วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ภารจำยอม ทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการทางออก

ภารจำยอม 
     การอยู่ร่วมกันในสังคม ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ถ้อยทีถ้อยอาศัย น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า สังคมจึงจะอยู่อย่างปกติสุข บ้านใกล้กัน ที่ดินติดกัน หากปรับความเข้าใจ โอนอ่อนผ่อนปรนซึ่งกันและกัน ก็จะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าไม่ยอมกัน จะเอาแบบนี้แบบนั้น ปัญหาเกิดทันที ตื่นเช้าขึ้นมาหันหน้าไปทางข้างบ้านแทนที่จะยิ้มได้ ก็กลายเป็นเครียดแทน หลักกฎหมายเรื่องภารจำยอม น่าจะเป็นทางออกสำหรับใครหลายคน ที่กำลังประสบปัญหา
           ภารจำยอม คือ ทรัพยสิทธิชนิดหนึ่งที่ตัดทอนอำนาจกรรมสิทธิ์โดยทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์อันหนึ่งเรียกว่า ภารยทรัพย์ ต้องรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบกระเทือนทรัพย์สินของตน หรือทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์ของอสังหาริมทรัพย์อื่นที่เรียกว่า สามยทรัพย์ เช่น การที่เจ้าของที่ดินแปลง ก. มีสิทธิเดินผ่านที่ดินแปลง ข. หรือมีสิทธิวางท่อน้ำผ่านที่ดินแปลง ข. หรือมีสิทธิเข้าไปตักน้ำในที่ดินแปลง ข. หรือมีสิทธิใช้ลานดินในที่ดินแปลง ข. กองข้าวเปลือก หรือมีสิทธิปลูกโรงเรียนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินแปลง ข. เป็นต้น ดังนี้ถือว่าเจ้าของที่ดินแปลง ก.มีภารจำยอมเหนือที่ดินแปลง ข. ที่ดินแปลง ก. เรียกว่า สามยทรัพย์ ที่ดินแปลง ข.เรียกว่า ภารยทรัพย์
           ภารจำยอม   มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๗ ดังนี้
           "อสังหาริมทรัพย์อาจต้องอยู่ในภารจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่าง ซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือ ต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น
             มาตรา ๑๓๘๗ นี้ ภารจำยอมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้
             ๑.มีอสังริมทรัพย์สองอสังหาริมทรัพย์ด้วยกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๐๑๓/๒๕๔๐ ภารจำยอมเหนือที่ดินแปลงหนึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินแปลงอื่นเท่านั้น) และอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นที่ดินเสมอไป อสังหาริมทรัพย์อื่นเช่น บ้านเรือนก็อาจก่อให้เกิดภารจำยอม หรืออยู่ใต้ภารจำยอมได้ และอสังหาริมทรัพย์ทั้งสองนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ติดต่อกันด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๙๘/๒๕๑๐) แม้มีคลองสาธารณะคั่นอยู่ก็อาจเป็นทางภารจำยอมได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๐๔/๒๕๓๖)
             แต่คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๙/๒๕๓๙ วินิจฉัยว่า การใช้ทางในที่ดินของบุคคลหนึ่งจะตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความก็ต้องเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของบุคคลอื่นเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ตัวบ้านซึ่งเจ้าของบ้านอาศัยสิทธิปลูกอยู่บนที่ดินของบุคคลดังกล่าว เจ้าของบ้านจึงไม่อาจอ้างการได้สิทธิทางภารจำยอมโดยอายุความได้
             ๒.อสังหาริมทรัพย์ทั้งสองอสังหาริมทรัพย์จะต้องเป็นของเจ้าของต่างคนกัน ถ้าเป็นของเจ้าของเดียวกันไม่มีทางจะเกิดภารจำยอมได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๙๔/๒๕๐๘) เดิมที่ดินเป็นแปลงเดียวกันผู้อยู่ในที่ดินนั้นใช้สิทธิในฐานะเป็นบริวารและโดยอาศัยอำนาจของเจ้าของเดิมซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินรายเดียวกัน จะเกิดภาระจำยอมมิได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๖๖/๒๕๓๑) การเป็นเจ้าของต่างคนกันนั้นถือตามความเป็นจริง แม้จะยังมิได้แยกโฉนดออกจากกันก็ตาม (คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๙๐/๒๕๒๐ โจทก์ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินส่วนหนึ่งแต่ยังมิได้แบ่งแยกโฉนดที่ดิน นอกนั้นเป็นของจำเลยล้อมรอบที่ดินของโจทก์อยู่ แม้ที่ดินของโจทก์และจำเลยอยู่ในโฉนดเดียวกัน แต่เมื่อแยกกันครอบครองเป็นเจ้าของคนละแปลงเป็นส่วนสัด ทางพิพาทซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลย ย่อมตกเป็นภารจำยอม แก่ที่ดินส่วนของโจทก์โดยอายุความได้) คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๕๔/๒๕๓๔ ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นสามยทรัพย์มาโดยทางมรดก แม้จะยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อในโฉนดเป็นของตน ก็ถือว่า อยู่ในฐานะเป็นเข้าของสามยทรัพย์ มีอำนาจฟ้องให้เปิดทางภารจำยอมได้
             ที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ก็เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์อีกแปลงหนึ่งได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๘๔๗/๒๕๓๙)
             ๓.อสังริมทรัพย์อันหนึ่งเรียกว่าภารยทรัพย์ต้องรับกรรมอบางอย่างหรือถูกตัดทอนสิทธิบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่อสังริมทรัพย์อื่นเรียกว่า สามยทรัพย์ เช่น เจ้าของภารยทรัพย์ต้องยอมให้เจ้าของสามยทรัพย์เดินผ่านที่ดินของตน หรือยอมให้วางท่อประปาผ่าน ยอมให้ปลูกโรงเรือน หรือกันสาด (คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๔/๒๕๔๑) รุกล้ำหรือต้องงดเว้นไม่ปลูกเรือนให้บังทางลมหรือบังแสงสว่างแก่โรงเรียนของผู้อื่น หรือยอมให้เจ้าของโรงเรือนติดต่อใช้เสาของโรงเรือนตนเป็นที่วางคานโรงเรือนของเขาได้
             ความสำคัญอยู่ที่ว่า กรรมบางอย่างหรือสิทธิที่ถูกตัดทอนนั้น ทำให้สามยทรัพย์ได้รับประโยชน์ หรือได้รับความสะดวกขึ้นหรือไม่ ถ้าเป็นเพียงประโยชน์หรือความสะดวกแก่ตัวบุคคลโดยไม่เกี่ยวกับอสังหาทรัพย์แล้ว ย่อมจะเกิดภารจำยอมไม่ได้ คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๐๐/๒๕๑๒ วินิจฉัยว่า คูพิพาทระหว่างที่ดินโจทก์จำเลยใช้เป็นทางเรือผ่านเข้าออกมา ๒๐ กว่าปี ต่อมาโจทก์จำเลยทำหนังสือรับรองว่า คูพิพาทเป็นทางเรือ และทางน้ำที่โจทก์จำเลยใช้ร่วมกัน จำเลยจะไม่ก่อสร้างอะไรลงในคูพิพาท ดังนี้คูพิพาทเป็นภารจำยอม จำเลยมีหน้าที่ทั้งตามกฎหมาย และหนังสือรับรองที่จะต้องงดเว้นไม่ทำการใดลงในคูให้เสือมประโยชน์แก่โจทก์
             เนื่องจากภารจำยอมเป็นเรื่องเพื่อโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์ มิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของผู้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะ ฉะนั้น แม้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์จะมิได้ใช้สอยภารยทรัพย์เอง แต่เมื่อคนใดบนอสังหาริมทรัพย์ได้ใช้สอยภารยทรัพย์นั้นก็เกิดภารจำยอมได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๓๕/๒๔๘๕) หรือเมื่อผู้ใช้ทางพิพาทได้ฟ้องคดีขอให้เปิดทางขอให้เปิดทางพิพาทอันตกอยู่ในภาระจำยอมแล้ว แม้ต่อมาผู้นั้นจะได้โอนขายที่ดินสามยทรัพย์ให้ผู้อื่นหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ก็ไม่ทำให้อำนาจฟ้องระงับไป (คำพิพากษาฏีกาที่ ๑๐๕๒/๒๕๓๔)
             เมื่ออสังหาริมทรัพย์ใดตกอยู่ภายใต้ภารจำยอมแล้ว ไม่แต่เพียงเจ้าของสามยทรัพย์เท่านั้นที่ใช้สอยภารยทรัพย์ได้ บุคคลที่อยู่บนสามยทรัพย์ตลอดจนแขกของเจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิใช้สอยภารยทรัพย์ได้เช่นเดียวกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๗๓/๒๕๘๒) นอกจากนี้ผู้อาศัยสิทธิของผู้ซื้อในสามยทรัพย์ เช่น ผู้เช่าซื้อและผู้ทำสัญญาจะซื้อสามยทรัพย์ ก็มีสิทธิในภารยทรัพย์ด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๘๔-๙๘๕/๒๕๓๙) แต่เจ้าของสามยทรัพย์จะเปิดที่ดินของตนให้เจ้าของที่ดินแปลงอื่นเข้ามาใช้ทางภารจำยอมด้วยไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๓๒๐/๒๕๓๙)
             อสังหาริมทรัพย์อาจตกอยู่ภายใต้ภารจำยอมก็เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นเท่านั้น ฉะนั้นจะอ้างว่าใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์แก่การค้าน้ำแข็งหาได้ไม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑-๑๓/๑๕๐๓ ใช้ทางพิพาทสำหรับวางสินค้าจำหน่าย ก็ไม่ใช่เกี่ยวกับประโยชน์ของอสังหาริมทรัพย์ไม่เกิดสิทธิภารจำยอม (คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๗๒๗/๒๕๔๔) แต่ถ้าอสังหาริมทรัพย์ได้ใช้เพื่อประโยชน์เกี่ยวแก่การค้าด้วย ภารจำยอมก็ย่อมมีได้ เช่น เจ้าของโรงสีข้าวในที่ดินแปลงหนึ่งใช้ที่ดินของจำเลยผ่านเข้าออกไปสู่ทางสาธารณะ แม้จะใช้ทางนั้นเพื่อประโยชน์ในการบรรทุกข้าวไปขายด้วยก็ยังคงได้สิทธิภารจำยอม (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๐๔/๒๕๑๑)
             เนื่องจากภารจำยอมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์ ฉะนั้นผู้ที่จะฟ้องบังคับภารจำยอมต้องเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ที่ดินที่โจทก์ครอบครองเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินไม่มีอำนาจฟ้องบังคับภารจำยอม (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๖๓/๒๕๓๗) ผู้เช่าหรือผู้อาศัยในอสังหาริมทรัพย์ไม่อาจมีสิทธิในภารจำยอมจึงไม่มีอำนาจฟ้อง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๓๘/๒๕๐๓, ๑๔๖๖/๒๕๐๕ และ ๒๖๙/๒๕๓๙) การเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ถือตามความเป็นจริง แม้จะยังมิได้รับโอนทางทะเบียนก็ตาม คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๕๔/๒๕๓๔ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ตามความเป็นจริง ก็ฟ้องขอให้เปิดทางภารจำยอมได้ (เพียงแต่เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกสามยทรัพย์ และยังมิได้มีการรับโอนสามยทรัพย์ทางทะเบียน) ในทำนองเดียวกัน ทรัพย์ที่ตกอยู่ภายใต้ภารจำยอม ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ฉะนั้นเฉพาะแต่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์เท่านั้นจะถูกฟ้องได้ ผู้เช่า อสังหาริมทรัพย์ไม่อาจจะถูกฟ้องบังคับภารจำยอมได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑-๑๓/๒๕๐๓) 
             การได้มาซึ่งภารจำยอม
                 ภารจำยอมอาจได้มา ๓ วิธีด้วยกัน คือ
                 ๑.โดยนิติกรรม
                 ๒.โดยอายุความ
                 ๓.โดยผลแห่งกฎหมาย
                 
             การได้มาโดยนิติกรรม เป็นการตกลงระหว่างเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ที่จะให้อสังหาริมทรัพย์หนึ่งตกอยู่ภายใต้ภารจำยอมเพื่อประโยชน์ แก่อสังหาริมทรัพย์อีกอันหนึ่ง โดยจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็สุดแล้วแต่ เช่น เจ้าของที่ดินแปลง ก.ยอมให้เจ้าของที่ดินแปลง ข.ได้ภารจำยอม เหนือที่ดินแปลง ก.ในอันที่ีจะเดินผ่านไปสู่ทางสาธารณะมีกำหนด ๑๐ ปี หรือเจ้าของที่ดินแปลง ก. ตกลงจะไม่ปลูกอาคารปิดกั้นทางลม และแสงสว่างแก่โรงเรือนของ ข.มีกำหนด ๒๐ ปี เป็นต้น
             การทำนิติกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งภารจำยอมนี้ต้องอยู่ภายใต้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคแรก ด้วยกล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นไม่บริบูรณ์เป็นภารจำยอมใช้ยันบุคคลภายนอกได้ แต่ก็อาจใช้บังคับระหว่างคู่สัญญาในฐานะเป็นบุคคลสิทธิได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๖๐/๒๕๐๗, ๔๒๗/๒๕๒๓, ๓๓๓๓/๒๕๔๙) และสิทธิดังกล่าวย่อมตกทอดแก่ทายาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๙, ๑๖๐๐ เพราะตามกฎหมายหรือโดยสภาพมิใช่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของคู่สัญญาโดยแท้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๒๗/๒๕๓๓)
            การได้มาโดยอายุความ มีบัญญัติไว้ใน มาตรา ๑๔๐๑ ว่า "ภารจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ ๓ แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม"
            อายุความได้สิทธิที่จะนำมาใช้คือ มาตรา ๑๓๘๒ ฉะนั้นถ้าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้ใช้สอยอสังหาริมทรัพย์อื่น โดยความสงบ โดยเปิดเผย (คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๒๓๖/๒๕๔๖) และด้วยเจตนาจะได้ได้สิทธิภารจำยอมในอสังหาริมทรัพย์นั้นติดต่อกันเป็นเวลา ๑๐ ปี ย่อมได้ภารจำยอมเหนืออสังหาริมทรัพย์นั้น โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีประชาชนทั่วไป หรือ บุคคลอื่นใช้เป็นประจำด้วยหรือไม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๕๘๓/๒๕๓๖) และไม่ต้องคำนึงว่าภารยทรัพย์นั้นจะเป็นของผู้ใดหรือเจ้าของสามยทรัพย์จะต้องรู้ว่าใครเป็นเจ้าของภารยทรัพย์นั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๐๕๙/๒๕๔๕)
            การได้ภารจำยอมโดยอายุความนี้ อาจนำมาตรา ๑๓๘๑ มาใช้บังคับ และถ้าเป็นภารจำยอมเกี่ยวกับทางเดิน แม้จะย้ายทางเดินเพราะมีความจำเป็นทางฝ่ายเจ้าของที่ดิน แต่หากยังอยู่ในที่ดินแปลงเดียวกันก็นับระยะเวลาติดต่อกันได้ ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๓๔/๒๕๑๖ และ ๔๔๖/๒๕๔๑ ซึ่งวินิจฉัยว่า ผู้ใชทางเดินโดยความยินยอมของเจ้าของที่ดินอาจได้ภารจำยอมโดยอายุความได้ ถ้าต่อมาได้ใช้ทางโดยอาการที่ถือสิทธิเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดิน การที่ผู้ใช้ทางต้องย้ายทางที่ใช้อยู่เดิมไปใช้ทางใหม่ในที่ดินแปลงเดียวกัน เพราะเจ้าของที่ดินปลูกบ้านทับทางนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเจ้าของที่ดิน จึงต้องนับอายุความทางภารจำยอมติดต่อกัน นอกจากนี้ บทบัญญัติ ในมาตรา ๑๓๘๒, ๑๓๘๕ ย่อมจะนำมาใช้บังคับเกี่ยวกับการได้ภารจำยอมโดยอายุความด้วย เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๖๖/๒๕๐๕ แม้ผู้เช่าจะไม่มีสิทธิบังคับภารจำยอม แต่ถ้าต่อมาผู้เช่ากลายมาเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ก็มีสิทธิในภารจำยอมได้ และมีสิทธินับระยะเวลาตอนเป็นผู้เช่าที่ได้ใช้ภารยทรัพย์รวมเข้ากับตอนเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้ เพราะการใช้ภารยทรัพย์ ไม่จำเป็นที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต้องใช้เอง คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๓/๒๕๐๔ ตอนแรก โจทก์ที่ ๑ เช่าที่ดินปลูกบ้านอยู่ และโจทก์ที่ ๒ เช่าบ้านอยู่ โจทก์ทั้งสองได้ใช้ทางพิพาทเข้าออกสู่ทางสาธารณะเรื่อยมา ตอนหลังโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดิน และคงใช้ทางพิพาทตลอดมา เมื่อระยะเวลาทั้งสองตอนเกิน ๑๐ ปี โจทก์ย่อมได้ภารจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๘๒/๒๕๒๖ ก็วินิจฉัยอย่างเดียวกัน) คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๒๑/๒๕๑๘ ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนับเวลาที่เจ้าของเดิมเดินผ่านที่ดินติดต่อกันเพื่อได้ภารจำยอมเหนือที่ดินนั้นได้ ถ้าเลิกใช้ หากกลับมาใช้ใหม่ไม่ถึง ๑๐ ปี ยังไม่ได้ภารจำยอม การกลับมาเยี่ยมบ้านเดือนละ ๒-๓ ครั้ง ไม่เป็นการใช้ทางพิพาท
             คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๐๔/๒๕๓๙ ภารจำยอมก่อตั้งขึ้นสำหรับเจ้าของสามยทรัพย์ การที่ผู้เช่าที่ดินจากกระทรวงการคลังขนส่งไปรษณีย์ในกิจการของผู้เช่าผ่านที่ดินของผู้อื่น มิได้เป็นการใช้แทนหรือทำในนาม หรือเพื่อประโยชน์ของกระทรวงการคลัง แม้จะใช้มานานกว่า ๑๐ ปี ก็ไม่ก่อให้เกิดภารจำยอมแก่กระทรวงการคลัง
             คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๘๘/๒๕๔๑ โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งใช้ทางพิพาทยังไม่ถึง ๑๐ ปี แม้เจ้าของที่ดินแปลงอื่นได้ใช้ทางเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของเขาเกิน ๑๐ ปี แต่เมื่อมิได้ใช้เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ จึงนำระยะเวลาที่เจ้าของที่ดินแปลงอื่นใช้ประโยชน์ในทางนั้นมารวมเพื่อให้ที่ดินของโจทก์ได้ภารจำยอมโดยอายุความไม่ได้
             คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๐๑๓/๒๕๔๑ ภารจำยอมเหนือที่ดินแปลงหนึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินแปลงอื่นเท่านั้น เมื่อเดิมที่ดินของโจทก์และที่ดินของจำเลยที่ ๒ เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน โดยมี ฮ. และ บ. เป็นเจ้าของร่วมกัน แม้ ฮ.จะใช้ที่ดินส่วนหนึ่งเดินเกินกว่า ๑๐ ปี แล้วก่อนขายให้โจทก์ ก็ไม่ก่อให้เกิดภารจำยอมเหนือที่ดินของ ฮ. เอง การที่โจทก์ใช้ทางเดินนั้น โดยอาศัยสิทธิของ ฮ. ก่อนซื้อที่ดินจาก ฮ. ย่อมไม่ก่อให้เกิดภารจำยอมเหนือที่ดินดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้น การนับเวลาการได้ภารจำยอมโดยอายุความยังไม่เริ่มต้น จึงไม่อาจนำเวลาดังกล่าวนับรวมกันได้ ต่อมาเมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินออก และมีการโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นของโจทก์แปลงหนึ่งและของจำเลยที่ ๒ อีกแปลงหนึ่งแล้ว หลังจากกนั้นการใช้ทางส่วนที่ผ่านที่ดินของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นการใช้อสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปรปักษ์อันจะก่อให้เกิดภารจำยอมได้ อายุความที่จะได้ภารจำยอมต้องเริ่มนับตั้งแต่เวลาได้มีการแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ (มีคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒๒๓/๒๕๔๒ วินิจฉัยอย่างเดียวกัน)
         
            #ต้องการฟ้องคดีเรื่องภารจำยอม ติดต่อ ทนายความ 0986165819

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2563

การเพิกถอนการได้ทรัพยสิทธิทางทะเบียน ช่องทางได้ที่ดินคืน ทางแก้คนถูกเอาเปรียบ

การเพิกถอนการได้ทรัพยสิทธิทางทะเบียน
                   หลายคนคงเคยประสบกับปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น เรื่องมรดก ยังไม่ได้แบ่งแต่ผู้จัดการมรดก ได้โอนที่ดิน ขายให้คนอื่น หรือ ซื้อที่ดินมายังไม่ได้จดทะเบียนโอน แต่คนขายไปจดทะเบียนโอนให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือ มีกรณีใดๆ ลักษณะคล้ายกันนี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องแย่มาก ภาษาชาวบ้านเรียกว่า โดนโกงนั่นเอง ซึ่งในทางกฎหมาย ขออธิบายเป็นวิทยาทาน ดังต่อไปนี้
                   ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๐ บัญญัติว่า ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทนซึ่งผู้รับโอนกระทำโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนไม่ได้
                   มาตรานี้เป็นบทบัญญัติที่แก้ไขผ่อนคลายความศักดิ์สิทธิ์ของมาตรา ๑๒๙๙ วรรคแรก เพราะตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคแรก การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยนิติกรรม ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่บริบูรณ์ ไม่อาจถือว่าได้ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์อันจะใช้ยันต่อบุคคลภายนอกได้เลย แต่แม้กระนั้นก็ตามผู้นั้นก็ยังมีทางแก้ไขตาม มาตรา ๑๓๐๐ คือ ถ้าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์คนเดิมได้จดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไปให้บุคคลอื่น และบุคคลอื่นรับโอนไปโดยไม่สุจริตก็ดี หรือรับโอนโดยไม่เสียค่าตอบแทนก็ดี ผู้ที่ได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มาโดยไม่บริบูรณ์เพราะมิได้จดทะเบียนนั้น มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนนั้นได้ มาตรา ๑๓๐๐ นี้คล้ายกับมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองอยู่มากเพียงแต่ต่างกันดังนี้
                   ๑.มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง เป็นเรื่องเฉพาะผู้ได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมเท่านั้น แต่มาตรา ๑๓๐๐ เป็นเรื่องบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อน ซึ่งย่อมรวมทั้งผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ทั้งโดยนิติกรรม และโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมด้วย
                   ๒.มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง เป็นเรื่องยกขึ้นอ้างหรือต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยไม่เสียค่าตอบแทน หรือโดยไม่สุจริต หรือมิได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตเท่านั้น แต่มาตรา ๑๓๐๐ เป็นเรื่องเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนของผู้ที่รับโอนโดยไม่เสียค่าตอบแทน หรือรับโอนโดยไม่สุจริตทีเดียว
                   ที่ว่า มาตรา ๑๓๐๐ คล้ายกับ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองนั้น คล้ายกันตรงที่ว่า ถ้าบุคคลใดไม่อาจยกข้อต่อสู้บุคคลภายนอกตาม มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสองได้แล้ว บุคคลนั้นก็จะมาฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการโอนตามมาตรา ๑๓๐๐ มิได้ ทั้งนี้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๐๒/๒๕๐๐ ซึ่งวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์มิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครอง ย่อมไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้รับโอนที่พิพาทโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนโดยสุจริตได้ ฉะนั้นจึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างเจ้าของ และบุคคลภายนอกตามมาตรา ๑๓๐๐ ได้
บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนนั้น ได้แก่
                    (๑) บุคคลผู้ทำนิติกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แต่ยังมิทันได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายบัญญัติไว้ เช่น ซื้อที่ดินแต่ยังมิได้จัดการโอนทางทะเบียน ได้ชื่อว่าอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนแล้ว ทั้งนี้ตามตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาดังต่อไปนี้
                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๘๙/๒๔๙๑ โจทก์ซื้อเรือต่อขนาด ๖.๖๗ ตัน จากจำเลยที่ ๑ โดยทำหนังสือกันเอง และได้ชำระเงินแล้ว จำเลยที่ ๑ ได้มอบทะเบียนและเรือให้โจทก์แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ไปโอนแก้ทะเบียนที่กรมเจ้าท่า โจทก์ย่อมมีสิทธิในเรือลำนี้แล้ว ถ้าจำเลยที่ ๑ โอนทะเบียนให้จำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๒ รู้อยู่แล้วว่าเรือเป็นของโจทก์ โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนได้
                    คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๑๙/๒๔๙๔ ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับผู้ซื้อได้ชำระราคาแล้ว แต่ยังโอนกันมิได้ เพราะเจ้าพนักงานที่ดินส่งโฉนดไปยังกรมที่ดินเสีย ผู้ขายจึงมอบที่ดินให้ผู้ซื้อครอบครองไปพลางก่อนจนกว่ากรมที่ดินจะส่งโฉนดคืนมา จึงจะทำการโอนกัน ผู้ซื้อได้เข้าครอบครองมา ๔ ปีเศษแล้ว ถือว่าผู้ซื้ออยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตามมาตรา ๑๓๐๐ 
                    คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๕๔/๒๕๐๐ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาขายที่ดินให้โจทก์แล้ว แต่ยังมิได้ไปทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพราะการผัดผ่อนของจำเลยที่ ๑ ต่อมาจำเลยที่ ๑ สมคบกับจำเลยที่ ๒ โอนที่พิพาทให้จำเลยที่ ๒ กับบุตร ดังนี้โจทก์อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนแล้วตามมาตรา ๑๓๐๐ จึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนได้
                    คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๐๑๑/๒๕๔๐ จำเลยทั้งสามนำที่ดินของจำเลยที่ ๒ มาเป็นประกันการทุเลาการบังคับ โดยจำเลยที่ ๒ ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันไว้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินมิให้ทำนิติกรรมจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น แม้สัญญาค้ำประกันจะมีผลจนกว่าจะชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ครบถ้วนแต่ที่ดินดังกล่าวยังมิได้ถูกยึดหรืออายัด จึงไม่ต้องห้ามมิให้ยึดซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๐ กรมสรรพกรย่อมมีอำนาจยึดที่ดินของจำเลยที่ ๒ ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ค่าภาษีได้ การที่ผู้ร้องซื้อที่ดินและได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว จึงอยู่ในฐานะจดทะเบียนได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๐ และเมื่อกรมสรรพากรมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ผู้ร้อง แต่เจ้าพนักงานที่ดินมิอาจอำเนินการให้ได้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗(๑)
                     คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๗๕๒/๒๕๔๗ จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงยกที่ดินพร้อมบ้านส่วนของจำเลยที่ ๒ ให้แก่ผู้ร้อง โดยจะโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อผู้ร้องมีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ศาลพิพากษาตามยอมแล้ว ขณะยื่นคำร้องขอกันส่วนผู้ร้องมีอายุ ๒๔ ปี คำพิพากษาตามยอมจึงมีผลบังคับให้จำเลยที่ ๒ ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องจึงเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๐
                     แต่ถ้านิติกรรมที่ทำนั้นเป็นเพียงก่อให้เกิดบุคคลสิทธิ ซึ่งไม่ใช่สิทธิที่จะนำมาจดทะเบียนการได้มา เช่น ทรัพยสิทธิแล้ว บุคคลผู้ทำนิติกรรมนั้นยังไม่ถือว่าอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ เช่น ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน ผู้จะซื้อไม่มีสิทธิที่จะไปจดทะเบียนการซื้อขายได้โดยตรง เพียงแต่มีสิทธิบังคับให้ผู้จะขายทำสัญญาซื้อขายให้เท่านั้นจึงจะให้มีการจดทะเบียนการซื้อขายกันต่อไป ดังนั้นผู้จะซื้อจึงไม่ถือว่าอยู่ในฐานะจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อน
                     คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๗๔/๒๔๙๐ ผู้ที่ฟ้องขอให้เพิกถอนตามมาตรา ๑๓๐๐ จะต้องแสดงว่าตนอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้ เพียงแต่ได้ความว่าทำสัญญาจะซื้อขายและวางมัดจำไว้ ไม่เรียกว่าอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนตามมาตรา ๑๓๐๐
                     คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๐๑/๒๔๙๗ สัญญาจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นเพียงบุคคลสิทธิ หามีทรัพยสิทธิติดตามตัวทรัพย์เอากลับคืนจากบุคคลภายนอกได้ไม่ และไม่เป็นสิทธิที่จะจดทะเบียนได้ จึงไม่มีสิทธิจะฟ้องให้เพิกถอนการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่บุคคลอื่นได้จดทะเบียนไว้แล้วตามมาตรา ๑๓๐๐
                     คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๙๗๙ ถึง ๔๙๘๒/๒๕๓๙ ล.เจ้ามรดกทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินไวว้กับโจทก์ก่อนที่ ล. จะถึงแก่ความตาย โจทก์จึงมีเพียงบุคคลสิทธิ ยังไม่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนที่จะฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๑ และ จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ล.กับจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรม
                     แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีเพียงบุคคลสิทธิ เช่น ผู้จะซื้อแม้จะขอให้เพิกถอนการโอนทางทะเบียนตามมาตรา ๑๓๐๐ มิได้ก็ตามแต่ก็อาจขอให้เพิกถอนการโอนนั้นได้ตามมาตรา ๒๓๗ ซึ่งเป็นเรื่องเจ้าหนี้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้ทำลงโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๘๐/๒๕๐๒ และ ๓๔๕๔/๒๕๓๓ ซึ่งวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ รู้ดีแล้วว่าจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์และรับเงินค่าที่ดินบางส่วนไปแล้ว ยังรับโอนที่ดินจากจำเลยที่ ๑ ดังนี้ ถือว่าทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ขอให้เพิกถอนการโอนได้ตาม มาตรา ๒๓๗
                     คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๐/๒๕๑๖ จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินและบ้านจาก ม. แต่ยังชำระราคาไม่ครบ จำเลยจึงมิใช่ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม มาตรา ๑๓๐๐ คดีของจำเลยต้องด้วยมาตรา ๒๓๗
                     นอกจากที่กล่าวแล้ว กรณีที่ตกลงกันโอนที่ดินชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้ก็อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตาม มาตรา ๑๓๐๐ เช่นกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๐๙/๒๕๔๔)
                     (๒) บุคคลผู้ได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมแต่ยังมิได้จดทะเบียนการได้มาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง เช่น ได้ที่ดินมาโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา ๑๓๘๒ หรือโดยการรับมรดกตามมาตรา ๑๕๙๙ เป็นต้น แม้จะยังไม่จดทะเบียนก็ถือว่าอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนแล้ว เช่น
                     คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๖๙/๒๔๘๗ รับมรดกปกครองที่ดินร่วมกันมา ผู้รับมรดกคนหนึ่งโอนที่ดินมรดกทั้งหมดให้บุตรโดยไม่สุจริตผู้รับมรดกอื่นฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนได้ตาม มาตรา ๑๓๐๐ และ ๑๓๕๙
                     คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒/๒๔๙๐ ซื้อที่ดินและครอบครองเป็นเจ้าของมาเกิน ๑๐ ปี แม้จะไม่ได้แก้ทะเบียนโอนโฉนดกัน ก็ถือว่าผู้นั้นอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินนั้นโดยไม่สุจริตได้ตามมาตรา ๑๓๐๐ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๘๖/๒๕๓๖ ก็วินิจฉัยอย่างเดียวกัน)
                     คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๙๑/๒๕๔๘ โจทก์ จำเลยที่ ๑ และทายาทอื่นครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกร่วมกันมา การที่จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งมิใช่ทายาทโดยไม่มีค่าตอบแทน โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนเฉพาะส่วนของโจทก์ได้ตามมาตรา ๑๓๐๐
                     เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่มีสิทธิรับโอนอสังหาริมทรัพย์ ก็อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อน เช่น 
                     คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๗๖/๒๔๙๕ สิทธิของผู้จะซื้อที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายนั้น เมื่อนำคดีมาสู่ศาลจนศาลพิพากษาให้ผู้จะขายโอนขายที่ดินให้แก่ผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อขายนั้นแล้ว แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุดก็อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา ๑๓๐๐ แล้ว ฉะนั้น ถ้าผู้จะขายขายที่ดินนั้นแก่ผู้อื่นไปในระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดโดยผู้ซื้อไม่สุจริตแล้ว ผู้จะซื้อมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นเสียได้ตามมาตรา ๒๓๗ และ ๑๓๐๐
                     คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๖๑/๒๕๑๗ เดิมผู้ร้องฟ้องจำเลยให้โอนที่ดินให้ผู้ร้อง ศาลพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินให้ผู้ร้องแล้ว ต่อมาโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยได้ยึดที่ดินนั้นเพื่อชำระหนี้ ผู้ร้องจึงขอให้ศาลเพิกถอนการยึดทรัพย์ ดังนี้ แม้ที่ดินยังมีชื่อจำเลยในโฉนด ผู้ร้องก็มีสิทธิที่จะจดทะเบียนการได้มาก่อนโจทก์ ผู้ร้องจึงขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินได้ตามมาตรา ๑๓๐๐
                      คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๖๖/๒๕๒๐ ผู้ร้องซื้อที่ดินและตึกแถวจากโจทก์ ต่อมาผู้ร้องฟ้องโจทก์ ศาลพิพากษาตามยอมให้โจทก์โอนที่ดินให้ผู้ร้อง แต่โฉนดอยู่ที่จำเลยโดยโจทก์ให้จำเลยยึดไว้ต่างหนี้ จำเลยทำยอมความกับโจทก์ว่าจะคืนโฉนดเมื่อโจทก์ชำระหนี้ โจทก์ผิดนัด จำเลยจึงยึดที่ดินตามยอมทำการบังคับคดี ดังนี้ผู้ร้องอยู่ในฐานะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อน การบังคับคดีของจำเลยไม่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๘๗
                      คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๐๗/๒๕๓๒ แม้โจทก์ยึดที่พิพาทก่อนศาลพิพากษาให้จำเลยโอนขายที่พิพาทให้ผู้ร้อง แต่ต่อมาเมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยโอนขายที่พิพาทให้ผู้ร้อง ย่อมถือว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้อยู่ก่อนตามมาตรา ๑๓๐๐ หากยังไม่มีการขายทอดตลาดที่พิพาท ผู้ร้องย่อมขอให้เพิกถอนการยึดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๗
                      คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๖๘/๒๕๔๐ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดในคดีนี้ โดยอ้างสิทธิตามคำพิพากษาในคดีก่อนซึ่งพิพากษาว่า ให้จำเลยแบ่งแยกโฉนดที่ดินส่วนที่เป็นของ ศ.ออกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ๙๒ ไร่ ให้แก่ผู้ร้อง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยรับเงินส่วนที่เหลือ ๖,๔๓๗,๔๘๐ บาท จากผู้ร้อง หากจำเลยไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ให้ชดใช้เงินค่าปรับรวม ๓,๘๔๒,๕๒๐ บาท คำพิพากษาดังกล่าวให้สิทธิแก่ผู้ร้องมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและมีสิทธิที่จะบังคับคดีตามขั้นตอนในคำพิพากษา หาใช่ให้สิทธิแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะเลือกปฏิบัติไม่ เมื่อผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเกี่ยวกับที่ดินที่ยึดไว้ดังกล่าว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนเกี่ยวกับที่ดินอันเป็นทรัพย์ที่ยึดนั้นได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๐ มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินอันเป็นทรัพย์ที่ยึดได้(คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๒๐๕/๒๕๔๓ ก็วินิจฉัยอย่างเดียวกัน)
                       เจ้าของกรรมสิทธิ์นั้นถือว่ามิใช่ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนดังที่บัญญติไว้ในมาตรา ๑๓๐๐ ฉะนั้น ผู้รับโอนจะอ้างว่าเสียค่าตอบแทนและรับโอนโดยสุจริต มาใช้ยันต่อเจ้าของเพื่อให้ได้สิทธิตามาตรา ๑๓๐๐ มิได้ ทั้งนี้ตามแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๐๔๙/๒๔๙๒ ซึ่งข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า มีผู้ปลอมตัวเป็นโจทก์และเซ็นชื่อปลอมเป็นโจทก์ทำสัญญาจำนองที่ดินของโจทก์ไว้แก่จำเลยผู้รับจำนองโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจำนอง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มิใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ แต่เป็นผู้จดทะเบียนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่แล้ว จะนำมาตรา ๑๓๐๐ มาใช้แก่กรณีนี้มิได้ การจำนองเป็นไปโดยสำคัญผิดในตัวบุคคลเป็นโมฆะ จึงให้เพิกถอนการจำนอง
                       ถ้าเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมดัวยกัน กรณีก็ไม่อยู่ในบทบังคับของมาตรา ๑๓๐๐ เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๗๕/๒๔๙๒ ซึ่งวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๑ มีชื่อในโฉนดที่นาร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์ที่ ๒ ซื้อที่นาเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ ๑ จึงมีชื่อในโฉนดร่วมกับจำเลย โจทก์ที่ ๒ ฟ้องจำเลยขอให้แบ่งนาพิพาทให้ครึ่งหนึ่ง จำเลยต่อสู้ว่าส่วนของจำเลยมีมากกว่าครึ่งหนึ่งและได้ครอบครองเป็นส่วนสัดกันมา ดังนี้มิใช่กรณีตามมาตรา ๑๓๐๐ แต่เป็นปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์รวมตามมาตรา ๑๓๕๗
                       ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนจะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ได้ก็ต่อเมื่อ
                       1.การจดทะเบียนการโอนนั้น ทำให้ตนเสียเปรียบ
                       2.ผู้รับโอนรับโอนไปโดยไม่มีค่าตอบแทน หรือถ้าเป็นการโอนโดยมีค่าตอบแทน ผู้รับโอนก็กระทำการโดยไม่สุจริต
                       อย่างไรเรียกว่าทำให้ตนเสียเปรียบนั้น ย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ ไป ตามธรรมดาการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ไปให้ผู้อื่น ย่อมถือว่าทำให้ผู้ที่อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบเสมอ แต่ถ้าเป็นการโอนทรัพยสิทธิคนละประเภทกับทรัพยสิทธิของผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนแล้ว ย่อมไม่ถือว่าทำให้เสียเปรียบ เช่น ได้ภารจำยอมมาโดยอายุความตามมาตรา ๑๔๐๑ และ ๑๓๘๒ แต่ยังมิได้จดทะเบียน เจ้าของภารยทรัพย์โอนกรรมสิทธิ์ในภารยทรัพย์ให้บุคคลอื่นไปเช่นนี้ ย่อมไม่ทำให้ผู้ได้ภารจำยอมเสียเปรียบแต่อย่างใด เพราะภารจำยอมย่อมติดไปกับภารยทรัพย์ด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๐๐/๒๕๐๒) ฉะนั้น ผู้ได้ภารจำยอมจะขอให้เพิกถอนการโอนอสังหาริมทรัพย์นั้นตามมาตรา ๑๓๐๐ มิได้
                       อย่างไรถือว่ามีค่าตอบแทน หรือทำการโอนโดยสุจริตนั้น อาศัยหลักเดียวกับ มาตรา ๑๒๙๙ 
                       มาตรา ๑๓๐๐ บัญญัติแต่เรื่องการโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตเท่านั้น มิได้บัญญัติว่าต้องจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตด้วย แต่ก็ต้องเป็นที่เข้าใจว่าเนื่องจากการโอนตามมาตรา ๑๓๐๐ เป็นการโอนโดยการจดทะเบียน ฉะนั้น ข้อความที่ว่าผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น จึงต้องหมายความอยู่ในตัวว่าความสุจริตนั้น ต้องมีอยู่ในขณะโอน คือขณะจดทะเบียนด้วย
                       ถ้าผู้รับโอนรับโอนโดยเสียค่าตอบแทนและกระทำการโดยสุจริตแล้ว ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อน ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนได้ คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๙๙-๑๔๐๐/๒๔๙๖ ภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของชาย อยู่กินกันมานาน เมื่อชายตายหญิงเชื่อว่าตนมีสิทธิรับมรดก จึงขอรับมรดกโฉนดที่ดินแล้วโอนขายให้บุคคลภายนอกผู้ซื้อโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ทายาทของชายจะขอให้เพิกถอนมิได้
                       มาตรา ๑๓๐๐ เป็นเรื่องการโอนอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แต่มี คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๗๙/๒๔๗๙, ๑๐๔๖/๒๔๘๐ และ ๓๙๔/๒๕๓๔ วินิจฉัยว่าการจำนองก็อยู่ในบทบัญญัติมาตรา ๑๓๐๐ ซึ่งอาจจะขอให้เพิกถอนได้เช่นกัน
                       
                       
                      
                    
                  
                 
                    

วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

หมาย ศาล คดีแพ่ง

เมื่อได้รับ หมายศาลคดีแพ่ง แล้วต้องทำอย่างไร
           
             1.อ่านรายละเอียดในหมายให้ละเอียดเริ่มจากมุมบนขวา ไปจนถึงมุมล่างซ้ายทุกคำมีความหมาย เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดูว่าหมายเป็นหมายอะไร ระหว่างใคร กับใคร  ออกหมายถึงใคร ให้ทำอะไร เป็นต้น
             2.หมายศาลมีหลายอย่าง เช่น หมายเรียก หมายนัด  หมายเรียกพยานบุคคล คำสั่งเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ หมายคำบังคับ  ฯลฯ  การปฏิบัติจะแตกต่างกัน หากไม่เข้าใจความหมาย ควรปรึกษาทนายความผู้มีวิชาชีพ ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ตัวอย่างเช่น หมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ต้องยื่นคำให้การภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหรือถือว่าได้รับหมายเรียก เป็นต้น
             3.ไม่ควรคิดว่า ได้รับหมายศาลแล้วไม่เป็นไร คงไม่มีใครทำอะไร เพราะหมายศาลเป็นกระบวนพิจารณาคดีเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในคดี หากได้รับหมายแล้วดำเนินการไม่ถูกต้องจะทำให้แพ้คดีได้เลย บางครั้งกฎหมายเพียงข้อเดียวแต่เป็นเส้นผมบังภูเขาที่ทำให้คนที่ประมาทพลาดพลั้ง ต้องแพ้คดีไปโดยไม่รู้ตัว

     รูปที่ 1  ตัวอย่างหมายเรียก ที่มาพร้อมกับสำเนาคำฟ้อง 
                               
           
                      1.คือ ชนิดของหมาย เช่น หมายเรียกแพ่งสามัญ หมายเรียกคดีผบ. เป็นต้น
                      2.คือ คู่ความที่เกี่ยวข้องในคดี โจทก์ จำเลย
                      3.คือ ตัวบุคคลที่ศาลหมายถึง
                      4.คือ คำสั่งศาล เกี่ยวกับการดำเนินการต่อไป
                      5.คือ รายละเอียดการรับหมาย ใครเป็นคนรับ ใครเป็นคนส่ง


         ในคดีแพ่งสามัญ สังเกตุตรงตำแหน่งที่ 1 ตามกฎหมายเมื่อบุคคลใดกล่าวหาว่า ถูกบุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง โต้แย้งสิทธิในทางแพ่ง เช่น ทำผิดสัญญา ทำละเมิด ก็จะไปยื่นฟ้องที่ศาล เมื่อศาลรับคำฟ้องฝ่ายที่ยื่นฟ้องเรียกว่า โจทก์ ส่วนฝ่ายที่ถูกฟ้องจะเรียกว่าจำเลย กระบวนการต่อไปคือ เจ้าหน้าที่่ศาลจะส่งหมายเรียก และสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลย เพื่อให้จำเลยทราบการถูกฟ้อง การส่งหมายโดยทั่วไปมี 2 รูปแบบ คือ ส่งได้โดยจำเลยรับหมายด้วยตนเอง กับ ส่งโดยวิธีอื่น เช่น ปิดหมาย การรับหมายทั้งสองรูปแบบมีผลทางกฎหมายแตกต่างกัน บุคคลที่ถูกหมายถึงในหมาย ไม่ควรประมาท คิดว่าคงไม่เป็นไร ไม่รับหมายไม่มีใครทำอะไรได้ ไม่รู้หรือคิดไปเองว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เพราะเมื่อ เจ้าหน้าที่ส่งหมายไปตรวจสอบพบบ้านเลขที่ตรงตามที่ระบุในทะเบียนราษฎร หากไม่มีผู้ใดรับหมาย ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด เจ้าหน้าที่จะทำการปิดหมายไว้ที่บ้านเลขที่นั้น ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การปิดหมายจะถือว่ามีผลเมื่อระยะเวลาครบสิบห้าวันนับแต่วันปิด เมื่อครบสิบห้าวันกฎหมายได้ปิดปากไว้แล้วถือว่า บุคคลที่ถูกหมายถึงในหมายทราบว่าถูกฟ้องแล้ว ซึ่งจะต้องยื่นคำให้การภายในสิบห้าวัน
           ในคดีผู้บริโภค ในหมายจะเขียนไว้ในตำแหน่งที่ 1 ว่า ผบ.ซึ่งการปฏิบัติจะแตกต่างจากคดีแพ่งสามัญ โดยเมื่อได้รับหมายแล้ว จะมีเวลายื่นคำให้การได้ภายในวันที่ระบุไว้ในหมาย โดยไม่จำต้องยื่นภายในกำหนดสิบห้าวันเหมือนคดีแพ่งสามัญ
         
           จะเห็นได้ว่ารายละเอียดต่างๆ ในหมายศาล ได้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายอย่างเป็นระบบแล้ว จำต้องศึกษากฎหมายอย่างละเอียด และเข้าใจ และมีประสบการณ์ จึงจะดำเนินการตามกฎหมายได้ถูกต้อง การถูกฟ้องคดี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีทนายความผู้มีวิชาชีพ ให้คำปรึกษา และหาทางออก เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ถูกต้อง ต่อเนื่อง เป็นธรรม ไม่ปล่อยไก่หลุดออกไป 

            ***ติดต่อสำนักงานทั่วราชอาณาจักรโทร 0929501440  หรือที่ไลน์ไอดี   pnek***   

Add Friend


       
                     
                     
           
               

ยืม เงิน แล้ว ไม่ คืน

วิธี แก้เผ็ด คนที่ยืมเงินแล้วไม่คืน
           
        ตอนขอยืมพูดดีมาก แต่พอไปตาม เดี๋ยวจะให้วันนั้น วันนี้ จนทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้เงินคืน เสียความเป็นเพื่อน พี่ น้อง ญาติ ไปเลย ยืม เงิน แล้ว ไม่ คืน นี้เป็นปัญหาระดับชาติ มาหาทางแก้ปัญหากันดีกว่า
            คงต้องติดต่อสำนักงานทนายความสักแห่ง เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องดังนี้
            ในทางแพ่ง  ทนายความอาจส่งหนังสือบอกกล่าว หรือ notice ให้อีกฝ่ายหนึ่งนำเงินมาชำระหนี้ หากอีกฝ่ายไม่ปฏิบัติตามก็ต้องฟ้องศาลต่อไป หรือทนายบางท่านอาจจะฟ้องศาลเลย เพราะอาจจะใกล้หมดอายุความแล้ว เพราะคดีแพ่งหากอีกฝ่ายไม่ชำระหนี้ต้องใช้คำพิพากษาของศาลจึงจะสามารถบังคับคดียึดทรัพย์ของอีกฝ่ายมาขายทอดตลาด แล้วนำเงินที่ขายได้นั้นมาชำระหนี้ให้เราได้
             ในทางอาญา ถ้าปรากฏว่า สืบทราบว่า อีกฝ่ายหนึ่งมีการ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไป ซึ่งทรัพย์สินของตน เพื่อไม่ให้ผู้ให้กู้ยืมได้รับชำระหนี้ ก็อาจมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ซึ่งมีโทษทางอาญา ด้วย เมื่อดำเนินคดีอาญา อีกฝ่ายอาจร้อนตัว เอาเงินมาชำระหนี้ ก็ถือว่าดีไป
             ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐ ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่ บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
         เตรียมหลักฐานดังนี้
                  1.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
                  2.สำเนาทะเบียนบ้าน
                  3.สำเนาสัญญากู้ยืมเงิน และ ค้ำประกัน


 ปรึกษาทนายความ แอดไลน์เลย
          
       

ส ค 1 ออก โฉนด

      ส ค 1 ออกเป็นโฉนด มีเอกสาร และขั้นตอนดังนี้
        1.หลักฐาน ส.ค.1
      2.หลักฐาน การได้มาซึ่งที่ดิน  เช่นสัญญาซื้อขาย สัญญาให้ เป็นต้น
      3.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
      4.สำเนาทะเบียนบ้าน
      5.ภาพถ่ายที่ดิน
      6.หลักฐานอื่นๆ ตามที่สำนักงานจะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

        ***หากหาเอกสารไม่พบ  ทางสำนักงานมีบริการคัดถ่ายให้***

  
                                  ***ค่าจ้าง ตามตกลง***   
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ส ค 1 คือ แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ซึ่งผู้แจ้งได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน ว่าผู้แจ้งได้ครอบครองที่ดินนั้นอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ซึ่งผู้แจ้งการครอบครองที่ดินตามหลักฐาน ส.ค.1 ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่ผู้แจ้งมีสิทธิครอบครอง ซึ่งตามกฎหมายมีสิทธิใช้สอยที่ดิน ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครอง เรียกเอาคืนการครอบครองจากผู้ที่แย่งการครอบครอง และมีสิทธิโอนการครอบครองได้ ส่วนการทำนิติกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหรือโอนที่ดิน ส ค 1 สามารถทำได้โดยการส่งมอบการครอบครองแก่กัน โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ขอ เป็น ผู้จัดการ มรดก

ขอ เป็น ผู้จัดการ มรดก
        เมื่อบุคคลใดตาย หรือถือว่าตายตามกฎหมาย ทรัพย์สินต่างๆ เช่น ที่ดิน บ้าน รถยนต์ ห้องชุด เงินในธนาคาร ทอง หุ้น หรือทรัพย์สินต่างๆ ที่บุคคลนั้นมีอยู่ก่อนหรือ ในขณะถึงแก่ความตาย ย่อมตกเป็นมรดก ตกทอดแก่ทายาทตามกฎหมาย หากทรัพย์มรดกมีค่ามาก และ ทายาทมีหลายคน อาจจะต้องประสบปัญหาในการปันทรัพย์มรดก ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่อง ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการปันทรัพย์มรดก จึงควรมีผู้จัดการมรดก เป็นผู้ดำเนินการปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท จึงมีความจำเป็นต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกเสียก่อน
         
         โดยท่านผู้ชม เพียงแต่เตรียมเอกสารให้พร้อมดังนี้ นะครับ
         
         1.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 2 ชุด
         2.สำเนาทะเบียนบ้าน 2 ชุด
         3.หลักฐานการสมรสของบิดามารดา กรณีรับมรดกของบิดา
         4.สำเนาใบมรณบัตรของคนตาย
         5.สำเนาเกี่ยวกับ มรดกของผู้ตาย เช่น โฉนดที่ดิน, นส.๓,  ส.ค.๑, สมุดบัญชีธนาคาร, คู่มือทะเบียนรถ 
         6.หนังสือยินยอมของทายาท
              
         โดยเอกสารทุกอย่างหากหาไม่พบ ทาง สำนักงานเน็กลอว์ทนายความ มีบริการคัดถ่ายให้ 
    
         เมื่อเตรียมเอกสารพร้อมแล้ว สามารถติดต่อทนายความ เพื่อดำเนินการที่เบอร์โทร  
         098-6165819 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั่วราชอาณาจักร

...............................................................................................................................................................

     
       

วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2563

สิทธิครอบครองและการครอบครองปรปักษ์

สิทธิครอบครองและการครอบครองปรปักษ์

            สิทธิครอบครอง คือ สิทธิที่จะยึดถือทรัพย์สินไว้เพื่อตน ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๖๗ ว่า "บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง"
            สิทธิครอบครองเป็นสิทธิส่วนหนึ่งของกรรมสิทธิ์และเป็นสิทธิที่มีความยิ่งใหญ่รองจากกรรมสิทธิ์ เจ้าของสิทธิครอบครองมีอำนาจใช้สอยทรัพย์ ให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครอง เรียกเอาคืนซึ่งการครอบครอง ได้ดอกผล และโอนสิทธิครอบครองได้ คล้ายกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทั้งเป็นสิทธิที่ใช้ยันต่อบุคคลอื่นได้ทั่วไป
            การจะได้สิทธิครอบครอง ต้องครบองค์ประกอบ 2 อย่างคือ
            1.มีการยึดถือทรัพย์สิน
            2.มีเจตนายึดถือเพื่อตน
         
            การยึดถือทรัพย์สิน  คือ ได้เข้าครอบครองทรัพย์สินไว้เท่านั้น และการยึดถือนี้ไม่จำเป็นจะต้องยึดถือ หรือครอบครองทรัพย์สินนั้นไว้ด้วยตนเอง ผู้อื่นยึดถือหรือครอบครองแทนก็เป็นการยึดถือได้ดังที่ มาตรา ๑๓๖๘ บัญญัติว่า
            "บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้"
             ตัวอย่าง เช่น นาย ก ไปกู้เงิน นาง ข โดยนำที่นามอบไว้ นาง ข ทำกินต่างดอกเบี้ย  ถือว่า  นาย ก เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง  ส่วนนาง ข เป็น ผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินแทนนาย ก เป็นต้น
             คำว่า "ครอบครอง" ต่างจาก "สิทธิครอบครอง"
             ครอบครอง เป็นคำธรรมดาสามัญ หมายถึงกิริยาเข้ายึดถือทรัพย์สิน ตามตัวอย่าง นาง ข. เข้าทำนาก็ได้ชื่อว่า นาง ข.ยึดถือนา  แต่จะเรียกว่า นาง ข.มีสิทธิครอบครองอันเป็นทรัพยสิทธิตามกฎหมายในนานั้นยังไม่ได้ จนกว่า นาง ข จะยึดถือนานั้น เพื่อตนเอง  และที่สำคัญ นาง ข ต้องบอกกล่าว เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยัง นาย ก ด้วย จึงจะได้สิทธิครอบครอง
             เจตนายึดถือทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อตน  หมายความว่ามีเจตนาที่จะยึดถือ ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์ของตนเอง เช่น กู้เงินแล้วมอบที่ดินมือเปล่าให้เจ้าหนี้ทำกินต่างดอกเบี้ย โดยสัญญาว่าถ้าไม่ชำระภายในกำหนดยอมให้ผู้ให้กู้ยึดเอาที่ดินไว้โดยผู้กู้ไม่เกี่ยวข้อง ดังนี้ถ้าไม่ชำระหนี้ตามกำหนดถือว่าผู้ให้กู้ได้ยึดถือที่นาเพื่อตนแล้ว และเป็นการแย่งการครอบครอง เมื่อเกิน ๑ ปี ผู้กู้จึงฟ้องเรียกคืนมิได้ ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ผู้ใดมียึดถือโดยเจตนายึดถือเพื่อตนหรือไม่ ต้องสันนิษฐานว่าผู้ที่ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้มีเจตนายึดถือเพื่อตน เป็นหน้าที่ของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งต้องนำสืบหักล้าง
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๗๖ ถึง ๑๐๗๙/๒๕๑๐ ผู้ไม่มีสิทธิในที่ดินแม้จะไปแจ้งการครอบครองจนได้ ส.ค.๑ และได้รับ น.ส.๓ แล้ว ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองในที่ดินนั้น ผู้ที่ซื้อโดยสุจริต และจดทะเบียนแล้วก็ไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินนั้น
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๑๙/๒๕๑๔ การแจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอ(แจ้ง ส.ค.๑) หาใช่เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าผู้แจ้งการครอบครองเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินนั้นเสมอไปไม่
             ปพพ. มาตรา ๑๓๖๙ บัญญัติว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๕๙/๒๔๘๑, ๘๗๐/๒๔๘๖, ๑๒๐๘/๒๔๙๑ และ ๑๙๖๙/๒๔๙๔ วินิจฉัยว่า กู้เงินแล้วมอบที่ดินมือเปล่าให้เจ้าหนี้ทำกินต่างดอกเบี้ย โดยสัญญาว่าถ้าไม่ชำระภายในกำหนดยอมให้ผู้ให้กู้ยึดเอาที่ดินไว้โดยผู้กู้ไม่เกี่ยวข้อง ดังนี้ถ้าไม่ชำระหนี้ตามกำหนดถือว่าผู้ให้กู้ได้ครอบครองที่นาเพื่อตนแล้ว เมื่อเกิน ๑ ปี ผู้กู้จึงฟ้องเรียกคืนมิได้
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๔๕/๒๕๑๘ ที่ป่าสงวนก็มีสิทธิครอบครองได้และมีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ที่ขออาศัยทำไร่ได้
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๖๖/๒๕๒๓ ที่ดิน ๖๐-๗๐ ไร่ โจทก์เพียงแต่เข้าไปตัดฟืนเผาถ่านเล็กน้อยเป็นครั้งคราว เอาโคเข้าไปเลี้ยง ไม่พอฟังว่าได้สิทธิครอบครอง
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๓๓๐/๒๕๒๕ การครอบครองทรัพย์มรดกในฐานะทายาทและฐานผู้จัดการมรดก ถือเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จะยกอายุความตามมาตรา ๑๗๕๔ มาใช้มิได้
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๐๔/๒๕๓๒ ก่อนเจ้ามรดกตายได้พูดยกที่ดินมือเปล่าให้บุตรแต่ละคน โดยบุตรคนใดปลูกบ้านอยู่ในที่ดินส่วนใดก็ให้ที่ดินส่วนนั้น โจทก์ครอบครองปลูกบ้านอยู่ในที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของ แม้ต่อมาจำเลยจะไปขอรับมรดกที่พิพาทและขอออก น.ส.๓ เมื่อโจทก์ยังครอบครองที่พิพาทตลอดมา จำเลยก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ในที่พิพาท
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๔๔/๒๕๒๐ จำเลยฝากนาไม่มีหนังสือสำคัญไว้กับน้อง น้องขายนานั้นให้แก่โจทก์ โจทก์ครอบครองมา ๓ ปี ถือว่าเป็นการครอบครองแทนจำเลย โจทก์ไม่ได้สิทธิครอบครองในนานั้น
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๑๖/๒๕๑๙ ผู้คัดค้านเป็นผู้ใช้สิทธิครอบครองที่พิพาท การที่ผู้ร้องถือโฉนดและเสียภาษีบำรุงท้องที่ และเข้าไปตัดฟืนเป็นครั้งคราว ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครองในที่พิพาท
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๘/๒๕๑๙ ผู้ร้องทำสัญญาจะขายที่ดิน ส.ค.๑ ให้จำเลยโดยยอมให้จำเลยครอบครองไปก่อนได้ และยอมให้ที่ดินนี้เป็นประกันเงินกู้ที่ผู้ร้องกู้จำเลย ดังนี้ถือว่าจำเลยยึดถือที่ดินแทนผู้ร้อง แม้จำเลยชำระราคาครบถ้วนแล้ว ก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๐๕/๒๔๘๑ วินิจฉัยว่า ที่จะอ้างว่าได้สิทธิครอบครองทรัพย์สินนั้น จะต้องปรากฏว่าได้ครอบครองทำประโยชน์เหมาะสมกับสภาพของทรัพย์สินและอัตภาพของตน มิฉะนั้นไม่แสดงว่ามีเจตนายึดถือเพื่อตน ที่ดินกว้าง ๒-๓ เส้นในป่าไม้ขึ้นเต็มคง ให้กระบือนอนทำแอ่งน้ำไว้ แล้วจึงตกกล้า ไม่ถือว่าได้สิทธิครอบครอง
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๑๕/๒๕๐๗ และ ๒๖๘/๒๕๐๘ ครอบครองที่พิพาทในระหว่างเป็นความกัน จะอ้างว่ายึดถือเพื่อตนมิได้ แม้ศาลฎีกาพิพากษาแล้วจะยังคงครอบครองต่อมาก็เป็นการครองครองสืบต่อต่อมาในระหว่างคดี ถือว่าครอบครองแทนผู้ชนะคดีไม่ได้สิทธิครอบครอง เว้นแต่จะบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา ๑๓๘๑
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๓๘/๒๔๙๙ เป็นเจ้าของหนองน้ำใช้สิทธิจับปลาแต่ในฤดูจับปลาเพียง ๓ เดือนในปีหนึ่ง ส่วนนอกฤดูจับปลาปล่อยให้ผู้อื่นทำนาตามขอบหนอง ดังนี้ถือว่าเจ้าของหนองยังครอบครองขอบหนองอยู่ และผู้ทำนาก็ยังถือมิได้ว่าเจตนายึดถือเพื่อตน
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๓๖-๘๓๗ /๒๔๙๗ เพียงแต่ปลูกต้นสาคูลงในลำห้วยังไม่เป็นการครอบครองที่ป่าตามใบเหยียบย่ำ ไม่มีอำนาจฟ้องบุกรุก
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๓๔๔-๔๓๕๐/๒๕๓๒ กระทรวงมหาดไทยจัดสรรที่ให้จำเลย โจทก์แย่งการครอบครองที่ดินนั้นในระหว่างที่ทางราชการดำเนินการเพื่อออกหลักฐานเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินให้จำเลยดังนี้ถือว่าเป็นการยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙ แม้โจทก์จะครอบครองมานานเพียงใดก็ไม่มีอำนาจฟ้องห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่พิพาท หรือให้จำเลยถอนคำขอออก น.ส.๓ ก.
           
             แม้ว่ามาตรา ๑๓๖๙ ยัญญัติไว้ว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน แต่ถ้าทรัพย์สินที่ยึดถือนั้น เป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มีการจดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน เช่น ที่ดินที่มีโฉนดหรือตราจอง จะสันนิษฐานจะต้องสันนิษฐานว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง โดยมีหลักกฎหมายตาม ปพพ.มาตรา ๑๓๗๓
              ปพพ.๑๓๗๓ ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
              คำว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนตามมาตรา ๑๓๗๓ คือ บุคคลที่มีชื่อในโฉนดทุกประเภท และ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือ น.ส.๓ ทุกประเภท
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๗๖/๒๕๒๐  ที่ดินที่มีทะเบียน น.ส.๓ น.ส.๓ ก. ถือว่ามีทะเบียนที่ดินแล้ว บุคคลที่มีชื่อในทะเบียนที่ดินนั้น ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามมาตรา ๑๓๗๓
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๓๔๓/๒๕๓๙ และ ๕๑๓๒/๒๕๓๙ วินิจฉัยว่า ที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้ว ถือว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนที่ดิน
              ในเรื่องทะเบียนที่ดินประเภทที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ ตามปกติผู้ที่มีชื่อในทะเบียนที่ดินย่อมเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น แต่ผู้มีกรรมสิทธิ์อาจไม่ได้ยึดถือครอบครองที่ดินเอง โดยการยึดถือครอบครองอาจไปตกอยู่แก่บุคคลอื่นได้ ในเมื่อผู้มีกรรมสิทธิ์มิได้ยึดถือที่ดินไว้ เช่น เจ้าของที่ดินมีโฉนดนำที่ดินนั้นให้ผู้อื่นเช่า ผู้เช่าเป็นผู้ยึดถือที่ดินนั้นแทนเจ้าของ หากผู้เช่านำสืบไม่ได้ว่า ได้ยึดถือที่ดินนั้นโดยเจตนายึดถือเพื่อตน จะต้องถือตามกฎหมายที่ให้สันนิษฐาน ว่า ผู้มีชื่อในโฉนดเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
              การครอบครองทรัพย์สินแทนผู้อื่น และ การเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ เป็นยึดถือเพื่อตน
              ตาม ปพพ.มาตรา ๑๓๘๑ บัญญัติว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองบุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่า ไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก
              บุคคลที่ยึดถือทรัพย์สิน คือ บุคคลที่เข้าใช้ประโยชน์ในตัวทรัพย์สินนั้นโดยตรง
              ผู้ครอบครอง คือ ผู้มีสิทธิครอบครอง อันเป็นทรัพยสิทธิ
              การเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ นั้น จะบอกกล่าวด้วยวาจา ด้วยหนังสือ หรือด้วยอากัปกิริยาอย่างใดอันแสดงให้อีกฝ่ายรู้ว่าได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ก็ได้ เช่น จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยในที่ดินโจทก์ เมื่อโจทก์นำรังวัดที่พิพาทเพื่อออกโฉนดจำเลยไปคัดค้าน ดังนี้เป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์แล้ว การคัดค้านของจำเลยถือว่าได้แสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ตามมาตรา ๑๓๘๑ แล้ว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๙๖-๗๐๐/๒๔๙๓)
                เช่าที่ดินจากเขา เมื่อเขามาทวงค่าเช่า ก็ไม่ยอมให้และอ้างว่าเป็นที่ดินของตน ดังนี้เป็นการเปลี่ยนเจตนายึดถือแล้ว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๕๒-๒๔๙๘)
                การที่ผู้ให้กู้นำที่ดินที่ผู้กู้นำมาเป็นประกันและให้ทำกินต่างดอกเบี้ยไปแจ้งการครอบครองตามแบบ ส.ค.๑ ว่าเป็นของตนเสียนั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๗๕/๒๕๐๖
                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๗๕/๒๕๑๙ บิดาครอบครองทรัพย์มรดกของภริยาแทนผู้เยาว์ แล้วขายทรัพย์มรดกนั้นไปส่วนหนึ่งโดยปรึกษากับบุตรทุกคนว่าขายแล้วจะเอาเงินไว้เป็นกองกลาง ไม่ถือเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ
                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๕๔/๒๕๑๙ วินิจฉัยว่า การที่บุคคลผู้ยึดถือที่ดินแทนผู้ครอบครองได้ขอออก น.ส.๓ สำหรับที่ดินนั้น แม้เจ้าของที่ดินนั้นจะไปคัดค้านต่ออำเภอ ก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้ยึดถือไว้แทนได้เปลี่ยนลักณะแห่งการยึดถือ ทั้งนี้เพราะว่าผู้ยึดถือไว้แทนมิใช่เป็นผู้บอกกล่าวเปลี่ยนการยึดถือให้เจ้าของที่ดินทราบ
                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๐๕๐/๒๕๓๓ โจทก์และจำเลยต่างครอบครองที่พิพาทร่วมกัน แม้ต่อมาโจทก์ไม่ได้ครอบครองแต่ให้จำเลยครอบครอง ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์ การที่จำเลยเป็นผู้นำสำรวจเขตเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ และเป็นผู้ออกเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่ ไม่ถือเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา ๑๓๘๑
                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๐๕/๒๕๑๙ วินิจฉัยว่า การที่จำเลยพูดว่าทรัพย์ส่วนของเจ้ามรดกเอาไว้เป็นเบี้ยเผาผี แล้วจำเลยคงครอบครองทรัพย์นั้นไว้ต่อมา และยังรื้อเรือนไปปลูกที่อื่น กับอ้างว่า น.ส.๓ สำหรับที่ดินว่าเป็นของจำเลยด้วย ดังนี้ ถือเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา ๑๓๘๑ แล้ว โจทก์ต้องฟ้องเอาการครอบครองที่ดินคืนภายใน ๑ ปี
                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๕/๒๕๒๑ จำเลยครอบครองทำนาต่างดอกเบี้ยเงินกู้ เมื่อผู้กู้ขอไถ่คืนจำเลยไม่ยอมให้ไถ่ อ้างว่านาเป็นของจำเลย ถือได้ว่าได้บอกกล่าวไม่ยึดถือแทนต่อไป อ้างว่านาเป็นของจำเลย ถือได้ว่าได้บอกกล่าวไม่ยึดถือแทนต่อไป
                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๐/๒๕๒๒ จำเลยทำนาโจทก์ต่างดอกเบี้ย โจทก์ขอไถ่ จำเลยไม่ให้ไถ่ อ้างว่าเป็นการขายขาด ดังนี้เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือแทนโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ฟ้องเรียกคืนภายใน ๑ ปี ย่อมไม่มีสิทธิฟ้อง
                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๒๓/๒๕๒๒ ผู้เช่านาไม่ยอมเสียค่าเช่า ไม่ยอมออกจากที่เช่าและไม่ยอมให้ผู้เก็บค่าเช่าทำนา เป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือแล้ว
                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๖๕/๒๕๐๘ การที่จำเลยผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ได้บอกโจทก์ว่าจะไม่ให้ทรัพย์มรดกนั้นแก่โจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยพูดด้วยความโมโห ไม่มีเจตนาจริงจัง ก็ไม่ถือว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา ๑๓๘๑
                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๖๕/๒๕๓๓ จำเลยทำสัญญาขายฝากที่พิพาทที่มี น.ส.๓ เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยยังครอบครองที่พิพาทตลอดมา โจทก์ขอให้จำเลยทำสัญญาเช่าที่พิพาทจากโจทก์จำเลยไม่ทำ และต่อมาได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากทางราชการเกี่ยวกับการขายฝาก ถือว่าจำเลยโต้แย้งการครอบครองและได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือสำหรับที่พิพาทแล้ว โจทก์ฟ้องคดีเกิน ๑ ปี นับแต่วันสัญญาขายฝากครบกำหนด จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๖๒/๒๕๓๖ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า โจทก์เป็นผู้ซื้อประทานบัตรเหมืองแร่ ซึ่งให้สิทธิแก่โจทก์ได้สิทธิตามผิวดินที่จะทำเหมืองแร่เท่านั้น บ. ผู้ได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ในที่ดินพิพาทหาได้โอนสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ไม่ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทยังเป็นของ บ. เจ้าของเดิมหรือทายาทผู้สืบสิทธิทางมรดกสืบต่อกันมา การที่จำเลยไปสอบเขตที่ดินพิพาทและโจทก์ยื่นคัดค้านว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของ โดยไม่ได้อาศัยสิทธิอื่นใดนอกเหนือจากสิทธิตามประทานบัตรเหมืองแร่ ซึ่งมีสิทธิที่จะเก็บประโยชน์ได้จากพื้นผิวดินเท่านั้น จะถือว่าคำคัดค้านของโจทก์เป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไม่ได้
                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๖๕/๒๕๓๙ การที่ผู้ขายฝากที่ดินขอไถ่ถอนการขายฝากก่อนครบกำหนดไถ่ แต่ผู้ซื้อฝากไม่ยอมให้ไถ่เป็นการผิดสัญญา ไม่ถือว่าผู้ขายฝากบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือโดยจะเอาที่ดินเป็นของตน
                  การยึดทรัพย์สินแทนผู้มีสิทธิครอบครองตามมาตรา ๑๓๘๑ นี้ หากผู้มีสิทธิครอบครองตาย มีปัญหาว่า การยึดถือแทนจะสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่ มีแนวคำพิพากษา เป็นบรรทัดฐานดังนี้
                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1579/2514 วินิจฉัยว่า เจ้าของที่ดินมีโฉนดอนุญาตให้มารดาทำกินในที่ดินนั้น ถือว่ามารดาครอบครองแทนเฉพาะในระหว่างที่เจ้าของยังมีชีวิตอยู่ หากเจ้าของที่ดินตาย มารดาซึ่งเป็นทายาทด้วยผู้หนึ่งจะถือว่าครอบครองแทนสามีของผู้ตายด้วยมิได้ หากสามีมิได้ฟ้องคดีภายใน ๑ ปี นับตั้งแต่เจ้ามรดกตาย คดีย่อมขาดอายุความ แต่คำพิพากษาฎีกาที่ 2128/2518 วินิจฉัยว่า ครอบครองทรัพย์ไว้แทนผู้ใดแม้ผู้นั้นตายไปแล้วก็ต้องถือว่าครอบครองไว้แทนทายาทของผู้นั้นต่อไป ระหว่างคำพิพากษาฎีกาทั้งสองนี้ คำพิพากษาฎีกาที่ 1579/2514  น่าจะมีเหตุผลดีกว่า เพราะการยึดถือไว้แทนนั้นจะต้องยึดถือแทนผู้ที่มีตัวตนแน่ชัด ดังนั้นเมื่อผู้นั้นตาย ปัญหาว่าจะมีทายาทหรือไม่ และเป็นผู้ใดบ้างเป็นการไม่แน่ชัด จะยึดถือไว้แทนได้อย่างใด แต่มีคำพิพากษาฎีกาที่ 4548/2532 วินิจฉัยว่า ผู้ร้องทั้งสี่ และ ส.เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนด และได้ครอบครองร่วมกันมา เมื่อ ส. ตาย ผู้ร้องที่ 1 ได้เลี้ยงดูบุตรทั้งสองของ ส. ซึ่งเป็นผู้เยาว์โดยความรู้เห็นของผู้ร้องที่ 2 ถึงที่ 4 จึงถือว่าผู้ร้องทั้งสี่ครอบครองที่ดินรวมถึงนาของ ส. ไว้แทนบุตรทั้งสองของ ส. เมื่อบุตรของ ส. ทั้งสองได้หนีไป และไม่ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งสี่เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ดังนั้นแม้ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินมาถึง 10 ปีก็มิได้กรรมสิทธิ์
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 699/2536 ผู้เช่าที่พิพาทเมื่อผู้ให้เช่าตายโดยไม่ได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ได้บอกกล่าวไปยังทายาทของผู้ให้เช่าว่าจะยึดถือที่พิพาทแทนทายาทของผู้ให้เช่าต่อไป ดังนี้แม้ผู้เช่าจะครอบครองที่พิพาทมาช้านานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 2617/2536 จำเลยเป็นหลานของ ล. อาศัยสิทธิ ล.เข้าทำกินในที่พิพาท เมื่อ ล. ตาย จำเลยมิได้แจ้งให้ทายาทของ ล.ว่า จะครอบครองที่พิพาทเพื่อตน ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทแทนทายาทของ ล. แม้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ คำสั่งศาลก็ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งไม่ใช่คู่ความในคดีนี้
                   มีปัญหาว่าการบอกกล่าวนั้น จะต้องบอกกล่าวโดยตรงต่อผู้มีสิทธิครอบครองหรือไม่ ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1208/2496 วินิจฉัยว่า บุตรเช่านาจากมารดา เมื่อน้องมาทวงค่าเช่านา กลับเถียงว่าเป็นของตน ดังนี้ จะถือว่าบุตรแย่งการครอบครองจากมารดามิได้เพราะเป็นการเช่าจากมารดา แต่มาเถียงสิทธิกับน้อง แต่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1307/2509 วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำขอการรับรองการทำประโยชน์ที่ดินต่ออำเภอ จำเลยได้คัดค้านอ้างว่าโจทก์รังวัดทับที่นาของจำเลย ดังนี้เมื่อโจทก์รับทราบคำคัดค้านของจำเลยแล้ว ถือได้ว่าจำเลยได้บอกกล่าวไปยังโจทก์โดยตรงว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่พิพาทแทนโจทก์ หากแต่จะยึดถือเพื่อตนเองตามมาตรา 1381 และคำพิพากษาฎีกาที่ 2789/2536 วินิจฉัยว่า บิดาจำเลยให้โจทก์อาศัยอยู่ในที่พิพาท แม้โจทก์ได้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยโจทก์ไม่ได้แจ้งให้บิดาจำเลยทราบ ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาเปลี่ยนการครอบครองจากผู้อาศัยมาเป็นครอบครองเพื่อตนเองตามมาตรา 1381 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสามฉบับนี้แสดงว่า การบอกกล่าวตามมาตรา 1381 ควรจะต้องบอกกล่าวโดยตรงต่อผู้มีสิทธิครอบครอง แต่ถ้าเป็นการบอกกล่าวต่อผู้อื่น หากผู้มีสิทธิครอบครองได้ทราบแล้ว ก็ถือว่าได้มีการบอกกล่าวต่อผู้มีสิทธิครอบครองแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การบอกกล่าวต่อผู้มีอำนาจแทนผู้มีสิทธิครอบครองเช่น ตัวแทน สามีหรือภรรยา เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่ง ย่อมเพียงพอที่จะถือว่าได้บอกกล่าวโดยตรงต่อผู้มีสิทธิครอบครองแล้ว คำพิพากษาฎีกาที่ 3962/2533 โจทก์อยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของจำเลย ต่อมาจำเลยมอบอำนาจให้ บ.ยื่นขอออกโฉนดและมอบให้ดูแลที่พิพาทแทน เมื่อ บ. นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่พิพาท โจทก์แจ้งความดำเนินคดีแก่ บ. และมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินคัดค้านการรังวัด เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินเรียกคู่กรณีมาเจรจา โจทก์ก็อ้างว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ พฤติการณ์พอถือได้ว่าโจทก์บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่พิพาทไว้แทนจำเลยมาเป็นยึดถือเพื่อตนเองแล้ว
                    การครอบครองโดยสุจริตอาศัยอำนาจใหม่จากบุคคลภายนอก เช่น ก.ครอบครองที่นามือเปล่าแทน ข. ต่อมา ค. นำ ส.ค.๑ มาแสดงว่า ข. ขายนานั้นให้ตนแล้ว ก.เชื่อว่าเป็นความจริงจึงซื้อนานั้นจาก ค. ดังนี้ นับแต่นั้นต้องถือว่า ก. ครอบครองเพื่อตนแล้ว
                    เกี่ยวกับสิทธิครอบครองนี้มีบทกฎหมายสันนิษฐานเป็นคุณแก่ผู้มีสิทธิครอบครองอยู่หลายมาตรา คือ
                    มาตรา ๑๓๗๐ บัญญัติว่า
                    ผู้ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าครอบครองโดยสุจริตด้วยความสงบและโดยเปิดเผย
                    มาตรา ๑๓๗๑ บัญญัติว่า
                    ถ้าพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดครอบครองทรัพย์สินเดียวกันสองคราว ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นได้ครอบครองติดต่อกันตลอดเวลา
                    มาตรา ๑๓๗๒ บัญญัติว่า สิทธิซึ่งผู้ครอบครองใช้ในทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสิทธิซึ่งผู้ครอบครองมีตามกฎหมาย
                    คำว่าผู้ครอบครองในมาตรา ๑๓๗๐ และ ๑๓๗๒ นั้น ย่อมหมายถึงผู้มีสิทธิครอบครอง มิใช่ผู้ครอบครองที่เพียงแต่ยึดทรัพย์สินไว้เฉยๆ โดยขาดเจตนายึดถือเพื่อตน
                    ตามมาตรา ๑๓๗๐ ผู้มีสิทธิครอบครองซึ่งครอบครองทรัพย์สินไว้นั้น เบื้องแรกต้องถือว่า ครอบครองโดยสุจริต โดยความสงบ และโดยเปิดเผย ผู้ใดจะเถียงเป็นอย่างอื่นมีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้าง เช่น ผู้ใดจะอ้างว่าผู้ที่ครอบครองที่ดินครอบครองโดยการบุกรุกที่ดินของผู้อื่นก็ดี ผู้ที่ใส่นาฬิกาข้อมือขโมยเขามาก็ดี จะต้องเป็นผู้นำสืบพิสูจน์ทั้งสิ้ิน มาตรา ๑๓๗๐ ให้สันนิษฐานไว้เพียงสามประการเท่านั้น หาได้สันนิษฐานต่อไปว่าผู้ครอบครองนั้นเจตนาครอบครองยึดถืออย่างเป็นเจ้าของ ด้วยไม่
                    ตามมาตรา ๑๓๗๑ นั้นเป็นเรื่องที่ผู้ครอบครองยึดถือทรัพย์สินนำสืบไม่ได้ว่าตนได้ครอบครองทรัพย์สินติดต่อกันตลอดไป เพียงแต่นำสืบได้เพียงว่าตนได้ครอบครองยึดถือทรัพย์สินนั้นสองคราว คือแรกคราวหนึ่งและเว้นระยะมา แล้วจึงมาครอบครองครั้งหลังอีกคราวหนึ่ง ดังนี้มาตรา ๑๓๗๑ สันนิษฐานว่าผู้นั้นครอบครองยึดถือทรัพย์สินนั้นติดต่อกันตลอดเวลา มาตรานี้มีประโยชน์ในการนับระยะเวลาการครอบครองเพื่อจะได้กรรมสิทธิ์ ตาม มาตรา ๑๓๘๒
                     ตามมาตรา ๑๓๘๒ เป็นเรื่องที่กฎหมายถือว่าสิทธิของผู้มีสิทธิครอบครองที่ใช้ต่อตัวทรัพย์สินที่ตนครอบครองยึดถืออยู่นั้นเป็นสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ใดจะโต้เถียงว่าเป็นสิทธิที่ไม่ชอบต้องมีหน้าที่นำสืบ หักล้าง เช่น ผู้ที่ขโมยทรัพย์เขามาและยึดถือไว้เพื่อตน ย่อมมีสิทธิครอบครอง เมื่อมีผู้ใดมาเอาทรัพย์นั้นต่อไป ขโมยย่อมมีสิทธิเรียกเอาทรัพย์นั้นคืน ตามมาตรา ๑๓๗๕ และการใช้สิทธิเช่นนี้ ย่อมถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ เว้นแต่เจ้าของทรัพย์ผู้มีกรรมสิทธิ์จะโต้แย้งว่าตนมีสิทธิดีกว่า เพราะ ขโมย นั้น ลักทรัพย์ของตนมา ในกรณีเช่นนี้เจ้าของทรัพย์ย่อมมีหน้าที่นำสืบ
                     ผลของการมีสิทธิครอบครอง
                     ผู้มีสิทธิครอบครองย่อมมีสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้สิทธิครอบครองของตนดังต่อไปนี้
                     ๑.ผู้มีสิทธิครอบครองมีสิทธิให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๗๔ ว่า
                      "ถ้าผู้ครอบครองถูกรบกวนในการครอบครองทรัพย์สิน เพราะมีผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร์ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้ ถ้าเป็นที่น่าวิตกว่าจะยังมีการรบกวนอีก ผู้ครอบครองจะขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้
                      การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกรบกวน
                      ผู้ครอบครองดังกล่าวในมาตรา ๑๓๗๔ นี้ย่อมหมายถึงสิทธิครอบครอง มิใช่เป็นเพียงผู้ยึดถือครอบครองโดยมิได้เจตนายึดถือเพื่อเพื่อตน เพราะเพียงแต่ยึดถือหรือครอบครองทรัพย์สินเฉยๆ โดยยังไม่มีสิทธิครอบครองนั้น หามีอำนาจที่จะฟ้องผู้ใดไม่ คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๗๕/๒๕๑๘ ผู้เช่าอาคารซึ่งครอบครองอาคารที่เช่า แม้ไม่มีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือ ก็ฟ้องผู้บุกรุกละเมิดการครอบครองนั้นได้ แต่ถ้าผู้เช่ายังไม่ได้เข้าไปครอบครองทรัพย์ที่เช่า ก็ถือว่าผู้เช่ายังไม่มีสิทธิครอบครอง จึงไม่มีอำนาจฟ้องผู้ที่ทำละเมิดต่อทรัพย์ที่เช่านั้นได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๑๖/๒๕๑๓ ผู้เช่าที่ยังไม่เคยเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าไม่มีอำนาจฟ้องผู้ที่ปลูกโรงไว้ในที่เช่าก่อนทำสัญญาเช่า) แต่อย่างไรก็ตาม แม้การได้ซึ่งสิทธิครอบครองจะตกอยู่ในบังคับห้ามโอนตามกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการเกษตร พ.ศ.๒๕๑๑ ก็ต้องถือว่าผู้ครอบครองมีสิทธิครอบครอง ชอบที่จะใช้สิทธิขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองได้(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๕๖/๒๕๓๗)
                     การรบกวนการครอบครองของผู้มีสิทธิครอบครองนั้น ถ้าเป็นการรบกวนการครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ได้มีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒ และ ๓๖๔ บัญญัติเป็นความผิดอยู่แล้ว
                     การรบกวนการครอบครองนี้ อาจเป็นการส่งเสียงรบกวนหรือขัดขวางต่อการใช้ทรัพย์สินของผู้มีสิทธิครอบครอง เช่น เข้าไปใช้ทรัพย์สินของผู้มีสิทธิครอบครองโดยมิได้อนุญาต เป็นต้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๕๖-๘๕๗/๒๕๐๘ เข้าครอบครองที่ดินไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๖ ต่อมาได้แจ้ง ส.ค.๑ ย่อมมีสิทธิครอบครอง ทางราชการไม่มีสิทธิไปปักหลักเขตประกาศเป็นหนองสาธารณะ ถ้าทำถือว่ารบกวนสิทธิของผู้ครอบครอง ผู้ครอบครองมีสิทธิข้อให้ห้ามได้ แต่การสอดแทรกรบกวนนั้นต้องเป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจตามกฎหมาย หรือไม่มีกฎหมายรับรองให้กระทำได้ถ้าเขามีสิทธิกระทำได้โดยชอบ ผู้มีสิทธิครอบครองหาอาจมีสิทธิให้ปลดเปลื้องการรบกวนได้ไม่ เช่น ผู้ที่บุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น แม้จะเจตนายึดถือเพื่อตน แต่ถ้าเจ้าของที่ดินเขาเข้ามาหวงห้ามขับไล่ ตนจะอ้างสิทธิตามมาตรา ๑๓๗๔ นี้มิได้
                     สิทธิที่จะปลดเปลื้องการรบกวนนั้น ผู้มีสิทธิครอบครองย่อมกระทำได้ทันทีโดยไม่ต้องฟ้องร้องต่อศาล แต่ถ้าผู้รบกวนยังขัดขืนหรือโต้แย้งสิทธิอยู่ ผู้มีสิทธิครอบครองต้องฟ้องศาล จะกระทำเองโดยพลการมิได้ และการใช้สิทธิฟ้องศาลนอกจากจะขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนที่เกิดขึ้นแล้ว ยังขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้กระทำการรบกวนได้อีก การโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับการครอบครองที่ดิน ไม่จำต้องถึงกับใช้กำลังกายเข้ายื้อแย่งหรือบุกรุกเข้าไปในที่ดิน เพียงการที่สามีจำเลยเคยร้องเรียนต่อนายอำเภอว่า โจทก์บุกรุกที่ดินนั้น และเมื่อสามีจำเลยตาย จำเลยก็ยังแสดงสิทธิโดยขอให้โจทก์ออกไปจากที่ดินดังกล่าวก็ถือว่า เป็นการโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์จึงชอบจะเสนอคดีเพื่อขจัดข้อโต้แย้งและแสดงสิทธิของโจทก์ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๓/๒๕๑๑) เพียงแต่ฟ้องให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ มิได้ฟ้องขอให้ห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินด้วย มิใช่เป็นการฟ้องขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตาม มาตรา ๑๓๗๔ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๑๙/๒๕๓๘)
                     เนื่องจากสิทธิครอบครองเป็นสิทธิต่ำกว่ากรรมสิทธิ์ ฉะนั้นกฎหมายจึงได้กำหนดระยะเวลาในการฟ้องร้องเพื่อปลดเปลื้องการครอบครองไว้ว่าต้องฟ้องเสียภายในหนึ่งปี บทบัญญัติของมาตรา ๑๓๗๔ จึงนำไปใช้กับที่ดินโฉนดไม่ได้(คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๒๗๙/๒๕๓๗,๒๕๓๔ ถึง ๓๕๒๕/๒๕๔๖) ระยะเวลาที่มาตรา ๑๓๗๔ บังคับให้ฟ้องร้องนั้น มิใช่อายุความฟ้องร้องดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙๓/๙ เหตุนี้แม้จะได้มีการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยฐานบุกรุก ก็จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๕๑ วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้(คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๕๒๖-๕๕๒๘/๒๕๓๘) และแม้จำเลยจะมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙๓/๒๙ ศาลก็ยกขึ้นเองได้ ทั้งนี้โดยเทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๔๖/๒๕๐๕ ซึ่งวินิจฉัยเกี่ยวกับระยะเวลาฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองตามมาตรา ๑๓๗๕ ว่า เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเสียภายในหนึ่งปี ศาลชอบจะยกฟ้องเสียได้ แม้จำเลยจะมิได้ยกมาตรานี้เป็นข้อต่อสู้ก็ตาม
                    ๒.ผู้มีสิทธิครอบครองมีสิทธิเรียกเอาการครอบครองคืนจากผู้ที่แย่งการครอบครองโดยมิชอบ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๗๕ ว่า
                    ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้
                    การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง
                    มาตรา ๑๓๗๕ นี้ต่างกับมาตรา ๑๓๗๔ ในข้อที่ว่า มาตรา ๑๓๗๔ เป็นเรื่องรบกวนการครอบครอง แต่มาตรา ๑๓๗๕ เป็นเรื่องแย่งการครอบครอง หรือแย่งตัวทรัพย์สินทีเดียว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๔๔/๒๕๔๑ วินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวเป็นคนละเรื่องกัน)
                    คำว่าผู้ครอบครองตามมาตรานี้ ก็เช่นเดียวกับมาตรา ๑๓๗๔ ย่อมหมายถึงผู้มีสิทธิครอบครอง
                    การแย่งการครอบครองนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๙๙๑/๒๕๔๑,๒๖๑/๒๕๔๕,๔๖๕๙/๒๕๔๙ อาจเป็นการแย่งเอาตัวทรัพย์โดยตรงหรือ เพียงแต่โต้แย้งคัดค้านสิทธิครอบครองในเมื่อผู้โต้แย้งได้ยึดถือครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ก่อนแล้วก็ได้ เช่น จำเลยเช่าที่พิพาท ต่อมาเมื่อโจทก์นำรังวัดที่พิพาทเพื่อออกโฉนด จำเลยไปคัดค้าน ดังนี้เป็นการโต้แย้งคัดค้านสิทธิของโจทก์แล้ว หากโจทก์ไม่ฟ้องเอาคืนการครอบครองภายใน ๑ ปี ย่อมหมดสิทธิฟ้อง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๙๖-๗๐๐/๒๔๙๓) การอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินที่มี น.ส.๓ ต่อมาที่ดินและบ้านตกเป็นของผู้ซื้อฝาก ผู้อาศัยต้องถือว่าครอบครองแทนผู้ซื้อฝาก แต่การที่ผู้อาศัยฟ้องผู้ซื้อฝากขอให้เพิกถอนการขายฝาก ถือว่าเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือแล้วจึงเป็นการแย่งการครอบครองนับแต่นั้น และเมื่อผู้ซื้อฝากซึ่งถูกฟ้องได้ฟ้องแย้งขอให้ขับไล่ผู้อาศัย ต้องถือว่าได้มีการฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองแล้ว แม้คดีนั้นศาลจะสั่งจำหน่ายคดีของผู้อาศัยอันทำให้ฟ้องแย้งตกไปก็ตาม หากผู้ซื้อฝากมาฟ้องผู้อาศัยเกิน ๑ ปี นับแต่วันแย่งการครอบครองก็ถือว่าไม่ขาดสิทธิฟ้องตามมาตรา ๑๓๗๕ เพราะต้องถือวันฟ้องแย้งเป็นการฟ้องแล้ว (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔๗๖/๒๕๓๖) จำเลยครอบครองที่ดินมือเปล่ามาฝ่ายเดียว ต่อมาจำเลยตกลงทำบันทึกแบ่งที่ดินนี้ให้โจทก์ การครอบครองของจำเลยต่อจากนั้นจึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ด้วย แต่เมื่อภายหลังจำเลยได้ขอถอนการให้ ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองเพื่อตนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา(คำพิพากษาฎีการที่ ๑๔๐๔/๒๕๑๑)
                     แต่การที่เจ้าพนักงานออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลย ยังไม่ถือว่าเป็นการรบกวนหรือแย่งการครอบครองของโจทก์แต่เมื่อจำเลยยืนคำคัดค้านการขอรับรองการทำประโยชน์ จึงถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วและเริ่มนับกำหนดเวลาฟ้องตั้งแต่นั้น(คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๘/๒๕๐๘)
                     การฟ้องขับไล่โดยอาศัยสัญญาประนีประนอมยอมความหรือสัญญาให้อาศัยไม่ใช่เป็นการถูกแย่งการครอบครอง ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๓๗๕(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙๒/๒๕๓๔)
                     ขอออกโฉนดที่ดินทับที่ดิน น.ส.๓ ของโจทก์แล้วมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์สืบต่อกันมาโดยมิได้เข้าครอบครองที่ดิน ยังไม่ถือว่าเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินของโจทก์ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๙/๒๕๓๘)เพียงขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินแต่ไม่เคยเข้าไปครอบครองที่ดินก็เช่นกัน
                      ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่นามือเปล่าให้เขาและศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้ว แม้ผู้นั้นจะยังคงครอบครองนานั้นอยู่จนเกิน ๑ ปีแล้ว ก็มิใช่เป็นการแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันจะทำให้คดีของผู้รับโอนหมดสิทธิฟ้องร้อง(คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๐๕/๒๕๐๘) ผู้ที่เป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สิน แม้ผู้ใดจะมิได้ครอบครองก็ถือว่าเจ้าของรวมคนอื่นครอบครองแทน ฉะนั้นจะอ้างว่าแย่งการครอบครองจากเจ้าของรวมคนอื่นที่มิได้ครอบครองมิได้(คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๕๒/๒๕๐๘) เว้นแต่จะได้มีการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าตนเจตนาจะยึดถืออย่างเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ผู้ที่ครอบครองทรัพย์ในฐานะตัวแทนแม้จะพ้นหน้าที่แล้ว ก็ยังมีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์ให้ตัวการ ฉะนั้นจะอ้างว่าครอบครองเพื่อตนมิได้ ผู้อื่นที่ได้รับมอบการครอบครองต่อจากตัวแทนโดยรู้ความจริงเช่นนั้นต้องถือว่าอยู่ในฐานะเดียวกับตัวแทน เว้นแต่จะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา ๑๓๘๑ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๖๓/๒๔๙๓) ผู้แพ้คดีถูกยึดที่ดินขายทอดตลาดและมีผู้ซื้อได้ แม้ผู้แพ้คดีจะยังคงยึดถือที่ดินนั้นอยู่ต่อมาเกิน ๑ ปี ก็ต้องถือว่าเป็นการยึดถือเพราะเป็นเจ้าของเดิมทำกินต่อเนื่องมาโดยผู้ซื้อยังไม่ประสงค์ขับไล่เนื่องจากอยู่ในระหว่างขอออก น.ส.๓ และขอจดทะเบียนรับโอน การยึดถือดังนี้ หากไม่มีพฤติการณ์ใดๆ ขึ้นใหม่อันแสดงว่าเป็นการแย่งการครอบครองแล้ว ก็จะนำกำหนดเวลา ๑ ปี ตามมาตรา ๑๓๗๕ มาใช้มิได้(คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๔๕/๒๕๒๐) จำเลยครอบครองที่ดินของโจทก์โดยอาศัยสิทธิของ จ. และ ป.ซึ่งอยู่ระหว่างโจทก์ฟ้องเอาคืนการครอบครอง จาก จ.และ ป. คดียังไม่ถึงที่สุด จำเลยไม่อาจยกการครอบครองยันสิทธิครอบครองของโจทก์ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๕/๒๕๔๐) ที่ดินที่ทางราชการจัดให้ราษฎรทำกินนั้น ห้ามโอนภายใน ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๓๑ ดังนี้แสดงว่าทางราชการยังควบคุมที่ดินนั้นอยู่ การครอบครองในเวลาห้ามโอนอังกล่าวจึงกระทำมิได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๐๙/๒๕๓๑) จำเลยครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์ จำเลยเคยฟ้องภริยาโจทก์เป็นคดีอาญาข้อหาบุกรุกที่พิพาท ทำให้เสียทรัพย์ และเรียกค่าเสียหาย แต่ศาลพิพากษายกฟ้อง การครอบครองที่พิพาทของจำเลยในระหว่างดำเนินคดีอาญาถือเป็นการครอบครองแทนโจทก์ จำเลยจะอ้างกำหนดเวลาฟ้องเรียกคืนการครอบครองตามมาตรา ๑๓๗๕ ยันโจทก์มิได้(คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๔๖/๒๕๓๕)
                  ถ้าผู้โต้แย้งสิทธิครอบครองมิได้ครอบครองทรัพย์ที่โต้แย้งอยู่ไม่ถือว่าเป็นการแย่งการครอบครอง จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๓๗๕ ที่จะฟ้องผู้โต้แย้งภายใน ๑ ปี แต่การโต้แย้งนั้นทำให้ผู้ถูกโต้แย้งมีสิทธิฟ้องผู้โต้แย้งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๕๕ และการฟ้องผู้โต้แย้งเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องฟ้องภายใน ๑ ปี ทั้งนี้ จะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๔๐/๒๕๒๒ ซึ่งวินิจฉัยว่า โจทก์ซื้อที่พิพาทจาก ส. และได้ครอบครองตลอดมา ได้ออก น.ส.๓ ที่พิพาทในนาม ส. เมื่อ ส.ตาย จำเลยบุตร ส. ขอรับมรดกต่ออำเภอ ดังนี้มิใช่แย่งการครอบครอง แม้เกิน ๑ ปี โจทก์ก็ฟ้องจำเลยได้ คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๕๒/๒๕๒๒ โจทก์ครอบครองที่ดิน จำเลยขอหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โจทก์คัดค้าน แม้เจ้าพนักงานจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลย ก็ไม่ใช่เรื่องแย่งการครอบครอง โจทก์ไม่ต้องฟ้องภายใน ๑ ปี (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๓๖/๒๕๒๓, ๒๒๓๐/๒๕๒๕, ๗๙๕/๒๕๓๓, ๓๐๘๙/๒๕๓๗ และ ๖๓๓/๒๕๓๘ ก็วินิจฉัยอย่างเดียวกัน
                  จำเลยแจ้งความต่อตำรวจกล่าวหาโจทก์บุกรุกที่ดิน น.ส.๓ ก. แต่จำเลยก็ยังมิได้ครอบครองที่ดิน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยแย่งการครอบครอง โจทก์ไม่หมดสิทธิฟ้อง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๙๔/๒๕๓๗) การที่ผู้รับประทานบัตรเหมืองแร่ฟ้องผู้ที่สร้างสิ่งปลูกสร้างในที่ดินที่ได้รับประทานบัตรให้รื้อถอนออกไป มิใช่เป็นการฟ้องเรียกสิทธิครอบครองคืน ตามมาตรา ๑๓๗๕