วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2562

ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ

                                                                                  ยืม
                       ยืมเป็นสัญญาชนิดหนึ่งที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จัดไว้เป็นเอกเทศ สัญญาโดยบัญญัติไว้ในบรรพ ๓ ลักษณะ ๙ ตั้งแต่มาตรา ๖๔๐ ถึงมาตรา ๖๕๖ รวม ๑๗ มาตรา เนื่องจากสัญญายืมเป็นนิติกรรมสองฝ่าย จึงต้องนำกฎหมายลักษณะนิติกรรมและหนี้มาใช้ด้วย การปฏิบัติและการวินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญายืม นอกจากจะพิจารณาข้อสัญญาและบทบัญญัติในบรรพ ๑ และบรรพ ๒ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องดังต่อไปนี้
                       ๑.เจตนาของคู่สัญญา สัญญายืมเป็นนิติกรรม ๒ ฝ่าย เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป เมื่อเป็นนิติกรรมก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของมาตรา ๑๔๙ ที่ว่า "มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล" ดังนั้นการที่พนักงานในหน่วยงานหนึ่งทำใบยืมให้หน่วยงานนั้นเพื่อเบิกเงินไปจ่ายในการงานของหน่วยงานนั้นเอง ไม่เป็นสัญญายืม เพราะเขามิได้มีเจตนาที่จะยืมเงินของหน่วยงานไปใช้ แต่เป็นการทำใบยืมเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของหน่วยงานและเงินตามใบยืมก็นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานนั้นเท่านั้น เช่น
                       คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๑๑/๒๕๒๙ เรื่องยืมตาม ป.พ.พ. เป็นกรณีที่ผู้ให้ยืมให้ผู้ยืมใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมเพื่อประโยชน์ของผู้ยืมหาใช่เพื่อประโยชน์ของผู้ให้ยืมไม่ การที่โจทก์ผู้ให้ยืมให้จำเลยยืมเงินไปเป็นการทดรองเพื่อให้จำเลยนำไปใช้สอยในกิจการของโจทก์เป็นประโยชน์ของโจทก์ผู้ให้ยืมเอง รูปเรื่อง จึงปรับเข้าเรื่องยืมไม่ได้
                       คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๔๖/๒๕๓๘ โจทก์ซึ่งเป็นนายอำเภอยืมเงินจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด แล้วมอบเงินนั้นให้จำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าหมวดการศึกษา เพื่อนำไปจ่ายเป็นเงินเดือน และค่าจ้างพนักงานในหมวดการศึกษา แต่จำเลยกลับเอาเงินนั้นไปให้สมาชิกสหกรณ์ครูกู้ เมื่อโจทก์ทวงเงินจากจำเลย จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้วไม่ใช้ โจทก์จึงฟ้องคดี ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เป็นกรณีที่โจทก์ปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ และเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการเท่านั้น หาใช่ทำในฐานะส่วนตัวไม่ การคืนเงินยืมดังกล่าว ก็เพียงแต่นำใบสำคัญที่คณะกรรมการจ่ายเงินได้จ่ายไปนำไปเบิกจากงบประมาณแผ่นดินแล้วนำไปชำระแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด หาจำต้องนำเงินส่วนตัวมาชำระคืนไม่ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ให้ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๐ เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้ให้ยืมเงิน โจทก์กับจำเลยจึงไม่มีหนี้ต่อกัน หนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยทำไว้แก่โจทก์จึงไม่มีผลบังคับ
                       คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๔๑๔/๒๕๕๑ จำเลยเป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการอบรมลูกจ้างของโจทก์ จำเลยจึงขอยืมเงินโจทก์ ๑๒๗,๑๐๐ บาท เพื่อใช้ในการดังกล่าว แต่เงินนั้นถูกคนร้ายลักไป ดังนี้การยืมเงินเป็นเรื่องของการปฏิบัติราชการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา การทำสัญญายืมเงินเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการปฏิบัติราชการของจำเลย จึงมิใช่การยืมตามลักษณะ ๙ แห่ง ป.พ.พ. และกรณีนี้ไม่อาจนำบทบัญญัติในลักษณะ ๙ มาใช้ในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง
                       ถ้าผู้ทำใบยืมนำเงินไปใช้ในการอื่นไม่ถูกต้องตามระเบียบอาจจะต้องรับผิดฐานละเมิดได้(ดูฎีกาที่ ๙๑๐/๒๕๒๐)
                    ๒.ความสามารถในการทำนิติกรรม สัญญายืมเป็นนิติกรรม ๒ ฝ่าย คือ เป็นนิติกรรมที่เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาตรงกันของบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป บุคคลที่ทำสัญญายืมอาจจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้
                       ๒.๑ กรณีที่บุคคลธรรมดาเป็นคู่สัญญา คู่สัญญาทุกคนจะต้องมีความสามารถ มิฉะนั้นสัญญายืมจะเป็นโมฆียะ เพราะมาตรา ๑๕๓ บัญญัติว่า "การใดมิได้เป็นตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคล การนั้นเป็นโมฆียะ" สัญญาที่เป็นโมฆียะนั้นใช้ได้จนกว่าจะถูกบอกล้างโดยบุคคลตามที่มาตรา ๑๗๕ กำหนด บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคล เช่น มาตรา ๒๑, ๒๙, ๓๐, และ ๓๔ ดังนั้น ในกรณีที่บุคคลธรรมดาทำนิติกรรมหรือสัญญายืมนอกจากจะพิจารณาตามบทบัญญัติในบรรพ ๓ ลักษณะ ๙ แล้วจะต้องพิจารณาถึงบทบัญญัติในมาตรา ดังกล่าวด้วย
                       ๒.๒ กรณีที่นิติบุคคลเป็นคู่สัญญา โดยสภาพแล้วนิติบุคคลไม่เป็นผู้เยาว์ไม่เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ แต่ความประสงค์ของนิติบุคคลจะต้องแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคลและต้องอยู่ภายในขอบอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น ด้วยตามมาตรา ๖๖ ดังนั้นในสัญญาจะผูกพันนิติบุคคลหรือไม่จะต้องดูว่า ผู้แทนกระทำการภายในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้นหรือไม่
                             ๒.๒.๑ ผู้แทนกระทำการภายในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล ถ้าผู้แทนของนิติบุคคลทำการแทนนิติบุคคลภายในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล นิติบุคคลนั้น ต้องผูกพันและรับผิดตามนิติกรรมนั้น สำหรับนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อประกอบธุรกิจการค้าจำเป็นจะต้องมีเงินทุนมาใช้ในการดำเนินกิจการ ดังนั้น การที่ผู้แทนของนิติบุคคลกู้ยืมเงินผู้อื่นมาเพื่อใช้ในกิจการของนิติบุคคลนั้น ต้องถือว่าเป็นการกระทำภายในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น (ฏีกาที่ ๓๘๙๖/๒๕๒๕ และ ๕๐๐๒/๒๕๔๐)
                             ๒.๒.๒ ผู้แทนกระทำการนอกวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล ในกรณีที่ผู้แทนของนิติบุคคลไปทำสัญญาในนามนิติบุคคลแต่นอกวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล ตามปกติแล้วนิติบุคคลนั้นไม่ต้องรับผิด เช่น กรรมการบริษัทใช้เงินในบัญชีของบริษัทเป็นประกันหนี้ของตนที่มีต่อธนาคาร (ฎีกาที่ ๔๑๙๓/๒๕๒๘) กรรมการบริษัททำสัญญาในนามของบริษัทค้ำประกันหนี้ของผู้อื่นที่มิได้เกี่ยวข้องกับบริษัท (ฏีกาที่ ๔๗๗๘/๒๕๓๑) กรรมการของบริษัทจำเลยทำบันทึกการจ่ายเงินให้โจทก์เพื่อช่วยให้โจทก์มีรายได้ เป็นการทำนอกวัตถุประสงค์ ไม่ผูกพันจำเลย (ฎีกาที่ ๑๔๑๘/๒๕๕๔)
                        ถ้าผู้แทนของนิติบุคคลทำสัญญานอกวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล แต่นิติบุคคลได้รับประโยชน์จากนิติกรรมนั้นไปแล้ว เมื่อจะต้องรับผิดหรือมีหน้าที่ตามสัญญานั้น นิติบุคคลจะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าเป็นเรื่องนอกวัตถุประสงค์ไม่ได้ เช่น การรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นการค้ำประกันอย่างหนึ่ง เป็นการกระทำนอกวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ระบุรับค้ำประกันหนี้สิน (ฎีกาที่ ๑๗๓๘/๒๕๓๗)
                        บริษัทจำเลยที่ ๑ ไม่มีวัตถุประสงค์ในการประกันวินาศภัย แต่ได้รับประกันวินาศภัย และรับเบี้ยประกันภัยแล้ว จะปฏิเสธว่าเป็นเรื่องนอกวัตถุประสงค์ของบริษัทเพื่อให้พ้นความรับผิดที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันภัยหาได้ไม่ (ฎีกาที่ ๔๒๑๑-๔๒๑๒/๒๕๒๘ และ ๕๒๕๖/๒๕๕๐)
                        ในทำนองเดียวกันถ้าเราทำสัญญากับนิติบุคคลและได้รับประโยชน์ตามสัญญานั้นแล้วต่อมาเราผิดสัญญา เราจะปฎิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าการทำสัญญานั้นอยู่นอกวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลไม่ได้ เช่น แม้ขณะที่ให้เช่าซื้อบริษัทโจทก์จะมิได้มีวัตถุประสงค์ให้เช่าซื้อสังหาริมทรัพย์ แต่จำเลยให้การและนำสืบรับว่า จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับโจทก์จริง จำเลยจะโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะการให้เช่าซื้อรถยนต์อยู่นอกวัตถุประสงค์ของโจทก์หาได้ไม่ (ฎีกาที่ ๑๘๔๕/๒๕๓๑)
                        ๓.วัตถุประสงค์ของนิติกรรม สัญญายืมจะใช้บังคับได้ต้องเป็นไปตามมาตรา ๑๕๐ คือมีวัตถุประสงค์ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ถ้าเราขอยืมเงินจากเพื่อน ธนบัตรหรือเงินที่ยืมเป็นวัตถุแห่งหนี้วัตถุประสงค์ของการยืมก็คือยืมเงินนั้นไปเพื่อทำอะไร ถ้าวัตถุประสงค์เป็นการไม่ชอบตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๕๐ และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งก็รู้ สัญญานั้นเป็นโมฆะ เช่น กู้เงินโดยบอกผู้ให้กู้ว่าจะเอาไปลงทุนค้าฝิ่นเถื่อน (ฎีกาที่ ๗๐๗/๒๔๘๗) กู้เงินโดยบอกว่าจะเอาไปใช้หนี้ค่าจ้างมือปืนไปยิงครู(ฎีกาที่ ๓๕๘/๒๕๑๑) ให้กู้เงินโดยรู้ว่าผู้กู้จะนำเงินนั้นไปใช้ในการวิ่งเต้นกับกรรมการคุมสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ (ฎีกาที่ ๕๗๑๘/๒๕๕๒) พระภิกษุให้กู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ยได้ (ฎีกาที่ ๓๗๗๓/๒๕๓๘) สัญญากู้ยืมที่มีมูลหนี้มาจากการพนันหวยใต้ดิน เป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมไม่ก่อหนี้ที่พึงชำระต่อกัน(ฎีกาที่ ๔๘๒๒/๒๕๕๐) ธนาคารหรือบริษัทที่ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมให้ลูกค้ากู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงเป็นโมฆะ (ฎีกาที่ ๔๐๐๑/๒๕๕๑ และ ๖๒๒๓/๒๕๕๖)
                        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๗๖/๒๕๔๒ เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายเป็นโมฆะตามตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐ แล้ว การที่โจทก์ชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินพิพาทให้จำเลย ย่อมเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายซึ่งมาตรา ๔๑๑ บัญญัติว่าจะเรียกร้องทรัพย์สินคืนไม่ได้ ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจเรียกเงินคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินที่โจทก์ฟ้องเป็นสัญญาที่จำเลยตกลงยอมรับผิดใช้หนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการที่โจทก์ได้ชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๕๐ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามหนังสือสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์


                                                        ปรึกษาทนายความ แอดไลน์มา



ทรัพย์-ที่ดิน

ทรัพย์-ที่ดิน
ความหมายของทรัพย์ และทรัพย์สิน
                 มาตรา ๑๓๗ บัญญัตว่า ทรัพย์หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง
                 มาตรา ๑๓๘ บัญญัติว่า ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้
ทั้งสองมาตราดังกล่าวจะเห็นว่า มีส่วนที่ร่วมกันหรือซ้อนกันอยู่ เพราะมาตรา ๑๓๗ บัญญัติว่า ทรัพย์หมายความว่าวัตถุมีรูปร่าง และมาตรา ๑๓๘ ตอนแรกก็บัญญัติว่า ทรัพย์สินหมายความรวมถึงทรัพย์ แล้วก็บัญญัติต่อไปว่ายังหมายความรวมถึงวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ อาจกล่าวได้ว่าทรัพย์คือ วัตถุมีรูปร่างเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สิน แต่มาตรา ๑๓๘ บัญญัติต่อไปว่า ทรัพย์สินนั้นอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ ก็จำเป็นที่จะต้องเอาคำว่าอาจมีราคาและอาจถือเอาได้นั้นมาขยายคำว่าวัตถุมีรูปร่างด้วยเช่นกัน ถือว่า ข้อความว่าอาจมีราคาและอาจถือเอาได้นั้น ก็ต้องขยายทั้งคำว่าทรัพย์ และคำว่าวัตถุไม่มีรูปร่าง ฉะนั้นทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นจะต้องอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ ซึ่งมีข้อสังเกตดังนี้
                 ๑.การมีราคาและการถือเอาได้นั้น ตัวบทใช้คำว่าอาจนำหน้าคือ อาจมีราคาและอาจถือเอาได้ ไม่ได้บังคับว่าต้องมีราคาและต้องถือเอาได้ คำว่าอาจคือ เป็นไปได้ที่จะมีราคาหรือเป็นไปได้ที่จะมีการถือเอาได้ เช่น นกที่เกาะตามกิ่งไม้บินไปบินมา หรือปล่าที่ว่ายน้ำไปมาในคลอง ทั้งนกทั้งปลานั้นยังไม่มีการเข้าถือเอาแต่อยู่ในวิสัยที่จะเข้าถือเอาได้ หรือเอาแร้วไปดักนก เอาเบ็ดไปตกปลา ทั้งนกและปลานั้นก็อาจเป็นทรัพย์ที่อาจถือเอาได้และอาจมีราคาด้วยกันทั้งคู่
                 ๒.คำว่าทรัพย์และทรัพย์สินนั้นมีความหมายไม่เหมือนกัน ทรัพย์มีความหมายแคบกว่าทรัพย์สิน เพราะทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สิน นอกจากนี้ทรัพย์สินยังหมายความรวมถึงวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ ฉะนั้นการใช้กฎหมายต้องระวังว่า เมือใดควรจะใช้คำว่าทรัพย์ เมือใดควรจะใช้คำว่าทรัพย์สิน เช่น ผู้มีฐานะดีท่านหนึ่งต้องการให้เราทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายว่าจะยกทรัพย์มรดกนั้นให้แก่ทายาทคนใดโดยเฉพาะ ส่วนทายาทคนอื่นๆ ไม่ให้ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลส่วนตัว เช่น มีบุตรหลายคน บรรดาบุตรคนโตก็แต่งงานแยกครอบครัวไปแล้วตอนที่แยกครอบครัวนั้น ก็มีการแบ่งทรัพย์สินให้ไปตั้งตัวสร้างครอบครัวแล้วก็เหลือบุตรคนเล็กอยู่ด้วยกัน เป็นคนที่ดูแลตลอดมายังไม่ได้แต่งงานยังไม่ได้แบ่งทรัพย์สินให้ ฉะนั้นทรัพย์สินที่เหลือจะให้บุตรคนเล็กคนเดียว ถ้าไม่ระมัดระวังกำหนดในพินัยกรรมว่าทรัพย์ของข้าพเจ้าทังหมดที่มีอยู่ในขณะที่ข้าพเจ้าถึงแก่ความตายนั้นให้ตกเป็นของบุตรชายคนเล็ก คนอื่นไม่มีสิทธิอย่างนี้พอเจ้ามรดกตายอาจเกิดปัญหาขึ้นได้ว่าทรัพย์นั้นหมายความถึงวัตถุที่มีรูปร่างเท่านั้น เช่น รถยนต์ เครื่องเพชร ที่ดิน บ้านที่อยู่อาศัย ส่วนวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง หรือสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นในบริษัทหรือในสถาบันการเงิน สิทธิหรือลิขสิทธิ์พวกทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหลาย เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร เหล่านี้ไม่มีรูปร่างทั้งสิ้น เป็นสิทธิในความคิดสร้างสรรค์ไม่รวมถึง ทายาทอื่นๆ จะมาขอแบ่งโดยอ้างว่าเป็นกองมรดกของผู้ตาย ซึ่งมาตรา ๑๖๐๐ บัญญัติว่ากองมรดกของผู้ตายนั้นได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย แต่พินัยกรรมกำหนดว่าทรัพย์เท่านั้น คุณเอารถยนต์ไป เอาบ้านไป เอาเครื่องเพชรไป เอาเครื่องตกแต่งในบ้านไป แต่ว่าสิ่งที่เป็นทรัพย์สินนั้นเอาไปไม่ได้ ต้องมาแบ่งถือเป็นกองมรดก ในปัจจุบันทรัพย์สินที่เป็นวัตถุไม่มีรูปร่างอาจมีราคาสูงเป็นต้นว่า เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียง มีมูลค่ามากกว่าที่ดินมากมายนัก ก็จะเกิดปัญหาขึ้นว่าบุตรชายคนเล็กไม่ได้สมประโยชน์ ถ้าเราทำพินัยกรรมแล้วไม่ระวังในเรื่องนี้บุตรชายคนเล็กก็จะต้องเอาทรัพย์สินอื่นๆ ไปแบ่งให้แก่ทายาทคนอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตามบางกรณีกฎหมายอาจจะไม่สอดคล้องหรือการใช้ถ้อยคำในกฎหมายอาจจะไม่เป็นไปในแนวเดียวกันก็อาจทำให้เกิดความสับสนได้ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ และมาตรา ๓๓๕ ในเรื่องลักทรัพย์ กฎหมายใช้คำว่าเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย แต่ในเรื่องฉ้อโกงตามมาตรา ๓๔๑ ความผิดต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา ๑๔๔ กฎหมายใช้คำว่าทรัพย์สิน ก็เกิดปัญหาว่า หมายความว่าอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องลักทรัพย์ คือ ลักกระแสไฟฟ้านั้น จะเป็นลักทรัพย์หรือไม่ เพราะกระแสไฟฟ้านั้นไม่มีตัวตนเป็นพลังงานที่ส่งไปตามสายไฟฟ้าเท่านั้น ก็เกิดปัญหาขึ้นมาว่าการลักลอบใช้กระแสไฟฟ้านั้นความผิดหรือไม่ เราเอาสายไปต่อจากสายของการไฟฟ้านครหลวงเข้ามาใช้ในบ้านโดยไม่ผ่านมาตรวัดไฟฟ้านั้นเป็นการลักทรัพย์หรือไม่ที่เป็นปัญหาก็เพราะว่าประมวลกฎหมายอาญาในเรื่องลักทรัพย์ตามาตรา ๓๓๔ และมาตรา ๓๓๕ ใช้คำว่าทรัพย์เท่านั้น ซึ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๗ ก็ให้ความหมายชัดเจนแล้วว่าทรัพย์หมายความถึงวัตถุที่มีรูปร่าง แปลประกอบกับมาตรา ๑๓๘ ก็คือ อาจมีราคาและอาจถือเอาได้ ในเรื่องนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาประชุมใหญ่
                   คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๗๗/๒๕๐๑ (ประชุมใหญ่) การลักกระแสไฟฟ้าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
                   ซึ่งในคำพิพากษาศาลฎีกาเองก็ไม่ได้อธิบายว่าทำไมการลักกระแสไฟฟ้าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้ทั้งๆ ที่กระแสไฟฟ้านั้นไม่มีรูปร่าง ก็มีนักกฎหมายหลายท่านพยายามที่จะวิเคราะห์หาเหตุผลว่าทำไมศาลฎีกาถึงวินิจฉัยอย่างนั้น ท่านศาสตราจารย์บัญญัติ วิเคราะห์ว่าก่อนที่จะมีการใช้ประมวลกฎหมายอาญา เราใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ ในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ นั้นมีการให้คำนิยามของคำว่าทรัพย์ไว้โดยเฉพาะในมาตรา ๖(๑๐) ว่าหมายความถึงสิ่งของอันบุคคลมีกรรมสิทธิ์หรือมีอำนาจเป็นเจ้าของได้ จะเห็นได้ว่าคำนิยามนั้นกว้างกว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗ ในปัจจุบัน ฉะนั้นในขณะที่ใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ นั้น การลักกระแสไฟฟ้าเป็นการลักทรัพย์อย่างแน่นอน เพราะกระแสไฟฟ้าถือเป็นทรัพย์ได้ตามคำนิยามมาตรา ๖ (๑๐) ท่านศาสตราจารย์บัญญัติเห็นว่าศาลฎีกาถือแนวบรรทัดฐานตามกฎหมายเก่านั่นเอง ซึ่งผมเห็นว่า เป็นคำอธิบายที่มีน้ำหนักอยู่ แต่อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาตามหลักวิชาการในการตีความโดยการใช้กฎหมายนั้นก็ยังมีข้อน่าคิดอยู่ เพราะว่ากฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ นั้น ได้ถูกยกเลิกเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.๒๔๙๙ แล้ว ในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.๒๔๙๙ มาตรา ๔ บัญญัติว่า เมื่อประมวลกฎหมายอาญาได้ใช้บังคับแล้วยกเลิกกฎหมายลักษณะอาญา ก็เท่ากับคำนิยามของคำว่าทรัพย์ตามมาตรา ๖(๑๐) ของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ ได้ถูกยกเลิกผลก็คือประมวลกฎหมายอาญาไม่มีคำนิยามของคำว่า ทรัพย์ เมื่อไม่มีคำนิยามของคำว่าทรัพย์ก็ไม่น่าที่จะเอาคำนิยามของกฎหมายที่ถูกยกเลิกแล้วมาใช้อีก ในทางตรงกันข้ามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๗ ได้ให้ความหมายของคำว่าทรัพย์ไว้โดยเฉพาะ เมื่อมีบทนิยามหรือการให้ความหมายของคำว่าทรัพย์ไว้โดยเฉพาะแล้ว ทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่บัญญัติภายหลังก็ไม่มีบทบัญญัติให้ความหมายเป็นพิเศษของคำว่าทรัพย์ โดยหลักแล้วคำว่าทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔, ๓๓๕ นั้น ก็ควรจะตีความว่า มีความหมายอย่างเดียวกับที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้ คือ วัตถุที่มีรูปร่าง ซึ่งศาลฎีกาเคยถือหลักการตีความทำนองนี้ เช่น ในเรื่องของสถานภาพของการเป็นสามีภริยาว่า เมื่อมีการใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ บรรพ ๕ ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบของการเป็นสามีภริยาไว้ว่าจะต้องมีการจดทะเบียนสมรสจึงถือว่าเป็นการสมรสกันตามกฎหมาย ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๑ วรรคแรก จะเห็นว่าเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาว่าด้วยความผิดฐานลักทรัพย์ ถ้าภริยาไปลักทรัพย์ของสามีหรือสามีไปลักทรัพย์ของภริยาผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ แต่ว่าประมวลกฎหมายอาญาไม่มีบทบัญญัติถึงสถานภาพของการเป็นสามีภริยาหรือ ความสัมพันธ์ในฐานะเป็นสามีภริยาที่มาตรา ๗๑ วรรคหนึ่งกล่าวถึงจะต้องมีการจดทะเบียนสมรสหรือไม่ หรือว่าอยู่กินกันฉันสามีภริยาเป็นที่รู้กันทั่วไปในสังคมก็ถือว่ามีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาตามที่มาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง บัญญัติ ซึ่งในเรื่องนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยในแนวที่ว่า ถ้าในประมวลกฎหมายอาญา นั้นไม่มีคำจำกัดความของคำว่าสามีภริยาไว้ต้องเอากฏหมายทั่วไปของการเป็นสามีภริยามาใช้ คือนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ซึ่งบังคับไว้ว่าการสมรสนั้นจะต้องมีการจดทะเบียนสมรสถึงจะถือว่าเป็นคู่สมรสกัน แล้วตีความว่าสามีภริยาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๑ วรรคแรก นั้นจะต้องเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ จดทะเบียนสมรสกันไม่ใช่อยู่กินกันฉันสามีภริยาเท่านั้น ในเรื่องการลักกระแสไฟฟ้านั้นในต่างประเทศก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน โต้เถียงกันไปมาในที่สุดหลายประเทศก็ออกกฎหมายไว้โดยเฉพาะ เป็นต้นว่า ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเยอรมัน เขามีกฎหมายบัญญัติเฉพาะเรื่องลักพลังงานต่า่งๆ ของเราเองเมื่อประมาณ ปี ๒๕๓๕ หรือ ๒๕๓๖ กระทรวงยุติธรรมได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาได้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นพิจารณาเหมือนกันว่าเราควรจะเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้เป็นพิเศษหรือไม่ แต่ในที่สุดคณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่จำเป็น เพราะมีคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๗๗/๒๕๐๑ (ประชุมใหญ่) วินิจฉัยไว้ชัดแจ้งแล้วว่าการลักกระแสไฟฟ้านั้นเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จากนั้นมาแนวคำพิพากษาฎีกาก็เป็นไปในทางเดียว
                    คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๘๐/๒๕๔๒(ประชุมใหญ่) คำว่าโทรศัพท์สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนอธิบายว่า โทรศัพท์เป็นวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้าให้กลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่ง สัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นกระแสไฟฟ้าที่แปลงมาจากเสียงพูดเคลื่อนที่ไปตามสายลวดตัวนำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การที่จำเลยลักเอากระแสสัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยทุจริต  จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์เช่นเดียวกันกับ ลักกระแสไฟฟ้า

กฎหมายอาญามาตรา ๑-๕๘

กฎหมายอาญามาตรา ๑-๕๘
แบ่งเป็นส่วนดังนี้
มาตรา ๑ ถึง ๑๑ เป็นเรื่องการใช้กฎหมายอาญา
มาตรา ๑๗ เป็นบทบัญญัติให้นำประมวลกฎหมายอาญาภาคหนึ่งไปใช้กับกฎหมายอาญาอื่น
มาตรา ๑๘ ถึงมาตรา ๓๘ เป็นเรื่องโทษ
มาตรา ๓๙ ถึงมาตรา ๕๐ เป็นเรื่องวิธีการเพื่อความปลอดภัย
มาตรา ๕๑ ถึงมาตรา ๕๘ เป็นเรื่องรอการลงโทษ การเพิ่มโทษ และการลดโทษ

การใช้กฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ วรรคแรก บัญญัติว่า "บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย" หลักมาตรานี้ ถูกยกไปไว้ในรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ มาจากสุภาษิตละตินว่า "ไม่มีความผิดและไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย หรือ nullum crimen, nulla poena sine lege" เป็นหลักพื้นฐานของการปกครองโดยกฎหมาย และประชาธิปไตยในทางเนื้อหา ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันที่ได้บัญญัติเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้โดยเลือกฐานะหรือตำแหน่ง หลักนี้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี ๒๕๕๗ ก็บัญญัติไว้
            มาตรานี้ ทำให้เกิดหลักของการใช้กฎหมายอาญาขึ้น ๓ ประการ ได้แก่
            ๑.การจะลงโทษบุคคลใดได้ จะต้องมีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ซึ่งก็มาจากคำในมาตรา ๒ ที่ว่า"บัญญัติเป็นความผิด" และ "กำหนดโทษไว้" และต้องบัญญัติให้ชัดเจน ทั้งจะใช้กฎหมายจารีดประเพณีและกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง (anology) มาลงโทษก็ไม่ได้
            ตัวอย่างกรณีไม่มีกฎหมาย "บัญญัติเป็นความผิด" ไว้ได้แก่ ตาม ป.อ. มาตรา ๒๑๗ บัญญัติไว้ว่าการวางเพลิงเผา "ทรัพย์ของผู้อื่น" เป็นความผิด  ไม่มีข้อความว่า  "หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย" จึงตีความคำว่า "ทรัพย์ของผู้อื่น" ให้รวมถึงทรัพย์ที่ผู้อื่นมีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไม่ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๖๔๓/๒๕๒๖) การทำให้เสียทรัพย์โดยประมาทไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดอาญา(คำพิพากษาศาลฎีาที่ ๒๒๗๗/๒๕๕๔ ดูหมิ่นซึ่งหน้า ตาม ป.อ.มาตรา ๓๙๓ ถ้าเป็นการกล่าวด้วยวาจาต้องกล่าวต่อหน้าผู้เสียหาย ถ้าโทรศัพท์ด่าคนละอำเภอกันไม่เป็นความผิดมาตรานี้(คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๗๑๑/๒๕๕๗