดยทางมรดก แม้จะยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อในโฉนดเป็นของตน ก็ถือว่า อยู่ในฐานะเป็นเข้าของสามยทรัพย์ มีอำนาจฟ้องให้เปิดทางภารจำยอมได้
             ที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ก็เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์อีกแปลงหนึ่งได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๘๔๗/๒๕๓๙)
             ๓.อสังริมทรัพย์อันหนึ่งเรียกว่าภารยทรัพย์ต้องรับกรรมอบางอย่างหรือถูกตัดทอนสิทธิบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่อสังริมทรัพย์อื่นเรียกว่า สามยทรัพย์ เช่น เจ้าของภารยทรัพย์ต้องยอมให้เจ้าของสามยทรัพย์เดินผ่านที่ดินของตน หรือยอมให้วางท่อประปาผ่าน ยอมให้ปลูกโรงเรือน หรือกันสาด (คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๔/๒๕๔๑) รุกล้ำหรือต้องงดเว้นไม่ปลูกเรือนให้บังทางลมหรือบังแสงสว่างแก่โรงเรียนของผู้อื่น หรือยอมให้เจ้าของโรงเรือนติดต่อใช้เสาของโรงเรือนตนเป็นที่วางคานโรงเรือนของเขาได้
             ความสำคัญอยู่ที่ว่า กรรมบางอย่างหรือสิทธิที่ถูกตัดทอนนั้น ทำให้สามยทรัพย์ได้รับประโยชน์ หรือได้รับความสะดวกขึ้นหรือไม่ ถ้าเป็นเพียงประโยชน์หรือความสะดวกแก่ตัวบุคคลโดยไม่เกี่ยวกับอสังหาทรัพย์แล้ว ย่อมจะเกิดภารจำยอมไม่ได้ คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๐๐/๒๕๑๒ วินิจฉัยว่า คูพิพาทระหว่างที่ดินโจทก์จำเลยใช้เป็นทางเรือผ่านเข้าออกมา ๒๐ กว่าปี ต่อมาโจทก์จำเลยทำหนังสือรับรองว่า คูพิพาทเป็นทางเรือ และทางน้ำที่โจทก์จำเลยใช้ร่วมกัน จำเลยจะไม่ก่อสร้างอะไรลงในคูพิพาท ดังนี้คูพิพาทเป็นภารจำยอม จำเลยมีหน้าที่ทั้งตามกฎหมาย และหนังสือรับรองที่จะต้องงดเว้นไม่ทำการใดลงในคูให้เสือมประโยชน์แก่โจทก์
             เนื่องจากภารจำยอมเป็นเรื่องเพื่อโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์ มิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของผู้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะ ฉะนั้น แม้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์จะมิได้ใช้สอยภารยทรัพย์เอง แต่เมื่อคนใดบนอสังหาริมทรัพย์ได้ใช้สอยภารยทรัพย์นั้นก็เกิดภารจำยอมได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๓๕/๒๔๘๕) หรือเมื่อผู้ใช้ทางพิพาทได้ฟ้องคดีขอให้เปิดทางขอให้เปิดทางพิพาทอันตกอยู่ในภาระจำยอมแล้ว แม้ต่อมาผู้นั้นจะได้โอนขายที่ดินสามยทรัพย์ให้ผู้อื่นหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ก็ไม่ทำให้อำนาจฟ้องระงับไป (คำพิพากษาฏีกาที่ ๑๐๕๒/๒๕๓๔)
             เมื่ออสังหาริมทรัพย์ใดตกอยู่ภายใต้ภารจำยอมแล้ว ไม่แต่เพียงเจ้าของสามยทรัพย์เท่านั้นที่ใช้สอยภารยทรัพย์ได้ บุคคลที่อยู่บนสามยทรัพย์ตลอดจนแขกของเจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิใช้สอยภารยทรัพย์ได้เช่นเดียวกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๗๓/๒๕๘๒) นอกจากนี้ผู้อาศัยสิทธิของผู้ซื้อในสามยทรัพย์ เช่น ผู้เช่าซื้อและผู้ทำสัญญาจะซื้อสามยทรัพย์ ก็มีสิทธิในภารยทรัพย์ด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๘๔-๙๘๕/๒๕๓๙) แต่เจ้าของสามยทรัพย์จะเปิดที่ดินของตนให้เจ้าของที่ดินแปลงอื่นเข้ามาใช้ทางภารจำยอมด้วยไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๓๒๐/๒๕๓๙)
             อสังหาริมทรัพย์อาจตกอยู่ภายใต้ภารจำยอมก็เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นเท่านั้น ฉะนั้นจะอ้างว่าใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์แก่การค้าน้ำแข็งหาได้ไม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑-๑๓/๑๕๐๓ ใช้ทางพิพาทสำหรับวางสินค้าจำหน่าย ก็ไม่ใช่เกี่ยวกับประโยชน์ของอสังหาริมทรัพย์ไม่เกิดสิทธิภารจำยอม (คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๗๒๗/๒๕๔๔) แต่ถ้าอสังหาริมทรัพย์ได้ใช้เพื่อประโยชน์เกี่ยวแก่การค้าด้วย ภารจำยอมก็ย่อมมีได้ เช่น เจ้าของโรงสีข้าวในที่ดินแปลงหนึ่งใช้ที่ดินของจำเลยผ่านเข้าออกไปสู่ทางสาธารณะ แม้จะใช้ทางนั้นเพื่อประโยชน์ในการบรรทุกข้าวไปขายด้วยก็ยังคงได้สิทธิภารจำยอม (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๐๔/๒๕๑๑)
             เนื่องจากภารจำยอมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์ ฉะนั้นผู้ที่จะฟ้องบังคับภารจำยอมต้องเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ที่ดินที่โจทก์ครอบครองเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินไม่มีอำนาจฟ้องบังคับภารจำยอม (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๖๓/๒๕๓๗) ผู้เช่าหรือผู้อาศัยในอสังหาริมทรัพย์ไม่อาจมีสิทธิในภารจำยอมจึงไม่มีอำนาจฟ้อง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๓๘/๒๕๐๓, ๑๔๖๖/๒๕๐๕ และ ๒๖๙/๒๕๓๙) การเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ถือตามความเป็นจริง แม้จะยังมิได้รับโอนทางทะเบียนก็ตาม คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๕๔/๒๕๓๔ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ตามความเป็นจริง ก็ฟ้องขอให้เปิดทางภารจำยอมได้ (เพียงแต่เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกสามยทรัพย์ และยังมิได้มีการรับโอนสามยทรัพย์ทางทะเบียน) ในทำนองเดียวกัน ทรัพย์ที่ตกอยู่ภายใต้ภารจำยอม ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ฉะนั้นเฉพาะแต่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์เท่านั้นจะถูกฟ้องได้ ผู้เช่า อสังหาริมทรัพย์ไม่อาจจะถูกฟ้องบังคับภารจำยอมได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑-๑๓/๒๕๐๓) 
             การได้มาซึ่งภารจำยอม
                 ภารจำยอมอาจได้มา ๓ วิธีด้วยกัน คือ
                 ๑.โดยนิติกรรม
                 ๒.โดยอายุความ
                 ๓.โดยผลแห่งกฎหมาย
                 
             การได้มาโดยนิติกรรม เป็นการตกลงระหว่างเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ที่จะให้อสังหาริมทรัพย์หนึ่งตกอยู่ภายใต้ภารจำยอมเพื่อประโยชน์ แก่อสังหาริมทรัพย์อีกอันหนึ่ง โดยจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็สุดแล้วแต่ เช่น เจ้าของที่ดินแปลง ก.ยอมให้เจ้าของที่ดินแปลง ข.ได้ภารจำยอม เหนือที่ดินแปลง ก.ในอันที่ีจะเดินผ่านไปสู่ทางสาธารณะมีกำหนด ๑๐ ปี หรือเจ้าของที่ดินแปลง ก. ตกลงจะไม่ปลูกอาคารปิดกั้นทางลม และแสงสว่างแก่โรงเรือนของ ข.มีกำหนด ๒๐ ปี เป็นต้น
             การทำนิติกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งภารจำยอมนี้ต้องอยู่ภายใต้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคแรก ด้วยกล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นไม่บริบูรณ์เป็นภารจำยอมใช้ยันบุคคลภายนอกได้ แต่ก็อาจใช้บังคับระหว่างคู่สัญญาในฐานะเป็นบุคคลสิทธิได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๖๐/๒๕๐๗, ๔๒๗/๒๕๒๓, ๓๓๓๓/๒๕๔๙) และสิทธิดังกล่าวย่อมตกทอดแก่ทายาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๙, ๑๖๐๐ เพราะตามกฎหมายหรือโดยสภาพมิใช่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของคู่สัญญาโดยแท้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๒๗/๒๕๓๓)
            การได้มาโดยอายุความ มีบัญญัติไว้ใน มาตรา ๑๔๐๑ ว่า "ภารจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ ๓ แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม"
            อายุความได้สิทธิที่จะนำมาใช้คือ มาตรา ๑๓๘๒ ฉะนั้นถ้าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้ใช้สอยอสังหาริมทรัพย์อื่น โดยความสงบ โดยเปิดเผย (คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๒๓๖/๒๕๔๖) และด้วยเจตนาจะได้ได้สิทธิภารจำยอมในอสังหาริมทรัพย์นั้นติดต่อกันเป็นเวลา ๑๐ ปี ย่อมได้ภารจำยอมเหนืออสังหาริมทรัพย์นั้น โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีประชาชนทั่วไป หรือ บุคคลอื่นใช้เป็นประจำด้วยหรือไม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๕๘๓/๒๕๓๖) และไม่ต้องคำนึงว่าภารยทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้ใดหรือเจ้าของสามยทรัพย์จะต้องรู้ว่าใครเป็นเจ้าของภารยทรัพย์นั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๐๕๙/๒๕๔๕)
            การได้ภารจำยอมโดยอายุความนี้ อาจนำมาตรา ๑๓๘๑ มาใช้บังคับ และถ้าเป็นภารจำยอมเกี่ยวกับทางเดิน แม้จะย้ายทางเดินเพราะมีความจำเป็นทางฝ่ายเจ้าของที่ดิน แต่หากยังอยู่ในที่ดินแปลงเดียวกันก็นับระยะเวลาติดต่อกันได้ ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๓๔/๒๕๑๖ และ ๔๔๖/๒๕๔๑ ซึ่งวินิจฉัยว่า ผู้ใชทางเดินโดยความยินยอมของเจ้าของที่ดินอาจได้ภารจำยอมโดยอายุความได้ ถ้าต่อมาได้ใช้ทางโดยอาการที่ถือสิทธิเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดิน การที่ผู้ใช้ทางต้องย้ายทางที่ใช้อยู่เดิมไปใช้ทางใหม่ในที่ดินแปลงเดียวกัน เพราะเจ้าของที่ดินปลูกบ้านทับทางนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเจ้าของที่ดิน จึงต้องนับอายุความทางภารจำยอมติดต่อกัน นอกจากนี้ บทบัญญัติ ในมาตรา ๑๓๘๒, ๑๓๘๕ ย่อมจะนำมาใช้บังคับเกี่ยวกับการได้ภารจำยอมโดยอายุความด้วย เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๖๖/๒๕๐๕ แม้ผู้เช่าจะไม่มีสิทธิบังคับภารจำยอม แต่ถ้าต่อมาผู้เช่ากลายมาเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ก็มีสิทธิในภารจำยอมได้ และมีสิทธินับระยะเวลาตอนเป็นผู้เช่าที่ได้ใช้ภารยทรัพย์รวมเข้ากับตอนเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้ เพราะการใช้ภารยทรัพย์ ไม่จำเป็นที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต้องใช้เอง คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๓/๒๕๐๔ ตอนแรก โจทก์ที่ ๑ เช่าที่ดินปลูกบ้านอยู่ และโจทก์ที่ ๒ เช่าบ้านอยู่ โจทก์ทั้งสองได้ใช้ทางพิพาทเข้าออกสู่ทางสาธารณะเรื่อยมา ตอนหลังโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดิน และคงใช้ทางพิพาทตลอดมา เมื่อระยะเวลาทั้งสองตอนเกิน ๑๐ ปี โจทก์ย่อมได้ภารจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๘๒/๒๕๒๖ ก็วินิจฉัยอย่างเดียวกัน) คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๒๑/๒๕๑๘ ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนับเวลาที่เจ้าของเดิมเดินผ่านที่ดินติดต่อกันเพื่อได้ภารจำยอมเหนือที่ดินนั้นได้ ถ้าเลิกใช้ หากกลับมาใช้ใหม่ไม่ถึง ๑๐ ปี ยังไม่ได้ภารจำยอม การกลับมาเยี่ยมบ้านเดือนละ ๒-๓ ครั้ง ไม่เป็นการใช้ทางพิพาท
             คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๐๔/๒๕๓๙ ภารจำยอมก่อตั้งขึ้นสำหรับเจ้าของสามยทรัพย์ การที่ผู้เช่าที่ดินจากกระทรวงการคลังขนส่งไปรษณีย์ในกิจการของผู้เช่าผ่านที่ดินของผู้อื่น มิได้เป็นการใช้แทนหรือทำในนาม หรือเพื่อประโยชน์ของกระทรวงการคลัง แม้จะใช้มานานกว่า ๑๐ ปี ก็ไม่ก่อให้เกิดภารจำยอมแก่กระทรวงการคลัง
             คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๘๘/๒๕๔๑ โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งใช้ทางพิพาทยังไม่ถึง ๑๐ ปี แม้เจ้าของที่ดินแปลงอื่นได้ใช้ทางเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของเขาเกิน ๑๐ ปี แต่เมื่อมิได้ใช้เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ จึงนำระยะเวลาที่เจ้าของที่ดินแปลงอื่นใช้ประโยชน์ในทางนั้นมารวมเพื่อให้ที่ดินของโจทก์ได้ภารจำยอมโดยอายุความไม่ได้
             คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๐๑๓/๒๕๔๑ ภารจำยอมเหนือที่ดินแปลงหนึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินแปลงอื่นเท่านั้น เมื่อเดิมที่ดินของโจทก์และที่ดินของจำเลยที่ ๒ เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน โดยมี ฮ. และ บ. เป็นเจ้าของร่วมกัน แม้ ฮ.จะใช้ที่ดินส่วนหนึ่งเดินเกินกว่า ๑๐ ปี แล้วก่อนขายให้โจทก์ ก็ไม่ก่อให้เกิดภารจำยอมเหนือที่ดินของ ฮ. เอง การที่โจทก์ใช้ทางเดินนั้น โดยอาศัยสิทธิของ ฮ. ก่อนซื้อที่ดินจาก ฮ. ย่อมไม่ก่อให้เกิดภารจำยอมเหนือที่ดินดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้น การนับเวลาการได้ภารจำยอมโดยอายุความยังไม่เริ่มต้น จึงไม่อาจนำเวลาดังกล่าวนับรวมกันได้ ต่อมาเมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินออก และมีการโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นของโจทก์แปลงหนึ่งและของจำเลยที่ ๒ อีกแปลงหนึ่งแล้ว หลังจากกนั้นการใช้ทางส่วนที่ผ่านที่ดินของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นการใช้อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปรปักษ์อันจะก่อให้เกิดภารจำยอมได้ อายุความที่จะได้ภารจำยอมต้องเริ่มนับตั้งแต่เวลาได้มีการแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ (มีคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒๒๓/๒๕๔๒ วินิจฉัยอย่างเดียวกัน)
         
            #ต้องการฟ้องคดีเรื่องภารจำยอม ติดต่อ ทนายความ 0986165819

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2563

การเพิกถอนการได้ทรัพยสิทธิทางทะเบียน ช่องทางได้ที่ดินคืน ทางแก้คนถูกเอาเปรียบ

การเพิกถอนการได้ทรัพยสิทธิทางทะเบียน
                   หลายคนคงเคยประสบกับปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น เรื่องมรดก ยังไม่ได้แบ่งแต่ผู้จัดการมรดก ได้โอนที่ดิน ขายให้คนอื่น หรือ ซื้อที่ดินมายังไม่ได้จดทะเบียนโอน แต่คนขายไปจดทะเบียนโอนให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือ มีกรณีใดๆ ลักษณะคล้ายกันนี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องแย่มาก ภาษาชาวบ้านเรียกว่า โดนโกงนั่นเอง ซึ่งในทางกฎหมาย ขออธิบายเป็นวิทยาทาน ดังต่อไปนี้
                   ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๐ บัญญัติว่า ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทนซึ่งผู้รับโอนกระทำโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนไม่ได้
                   มาตรานี้เป็นบทบัญญัติที่แก้ไขผ่อนคลายความศักดิ์สิทธิ์ของมาตรา ๑๒๙๙ วรรคแรก เพราะตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคแรก การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรม ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่บริบูรณ์ ไม่อาจถือว่าได้ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์อันจะใช้ยันต่อบุคคลภายนอกได้เลย แต่แม้กระนั้นก็ตามผู้นั้นก็ยังมีทางแก้ไขตาม มาตรา ๑๓๐๐ คือ ถ้าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์คนเดิมได้จดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไปให้บุคคลอื่น และบุคคลอื่นรับโอนไปโดยไม่สุจริตก็ดี หรือรับโอนโดยไม่เสียค่าตอบแทนก็ดี ผู้ที่ได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มาโดยไม่บริบูรณ์เพราะมิได้จดทะเบียนนั้น มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนนั้นได้ มาตรา ๑๓๐๐ นี้คล้ายกับมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองอยู่มากเพียงแต่ต่างกันดังนี้
                   ๑.มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง เป็นเรื่องเฉพาะผู้ได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมเท่านั้น แต่มาตรา ๑๓๐๐ เป็นเรื่องบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อน ซึ่งย่อมรวมทั้งผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ทั้งโดยนิติกรรม และโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมด้วย
                   ๒.มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง เป็นเรื่องยกขึ้นอ้างหรือต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยไม่เสียค่าตอบแทน หรือโดยไม่สุจริต หรือมิได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตเท่านั้น แต่มาตรา ๑๓๐๐ เป็นเรื่องเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนของผู้ที่รับโอนโดยไม่เสียค่าตอบแทน หรือรับโอนโดยไม่สุจริตทีเดียว
                   ที่ว่า มาตรา ๑๓๐๐ คล้ายกับ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองนั้น คล้ายกันตรงที่ว่า ถ้าบุคคลใดไม่อาจยกข้อต่อสู้บุคคลภายนอกตาม มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองได้แล้ว บุคคลนั้นก็จะมาฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการโอนตามมาตรา ๑๓๐๐ มิได้ ทั้งนี้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๐๒/๒๕๐๐ ซึ่งวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์มิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครอง ย่อมไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้รับโอนที่พิพาทโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนโดยสุจริตได้ ฉะนั้นจึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างเจ้าของ และบุคคลภายนอกตามมาตรา ๑๓๐๐ ได้
บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนนั้น ได้แก่
                    (๑) บุคคลผู้ทำนิติกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แต่ยังมิทันได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายบัญญัติไว้ เช่น ซื้อที่ดินแต่ยังมิได้จัดการโอนทางทะเบียน ได้ชื่อว่าอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนแล้ว ทั้งนี้ตามตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาดังต่อไปนี้
                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๘๙/๒๔๙๑ โจทก์ซื้อเรือต่อขนาด ๖.๖๗ ตัน จากจำเลยที่ ๑ โดยทำหนังสือกันเอง และได้ชำระเงินแล้ว จำเลยที่ ๑ ได้มอบทะเบียนและเรือให้โจทก์แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ไปโอนแก้ทะเบียนที่กรมเจ้าท่า โจทก์ย่อมมีสิทธิในเรือลำนี้แล้ว ถ้าจำเลยที่ ๑ โอนทะเบียนให้จำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๒ รู้อยู่แล้วว่าเรือเป็นของโจทก์ โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนได้
                    คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๑๙/๒๔๙๔ ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับผู้ซื้อได้ชำระราคาแล้ว แต่ยังโอนกันมิได้ เพราะเจ้าพนักงานที่ดินส่งโฉนดไปยังกรมที่ดินเสีย ผู้ขายจึงมอบที่ดินให้ผู้ซื้อครอบครองไปพลางก่อนจนกว่ากรมที่ดินจะส่งโฉนดคืนมา จึงจะทำการโอนกัน ผู้ซื้อได้เข้าครอบครองมา ๔ ปีเศษแล้ว ถือว่าผู้ซื้ออยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตามมาตรา ๑๓๐๐ 
                    คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๕๔/๒๕๐๐ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาขายที่ดินให้โจทก์แล้ว แต่ยังมิได้ไปทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพราะการผัดผ่อนของจำเลยที่ ๑ ต่อมาจำเลยที่ ๑ สมคบกับจำเลยที่ ๒ โอนที่พิพาทให้จำเลยที่ ๒ กับบุตร ดังนี้โจทก์อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนแล้วตามมาตรา ๑๓๐๐ จึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนได้
                    คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๐๑๑/๒๕๔๐ จำเลยทั้งสามนำที่ดินของจำเลยที่ ๒ มาเป็นประกันการทุเลาการบังคับ โดยจำเลยที่ ๒ ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันไว้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินมิให้ทำนิติกรรมจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น แม้สัญญาค้ำประกันจะมีผลจนกว่าจะชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ครบถ้วนแต่ที่ดินดังกล่าวยังมิได้ถูกยึดหรืออายัด จึงไม่ต้องห้ามมิให้ยึดซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๐ กรมสรรพกรย่อมมีอำนาจยึดที่ดินของจำเลยที่ ๒ ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ค่าภาษีได้ การที่ผู้ร้องซื้อที่ดินและได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว จึงอยู่ในฐานะจดทะเบียนได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๐ และเมื่อกรมสรรพากรมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ผู้ร้อง แต่เจ้าพนักงานที่ดินมิอาจอำเนินการให้ได้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗(๑)
                     คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๗๕๒/๒๕๔๗ จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงยกที่ดินพร้อมบ้านส่วนของจำเลยที่ ๒ ให้แก่ผู้ร้อง โดยจะโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อผู้ร้องมีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ศาลพิพากษาตามยอมแล้ว ขณะยื่นคำร้องขอกันส่วนผู้ร้องมีอายุ ๒๔ ปี คำพิพากษาตามยอมจึงมีผลบังคับให้จำเลยที่ ๒ ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องจึงเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๐
                     แต่ถ้านิติกรรมที่ทำนั้นเป็นเพียงก่อให้เกิดบุคคลสิทธิ ซึ่งไม่ใช่สิทธิที่จะนำมาจดทะเบียนการได้มา เช่น ทรัพยสิทธิแล้ว บุคคลผู้ทำนิติกรรมนั้นยังไม่ถือว่าอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ เช่น ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน ผู้จะซื้อไม่มีสิทธิที่จะไปจดทะเบียนการซื้อขายได้โดยตรง เพียงแต่มีสิทธิบังคับให้ผู้จะขายทำสัญญาซื้อขายให้เท่านั้นจึงจะให้มีการจดทะเบียนการซื้อขายกันต่อไป ดังนั้นผู้จะซื้อจึงไม่ถือว่าอยู่ในฐานะจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อน
                     คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๗๔/๒๔๙๐ ผู้ที่ฟ้องขอให้เพิกถอนตามมาตรา ๑๓๐๐ จะต้องแสดงว่าตนอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้ เพียงแต่ได้ความว่าทำสัญญาจะซื้อขายและวางมัดจำไว้ ไม่เรียกว่าอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนตามมาตรา ๑๓๐๐
                     คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๐๑/๒๔๙๗ สัญญาจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นเพียงบุคคลสิทธิ หามีทรัพยสิทธิติดตามตัวทรัพย์เอากลับคืนจากบุคคลภายนอกได้ไม่ และไม่เป็นสิทธิที่จะจดทะเบียนได้ จึงไม่มีสิทธิจะฟ้องให้เพิกถอนการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้วตามมาตรา ๑๓๐๐
                     คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๙๗๙ ถึง ๔๙๘๒/๒๕๓๙ ล.เจ้ามรดกทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินไวว้กับโจทก์ก่อนที่ ล. จะถึงแก่ความตาย โจทก์จึงมีเพียงบุคคลสิทธิ ยังไม่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนที่จะฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๑ และ จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ล.กับจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรม
                     แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีเพียงบุคคลสิทธิ เช่น ผู้จะซื้อแม้จะขอให้เพิกถอนการโอนทางทะเบียนตามมาตรา ๑๓๐๐ มิได้ก็ตามแต่ก็อาจขอให้เพิกถอนการโอนนั้นได้ตามมาตรา ๒๓๗ ซึ่งเป็นเรื่องเจ้าหนี้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้ทำลงโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๘๐/๒๕๐๒ และ ๓๔๕๔/๒๕๓๓ ซึ่งวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ รู้ดีแล้วว่าจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์และรับเงินค่าที่ดินบางส่วนไปแล้ว ยังรับโอนที่ดินจากจำเลยที่ ๑ ดังนี้ ถือว่าทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ขอให้เพิกถอนการโอนได้ตาม มาตรา ๒๓๗
                     คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๐/๒๕๑๖ จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและบ้านจาก ม. แต่ยังชำระราคาไม่ครบ จำเลยจึงมิใช่ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม มาตรา ๑๓๐๐ คดีของจำเลยต้องด้วยมาตรา ๒๓๗
                     นอกจากที่กล่าวแล้ว กรณีที่ตกลงกันโอนที่ดินชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้ก็อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตาม มาตรา ๑๓๐๐ เช่นกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๐๙/๒๕๔๔)
                     (๒) บุคคลผู้ได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมแต่ยังมิได้จดทะเบียนการได้มาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง เช่น ได้ที่ดินมาโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา ๑๓๘๒ หรือโดยการรับมรดกตามมาตรา ๑๕๙๙ เป็นต้น แม้จะยังไม่จดทะเบียนก็ถือว่าอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนแล้ว เช่น
                     คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๖๙/๒๔๘๗ รับมรดกปกครองที่ดินร่วมกันมา ผู้รับมรดกคนหนึ่งโอนที่ดินมรดกทั้งหมดให้บุตรโดยไม่สุจริตผู้รับมรดกอื่นฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนได้ตาม มาตรา ๑๓๐๐ และ ๑๓๕๙
                     คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒/๒๔๙๐ ซื้อที่ดินและครอบครองเป็นเจ้าของมาเกิน ๑๐ ปี แม้จะไม่ได้แก้ทะเบียนโอนโฉนดกัน ก็ถือว่าผู้นั้นอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินนั้นโดยไม่สุจริตได้ตามมาตรา ๑๓๐๐ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๘๖/๒๕๓๖ ก็วินิจฉัยอย่างเดียวกัน)
                     คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๙๑/๒๕๔๘ โจทก์ จำเลยที่ ๑ และทายาทอื่นครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกร่วมกันมา การที่จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งมิใช่ทายาทโดยไม่มีค่าตอบแทน โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนเฉพาะส่วนของโจทก์ได้ตามมาตรา ๑๓๐๐
                     เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่มีสิทธิรับโอนอสังหาริมทรัพย์ ก็อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อน เช่น 
                     คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๗๖/๒๔๙๕ สิทธิของผู้จะซื้อที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายนั้น เมื่อนำคดีมาสู่ศาลจนศาลพิพากษาให้ผู้จะขายโอนขายที่ดินให้แก่ผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อขายนั้นแล้ว แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุดก็อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา ๑๓๐๐ แล้ว ฉะนั้น ถ้าผู้จะขายขายที่ดินนั้นแก่ผู้อื่นไปในระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดโดยผู้ซื้อไม่สุจริตแล้ว ผู้จะซื้อมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นเสียได้ตามมาตรา ๒๓๗ และ ๑๓๐๐
                     คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๖๑/๒๕๑๗ เดิมผู้ร้องฟ้องจำเลยให้โอนที่ดินให้ผู้ร้อง ศาลพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินให้ผู้ร้องแล้ว ต่อมาโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยได้ยึดที่ดินนั้นเพื่อชำระหนี้ ผู้ร้องจึงขอให้ศาลเพิกถอนการยึดทรัพย์ ดังนี้ แม้ที่ดินยังมีชื่อจำเลยในโฉนด ผู้ร้องก็มีสิทธิที่จะจดทะเบียนการได้มาก่อนโจทก์ ผู้ร้องจึงขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินได้ตามมาตรา ๑๓๐๐
                      คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๖๖/๒๕๒๐ ผู้ร้องซื้อที่ดินและตึกแถวจากโจทก์ ต่อมาผู้ร้องฟ้องโจทก์ ศาลพิพากษาตามยอมให้โจทก์โอนที่ดินให้ผู้ร้อง แต่โฉนดอยู่ที่จำเลยโดยโจทก์ให้จำเลยยึดไว้ต่างหนี้ จำเลยทำยอมความกับโจทก์ว่าจะคืนโฉนดเมื่อโจทก์ชำระหนี้ โจทก์ผิดนัด จำเลยจึงยึดที่ดินตามยอมทำการบังคับคดี ดังนี้ผู้ร้องอยู่ในฐานะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อน การบังคับคดีของจำเลยไม่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๘๗
                      คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๐๗/๒๕๓๒ แม้โจทก์ยึดที่พิพาทก่อนศาลพิพากษาให้จำเลยโอนขายที่พิพาทให้ผู้ร้อง แต่ต่อมาเมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยโอนขายที่พิพาทให้ผู้ร้อง ย่อมถือว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อนตามมาตรา ๑๓๐๐ หากยังไม่มีการขายทอดตลาดที่พิพาท ผู้ร้องย่อมขอให้เพิกถอนการยึดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๗
                      คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๖๘/๒๕๔๐ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดในคดีนี้ โดยอ้างสิทธิตามคำพิพากษาในคดีก่อนซึ่งพิพากษาว่า ให้จำเลยแบ่งแยกโฉนดที่ดินส่วนที่เป็นของ ศ.ออกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ๙๒ ไร่ ให้แก่ผู้ร้อง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยรับเงินส่วนที่เหลือ ๖,๔๓๗,๔๘๐ บาท จากผู้ร้อง หากจำเลยไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ให้ชดใช้เงินค่าปรับรวม ๓,๘๔๒,๕๒๐ บาท คำพิพากษาดังกล่าวให้สิทธิแก่ผู้ร้องมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและมีสิทธิที่จะบังคับคดีตามขั้นตอนในคำพิพากษา หาใช่ให้สิทธิแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะเลือกปฏิบัติไม่ เมื่อผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเกี่ยวกับที่ดินที่ยึดไว้ดังกล่าว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนเกี่ยวกับที่ดินอันเป็นทรัพย์ที่ยึดนั้นได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๐ มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินอันเป็นทรัพย์ที่ยึดได้(คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๒๐๕/๒๕๔๓ ก็วินิจฉัยอย่างเดียวกัน)
                       เจ้าของกรรมสิทธิ์นั้นถือว่ามิใช่ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนดังที่บัญญติไว้ในมาตรา ๑๓๐๐ ฉะนั้น ผู้รับโอนจะอ้างว่าเสียค่าตอบแทนและรับโอนโดยสุจริต มาใช้ยันต่อเจ้าของเพื่อให้ได้สิทธิตามาตรา ๑๓๐๐ มิได้ ทั้งนี้ตามแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๐๔๙/๒๔๙๒ ซึ่งข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า มีผู้ปลอมตัวเป็นโจทก์และเซ็นชื่อปลอมเป็นโจทก์ทำสัญญาจำนองที่ดินของโจทก์ไว้แก่จำเลยผู้รับจำนองโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจำนอง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มิใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ แต่เป็นผู้จดทะเบียนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่แล้ว จะนำมาตรา ๑๓๐๐ มาใช้แก่กรณีนี้มิได้ การจำนองเป็นไปโดยสำคัญผิดในตัวบุคคลเป็นโมฆะ จึงให้เพิกถอนการจำนอง
                       ถ้าเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมดัวยกัน กรณีก็ไม่อยู่ในบทบังคับของมาตรา ๑๓๐๐ เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๗๕/๒๔๙๒ ซึ่งวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๑ มีชื่อในโฉนดที่นาร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์ที่ ๒ ซื้อที่นาเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ ๑ จึงมีชื่อในโฉนดร่วมกับจำเลย โจทก์ที่ ๒ ฟ้องจำเลยขอให้แบ่งนาพิพาทให้ครึ่งหนึ่ง จำเลยต่อสู้ว่าส่วนของจำเลยมีมากกว่าครึ่งหนึ่งและได้ครอบครองเป็นส่วนสัดกันมา ดังนี้มิใช่กรณีตามมาตรา ๑๓๐๐ แต่เป็นปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์รวมตามมาตรา ๑๓๕๗
                       ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนจะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ได้ก็ต่อเมื่อ
                       1.การจดทะเบียนการโอนนั้น ทำให้ตนเสียเปรียบ
                       2.ผู้รับโอนรับโอนไปโดยไม่มีค่าตอบแทน หรือถ้าเป็นการโอนโดยมีค่าตอบแทน ผู้รับโอนก็กระทำการโดยไม่สุจริต
                       อย่างไรเรียกว่าทำให้ตนเสียเปรียบนั้น ย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ ไป ตามธรรมดาการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ไปให้ผู้อื่น ย่อมถือว่าทำให้ผู้ที่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบเสมอ แต่ถ้าเป็นการโอนทรัพยสิทธิคนละประเภทกับทรัพยสิทธิของผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนแล้ว ย่อมไม่ถือว่าทำให้เสียเปรียบ เช่น ได้ภารจำยอมมาโดยอายุความตามมาตรา ๑๔๐๑ และ ๑๓๘๒ แต่ยังมิได้จดทะเบียน เจ้าของภารยทรัพย์โอนกรรมสิทธิ์ในภารยทรัพย์ให้บุคคลอื่นไปเช่นนี้ ย่อมไม่ทำให้ผู้ได้ภารจำยอมเสียเปรียบแต่อย่างใด เพราะภารจำยอมย่อมติดไปกับภารยทรัพย์ด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๐๐/๒๕๐๒) ฉะนั้น ผู้ได้ภารจำยอมจะขอให้เพิกถอนการโอนอสังหาริมทรัพย์นั้นตามมาตรา ๑๓๐๐ มิได้
                       อย่างไรถือว่ามีค่าตอบแทน หรือทำการโอนโดยสุจริตนั้น อาศัยหลักเดียวกับ มาตรา ๑๒๙๙ 
                       มาตรา ๑๓๐๐ บัญญัติแต่เรื่องการโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตเท่านั้น มิได้บัญญัติว่าต้องจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตด้วย แต่ก็ต้องเป็นที่เข้าใจว่าเนื่องจากการโอนตามมาตรา ๑๓๐๐ เป็นการโอนโดยการจดทะเบียน ฉะนั้น ข้อความที่ว่าผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น จึงต้องหมายความอยู่ในตัวว่าความสุจริตนั้น ต้องมีอยู่ในขณะโอน คือขณะจดทะเบียนด้วย
                       ถ้าผู้รับโอนรับโอนโดยเสียค่าตอบแทนและกระทำการโดยสุจริตแล้ว ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อน ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนได้ คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๙๙-๑๔๐๐/๒๔๙๖ ภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของชาย อยู่กินกันมานาน เมื่อชายตายหญิงเชื่อว่าตนมีสิทธิรับมรดก จึงขอรับมรดกโฉนดที่ดินแล้วโอนขายให้บุคคลภายนอกผู้ซื้อโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ทายาทของชายจะขอให้เพิกถอนมิได้
                       มาตรา ๑๓๐๐ เป็นเรื่องการโอนอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แต่มี คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๗๙/๒๔๗๙, ๑๐๔๖/๒๔๘๐ และ ๓๙๔/๒๕๓๔ วินิจฉัยว่าการจำนองก็อยู่ในบทบัญญัติมาตรา ๑๓๐๐ ซึ่งอาจจะขอให้เพิกถอนได้เช่นกัน