วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

หมาย ศาล คดีแพ่ง

เมื่อได้รับ หมายศาลคดีแพ่ง แล้วต้องทำอย่างไร
           
             1.อ่านรายละเอียดในหมายให้ละเอียดเริ่มจากมุมบนขวา ไปจนถึงมุมล่างซ้ายทุกคำมีความหมาย เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดูว่าหมายเป็นหมายอะไร ระหว่างใคร กับใคร  ออกหมายถึงใคร ให้ทำอะไร เป็นต้น
             2.หมายศาลมีหลายอย่าง เช่น หมายเรียก หมายนัด  หมายเรียกพยานบุคคล คำสั่งเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ หมายคำบังคับ  ฯลฯ  การปฏิบัติจะแตกต่างกัน หากไม่เข้าใจความหมาย ควรปรึกษาทนายความผู้มีวิชาชีพ ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ตัวอย่างเช่น หมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ต้องยื่นคำให้การภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหรือถือว่าได้รับหมายเรียก เป็นต้น
             3.ไม่ควรคิดว่า ได้รับหมายศาลแล้วไม่เป็นไร คงไม่มีใครทำอะไร เพราะหมายศาลเป็นกระบวนพิจารณาคดีเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในคดี หากได้รับหมายแล้วดำเนินการไม่ถูกต้องจะทำให้แพ้คดีได้เลย บางครั้งกฎหมายเพียงข้อเดียวแต่เป็นเส้นผมบังภูเขาที่ทำให้คนที่ประมาทพลาดพลั้ง ต้องแพ้คดีไปโดยไม่รู้ตัว

     รูปที่ 1  ตัวอย่างหมายเรียก ที่มาพร้อมกับสำเนาคำฟ้อง 
                               
           
                      1.คือ ชนิดของหมาย เช่น หมายเรียกแพ่งสามัญ หมายเรียกคดีผบ. เป็นต้น
                      2.คือ คู่ความที่เกี่ยวข้องในคดี โจทก์ จำเลย
                      3.คือ ตัวบุคคลที่ศาลหมายถึง
                      4.คือ คำสั่งศาล เกี่ยวกับการดำเนินการต่อไป
                      5.คือ รายละเอียดการรับหมาย ใครเป็นคนรับ ใครเป็นคนส่ง


         ในคดีแพ่งสามัญ สังเกตุตรงตำแหน่งที่ 1 ตามกฎหมายเมื่อบุคคลใดกล่าวหาว่า ถูกบุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง โต้แย้งสิทธิในทางแพ่ง เช่น ทำผิดสัญญา ทำละเมิด ก็จะไปยื่นฟ้องที่ศาล เมื่อศาลรับคำฟ้องฝ่ายที่ยื่นฟ้องเรียกว่า โจทก์ ส่วนฝ่ายที่ถูกฟ้องจะเรียกว่าจำเลย กระบวนการต่อไปคือ เจ้าหน้าที่่ศาลจะส่งหมายเรียก และสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลย เพื่อให้จำเลยทราบการถูกฟ้อง การส่งหมายโดยทั่วไปมี 2 รูปแบบ คือ ส่งได้โดยจำเลยรับหมายด้วยตนเอง กับ ส่งโดยวิธีอื่น เช่น ปิดหมาย การรับหมายทั้งสองรูปแบบมีผลทางกฎหมายแตกต่างกัน บุคคลที่ถูกหมายถึงในหมาย ไม่ควรประมาท คิดว่าคงไม่เป็นไร ไม่รับหมายไม่มีใครทำอะไรได้ ไม่รู้หรือคิดไปเองว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เพราะเมื่อ เจ้าหน้าที่ส่งหมายไปตรวจสอบพบบ้านเลขที่ตรงตามที่ระบุในทะเบียนราษฎร หากไม่มีผู้ใดรับหมาย ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด เจ้าหน้าที่จะทำการปิดหมายไว้ที่บ้านเลขที่นั้น ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การปิดหมายจะถือว่ามีผลเมื่อระยะเวลาครบสิบห้าวันนับแต่วันปิด เมื่อครบสิบห้าวันกฎหมายได้ปิดปากไว้แล้วถือว่า บุคคลที่ถูกหมายถึงในหมายทราบว่าถูกฟ้องแล้ว ซึ่งจะต้องยื่นคำให้การภายในสิบห้าวัน
           ในคดีผู้บริโภค ในหมายจะเขียนไว้ในตำแหน่งที่ 1 ว่า ผบ.ซึ่งการปฏิบัติจะแตกต่างจากคดีแพ่งสามัญ โดยเมื่อได้รับหมายแล้ว จะมีเวลายื่นคำให้การได้ภายในวันที่ระบุไว้ในหมาย โดยไม่จำต้องยื่นภายในกำหนดสิบห้าวันเหมือนคดีแพ่งสามัญ
         
           จะเห็นได้ว่ารายละเอียดต่างๆ ในหมายศาล ได้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายอย่างเป็นระบบแล้ว จำต้องศึกษากฎหมายอย่างละเอียด และเข้าใจ และมีประสบการณ์ จึงจะดำเนินการตามกฎหมายได้ถูกต้อง การถูกฟ้องคดี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีทนายความผู้มีวิชาชีพ ให้คำปรึกษา และหาทางออก เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ถูกต้อง ต่อเนื่อง เป็นธรรม ไม่ปล่อยไก่หลุดออกไป 

            ***ติดต่อสำนักงานทั่วราชอาณาจักรโทร 0929501440  หรือที่ไลน์ไอดี   pnek***   

Add Friend


       
                     
                     
           
               

ยืม เงิน แล้ว ไม่ คืน

วิธี แก้เผ็ด คนที่ยืมเงินแล้วไม่คืน
           
        ตอนขอยืมพูดดีมาก แต่พอไปตาม เดี๋ยวจะให้วันนั้น วันนี้ จนทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้เงินคืน เสียความเป็นเพื่อน พี่ น้อง ญาติ ไปเลย ยืม เงิน แล้ว ไม่ คืน นี้เป็นปัญหาระดับชาติ มาหาทางแก้ปัญหากันดีกว่า
            คงต้องติดต่อสำนักงานทนายความสักแห่ง เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องดังนี้
            ในทางแพ่ง  ทนายความอาจส่งหนังสือบอกกล่าว หรือ notice ให้อีกฝ่ายหนึ่งนำเงินมาชำระหนี้ หากอีกฝ่ายไม่ปฏิบัติตามก็ต้องฟ้องศาลต่อไป หรือทนายบางท่านอาจจะฟ้องศาลเลย เพราะอาจจะใกล้หมดอายุความแล้ว เพราะคดีแพ่งหากอีกฝ่ายไม่ชำระหนี้ต้องใช้คำพิพากษาของศาลจึงจะสามารถบังคับคดียึดทรัพย์ของอีกฝ่ายมาขายทอดตลาด แล้วนำเงินที่ขายได้นั้นมาชำระหนี้ให้เราได้
             ในทางอาญา ถ้าปรากฏว่า สืบทราบว่า อีกฝ่ายหนึ่งมีการ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไป ซึ่งทรัพย์สินของตน เพื่อไม่ให้ผู้ให้กู้ยืมได้รับชำระหนี้ ก็อาจมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ซึ่งมีโทษทางอาญา ด้วย เมื่อดำเนินคดีอาญา อีกฝ่ายอาจร้อนตัว เอาเงินมาชำระหนี้ ก็ถือว่าดีไป
             ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐ ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่ บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
         เตรียมหลักฐานดังนี้
                  1.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
                  2.สำเนาทะเบียนบ้าน
                  3.สำเนาสัญญากู้ยืมเงิน และ ค้ำประกัน


 ปรึกษาทนายความ แอดไลน์เลย
          
       

ส ค 1 ออก โฉนด

      ส ค 1 ออกเป็นโฉนด มีเอกสาร และขั้นตอนดังนี้
        1.หลักฐาน ส.ค.1
      2.หลักฐาน การได้มาซึ่งที่ดิน  เช่นสัญญาซื้อขาย สัญญาให้ เป็นต้น
      3.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
      4.สำเนาทะเบียนบ้าน
      5.ภาพถ่ายที่ดิน
      6.หลักฐานอื่นๆ ตามที่สำนักงานจะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

        ***หากหาเอกสารไม่พบ  ทางสำนักงานมีบริการคัดถ่ายให้***

  
                                  ***ค่าจ้าง ตามตกลง***   
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ส ค 1 คือ แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ซึ่งผู้แจ้งได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน ว่าผู้แจ้งได้ครอบครองที่ดินนั้นอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ซึ่งผู้แจ้งการครอบครองที่ดินตามหลักฐาน ส.ค.1 ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่ผู้แจ้งมีสิทธิครอบครอง ซึ่งตามกฎหมายมีสิทธิใช้สอยที่ดิน ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครอง เรียกเอาคืนการครอบครองจากผู้ที่แย่งการครอบครอง และมีสิทธิโอนการครอบครองได้ ส่วนการทำนิติกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหรือโอนที่ดิน ส ค 1 สามารถทำได้โดยการส่งมอบการครอบครองแก่กัน โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ขอ เป็น ผู้จัดการ มรดก

ขอ เป็น ผู้จัดการ มรดก
        เมื่อบุคคลใดตาย หรือถือว่าตายตามกฎหมาย ทรัพย์สินต่างๆ เช่น ที่ดิน บ้าน รถยนต์ ห้องชุด เงินในธนาคาร ทอง หุ้น หรือทรัพย์สินต่างๆ ที่บุคคลนั้นมีอยู่ก่อนหรือ ในขณะถึงแก่ความตาย ย่อมตกเป็นมรดก ตกทอดแก่ทายาทตามกฎหมาย หากทรัพย์มรดกมีค่ามาก และ ทายาทมีหลายคน อาจจะต้องประสบปัญหาในการปันทรัพย์มรดก ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่อง ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการปันทรัพย์มรดก จึงควรมีผู้จัดการมรดก เป็นผู้ดำเนินการปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท จึงมีความจำเป็นต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกเสียก่อน
         
         โดยท่านผู้ชม เพียงแต่เตรียมเอกสารให้พร้อมดังนี้ นะครับ
         
         1.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 2 ชุด
         2.สำเนาทะเบียนบ้าน 2 ชุด
         3.หลักฐานการสมรสของบิดามารดา กรณีรับมรดกของบิดา
         4.สำเนาใบมรณบัตรของคนตาย
         5.สำเนาเกี่ยวกับ มรดกของผู้ตาย เช่น โฉนดที่ดิน, นส.๓,  ส.ค.๑, สมุดบัญชีธนาคาร, คู่มือทะเบียนรถ 
         6.หนังสือยินยอมของทายาท
              
         โดยเอกสารทุกอย่างหากหาไม่พบ ทาง สำนักงานเน็กลอว์ทนายความ มีบริการคัดถ่ายให้ 
    
         เมื่อเตรียมเอกสารพร้อมแล้ว สามารถติดต่อทนายความ เพื่อดำเนินการที่เบอร์โทร  
         098-6165819 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั่วราชอาณาจักร

...............................................................................................................................................................

     
       

วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2563

สิทธิครอบครองและการครอบครองปรปักษ์

สิทธิครอบครองและการครอบครองปรปักษ์

            สิทธิครอบครอง คือ สิทธิที่จะยึดถือทรัพย์สินไว้เพื่อตน ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๖๗ ว่า "บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง"
            สิทธิครอบครองเป็นสิทธิส่วนหนึ่งของกรรมสิทธิ์และเป็นสิทธิที่มีความยิ่งใหญ่รองจากกรรมสิทธิ์ เจ้าของสิทธิครอบครองมีอำนาจใช้สอยทรัพย์ ให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครอง เรียกเอาคืนซึ่งการครอบครอง ได้ดอกผล และโอนสิทธิครอบครองได้ คล้ายกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทั้งเป็นสิทธิที่ใช้ยันต่อบุคคลอื่นได้ทั่วไป
            การจะได้สิทธิครอบครอง ต้องครบองค์ประกอบ 2 อย่างคือ
            1.มีการยึดถือทรัพย์สิน
            2.มีเจตนายึดถือเพื่อตน
         
            การยึดถือทรัพย์สิน  คือ ได้เข้าครอบครองทรัพย์สินไว้เท่านั้น และการยึดถือนี้ไม่จำเป็นจะต้องยึดถือ หรือครอบครองทรัพย์สินนั้นไว้ด้วยตนเอง ผู้อื่นยึดถือหรือครอบครองแทนก็เป็นการยึดถือได้ดังที่ มาตรา ๑๓๖๘ บัญญัติว่า
            "บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้"
             ตัวอย่าง เช่น นาย ก ไปกู้เงิน นาง ข โดยนำที่นามอบไว้ นาง ข ทำกินต่างดอกเบี้ย  ถือว่า  นาย ก เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง  ส่วนนาง ข เป็น ผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินแทนนาย ก เป็นต้น
             คำว่า "ครอบครอง" ต่างจาก "สิทธิครอบครอง"
             ครอบครอง เป็นคำธรรมดาสามัญ หมายถึงกิริยาเข้ายึดถือทรัพย์สิน ตามตัวอย่าง นาง ข. เข้าทำนาก็ได้ชื่อว่า นาง ข.ยึดถือนา  แต่จะเรียกว่า นาง ข.มีสิทธิครอบครองอันเป็นทรัพยสิทธิตามกฎหมายในนานั้นยังไม่ได้ จนกว่า นาง ข จะยึดถือนานั้น เพื่อตนเอง  และที่สำคัญ นาง ข ต้องบอกกล่าว เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยัง นาย ก ด้วย จึงจะได้สิทธิครอบครอง
             เจตนายึดถือทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อตน  หมายความว่ามีเจตนาที่จะยึดถือ ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์ของตนเอง เช่น กู้เงินแล้วมอบที่ดินมือเปล่าให้เจ้าหนี้ทำกินต่างดอกเบี้ย โดยสัญญาว่าถ้าไม่ชำระภายในกำหนดยอมให้ผู้ให้กู้ยึดเอาที่ดินไว้โดยผู้กู้ไม่เกี่ยวข้อง ดังนี้ถ้าไม่ชำระหนี้ตามกำหนดถือว่าผู้ให้กู้ได้ยึดถือที่นาเพื่อตนแล้ว และเป็นการแย่งการครอบครอง เมื่อเกิน ๑ ปี ผู้กู้จึงฟ้องเรียกคืนมิได้ ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ผู้ใดมียึดถือโดยเจตนายึดถือเพื่อตนหรือไม่ ต้องสันนิษฐานว่าผู้ที่ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้มีเจตนายึดถือเพื่อตน เป็นหน้าที่ของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งต้องนำสืบหักล้าง
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๗๖ ถึง ๑๐๗๙/๒๕๑๐ ผู้ไม่มีสิทธิในที่ดินแม้จะไปแจ้งการครอบครองจนได้ ส.ค.๑ และได้รับ น.ส.๓ แล้ว ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองในที่ดินนั้น ผู้ที่ซื้อโดยสุจริต และจดทะเบียนแล้วก็ไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินนั้น
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๗๑๙/๒๕๑๔ การแจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอ(แจ้ง ส.ค.๑) หาใช่เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าผู้แจ้งการครอบครองเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินนั้นเสมอไปไม่
             ปพพ. มาตรา ๑๓๖๙ บัญญัติว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๕๙/๒๔๘๑, ๘๗๐/๒๔๘๖, ๑๒๐๘/๒๔๙๑ และ ๑๙๖๙/๒๔๙๔ วินิจฉัยว่า กู้เงินแล้วมอบที่ดินมือเปล่าให้เจ้าหนี้ทำกินต่างดอกเบี้ย โดยสัญญาว่าถ้าไม่ชำระภายในกำหนดยอมให้ผู้ให้กู้ยึดเอาที่ดินไว้โดยผู้กู้ไม่เกี่ยวข้อง ดังนี้ถ้าไม่ชำระหนี้ตามกำหนดถือว่าผู้ให้กู้ได้ครอบครองที่นาเพื่อตนแล้ว เมื่อเกิน ๑ ปี ผู้กู้จึงฟ้องเรียกคืนมิได้
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๔๕/๒๕๑๘ ที่ป่าสงวนก็มีสิทธิครอบครองได้และมีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ที่ขออาศัยทำไร่ได้
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๖๖/๒๕๒๓ ที่ดิน ๖๐-๗๐ ไร่ โจทก์เพียงแต่เข้าไปตัดฟืนเผาถ่านเล็กน้อยเป็นครั้งคราว เอาโคเข้าไปเลี้ยง ไม่พอฟังว่าได้สิทธิครอบครอง
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๓๓๐/๒๕๒๕ การครอบครองทรัพย์มรดกในฐานะทายาทและฐานผู้จัดการมรดก ถือเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จะยกอายุความตามมาตรา ๑๗๕๔ มาใช้มิได้
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๐๔/๒๕๓๒ ก่อนเจ้ามรดกตายได้พูดยกที่ดินมือเปล่าให้บุตรแต่ละคน โดยบุตรคนใดปลูกบ้านอยู่ในที่ดินส่วนใดก็ให้ที่ดินส่วนนั้น โจทก์ครอบครองปลูกบ้านอยู่ในที่พิพาทอย่างเป็นเจ้าของ แม้ต่อมาจำเลยจะไปขอรับมรดกที่พิพาทและขอออก น.ส.๓ เมื่อโจทก์ยังครอบครองที่พิพาทตลอดมา จำเลยก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ในที่พิพาท
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๔๔/๒๕๒๐ จำเลยฝากนาไม่มีหนังสือสำคัญไว้กับน้อง น้องขายนานั้นให้แก่โจทก์ โจทก์ครอบครองมา ๓ ปี ถือว่าเป็นการครอบครองแทนจำเลย โจทก์ไม่ได้สิทธิครอบครองในนานั้น
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๓๑๖/๒๕๑๙ ผู้คัดค้านเป็นผู้ใช้สิทธิครอบครองที่พิพาท การที่ผู้ร้องถือโฉนดและเสียภาษีบำรุงท้องที่ และเข้าไปตัดฟืนเป็นครั้งคราว ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครองในที่พิพาท
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๕๘/๒๕๑๙ ผู้ร้องทำสัญญาจะขายที่ดิน ส.ค.๑ ให้จำเลยโดยยอมให้จำเลยครอบครองไปก่อนได้ และยอมให้ที่ดินนี้เป็นประกันเงินกู้ที่ผู้ร้องกู้จำเลย ดังนี้ถือว่าจำเลยยึดถือที่ดินแทนผู้ร้อง แม้จำเลยชำระราคาครบถ้วนแล้ว ก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๐๕/๒๔๘๑ วินิจฉัยว่า ที่จะอ้างว่าได้สิทธิครอบครองทรัพย์สินนั้น จะต้องปรากฏว่าได้ครอบครองทำประโยชน์เหมาะสมกับสภาพของทรัพย์สินและอัตภาพของตน มิฉะนั้นไม่แสดงว่ามีเจตนายึดถือเพื่อตน ที่ดินกว้าง ๒-๓ เส้นในป่าไม้ขึ้นเต็มคง ให้กระบือนอนทำแอ่งน้ำไว้ แล้วจึงตกกล้า ไม่ถือว่าได้สิทธิครอบครอง
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๑๕/๒๕๐๗ และ ๒๖๘/๒๕๐๘ ครอบครองที่พิพาทในระหว่างเป็นความกัน จะอ้างว่ายึดถือเพื่อตนมิได้ แม้ศาลฎีกาพิพากษาแล้วจะยังคงครอบครองต่อมาก็เป็นการครองครองสืบต่อต่อมาในระหว่างคดี ถือว่าครอบครองแทนผู้ชนะคดีไม่ได้สิทธิครอบครอง เว้นแต่จะบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา ๑๓๘๑
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๓๘/๒๔๙๙ เป็นเจ้าของหนองน้ำใช้สิทธิจับปลาแต่ในฤดูจับปลาเพียง ๓ เดือนในปีหนึ่ง ส่วนนอกฤดูจับปลาปล่อยให้ผู้อื่นทำนาตามขอบหนอง ดังนี้ถือว่าเจ้าของหนองยังครอบครองขอบหนองอยู่ และผู้ทำนาก็ยังถือมิได้ว่าเจตนายึดถือเพื่อตน
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๓๖-๘๓๗ /๒๔๙๗ เพียงแต่ปลูกต้นสาคูลงในลำห้วยังไม่เป็นการครอบครองที่ป่าตามใบเหยียบย่ำ ไม่มีอำนาจฟ้องบุกรุก
             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๓๔๔-๔๓๕๐/๒๕๓๒ กระทรวงมหาดไทยจัดสรรที่ให้จำเลย โจทก์แย่งการครอบครองที่ดินนั้นในระหว่างที่ทางราชการดำเนินการเพื่อออกหลักฐานเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินให้จำเลยดังนี้ถือว่าเป็นการยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙ แม้โจทก์จะครอบครองมานานเพียงใดก็ไม่มีอำนาจฟ้องห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่พิพาท หรือให้จำเลยถอนคำขอออก น.ส.๓ ก.
           
             แม้ว่ามาตรา ๑๓๖๙ ยัญญัติไว้ว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน แต่ถ้าทรัพย์สินที่ยึดถือนั้น เป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มีการจดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน เช่น ที่ดินที่มีโฉนดหรือตราจอง จะสันนิษฐานจะต้องสันนิษฐานว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง โดยมีหลักกฎหมายตาม ปพพ.มาตรา ๑๓๗๓
              ปพพ.๑๓๗๓ ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
              คำว่า บุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนตามมาตรา ๑๓๗๓ คือ บุคคลที่มีชื่อในโฉนดทุกประเภท และ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือ น.ส.๓ ทุกประเภท
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๗๖/๒๕๒๐  ที่ดินที่มีทะเบียน น.ส.๓ น.ส.๓ ก. ถือว่ามีทะเบียนที่ดินแล้ว บุคคลที่มีชื่อในทะเบียนที่ดินนั้น ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามมาตรา ๑๓๗๓
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๓๔๓/๒๕๓๙ และ ๕๑๓๒/๒๕๓๙ วินิจฉัยว่า ที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้ว ถือว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนที่ดิน
              ในเรื่องทะเบียนที่ดินประเภทที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ ตามปกติผู้ที่มีชื่อในทะเบียนที่ดินย่อมเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น แต่ผู้มีกรรมสิทธิ์อาจไม่ได้ยึดถือครอบครองที่ดินเอง โดยการยึดถือครอบครองอาจไปตกอยู่แก่บุคคลอื่นได้ ในเมื่อผู้มีกรรมสิทธิ์มิได้ยึดถือที่ดินไว้ เช่น เจ้าของที่ดินมีโฉนดนำที่ดินนั้นให้ผู้อื่นเช่า ผู้เช่าเป็นผู้ยึดถือที่ดินนั้นแทนเจ้าของ หากผู้เช่านำสืบไม่ได้ว่า ได้ยึดถือที่ดินนั้นโดยเจตนายึดถือเพื่อตน จะต้องถือตามกฎหมายที่ให้สันนิษฐาน ว่า ผู้มีชื่อในโฉนดเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
              การครอบครองทรัพย์สินแทนผู้อื่น และ การเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ เป็นยึดถือเพื่อตน
              ตาม ปพพ.มาตรา ๑๓๘๑ บัญญัติว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองบุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่า ไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก
              บุคคลที่ยึดถือทรัพย์สิน คือ บุคคลที่เข้าใช้ประโยชน์ในตัวทรัพย์สินนั้นโดยตรง
              ผู้ครอบครอง คือ ผู้มีสิทธิครอบครอง อันเป็นทรัพยสิทธิ
              การเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ นั้น จะบอกกล่าวด้วยวาจา ด้วยหนังสือ หรือด้วยอากัปกิริยาอย่างใดอันแสดงให้อีกฝ่ายรู้ว่าได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ก็ได้ เช่น จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยในที่ดินโจทก์ เมื่อโจทก์นำรังวัดที่พิพาทเพื่อออกโฉนดจำเลยไปคัดค้าน ดังนี้เป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์แล้ว การคัดค้านของจำเลยถือว่าได้แสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ตามมาตรา ๑๓๘๑ แล้ว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๙๖-๗๐๐/๒๔๙๓)
                เช่าที่ดินจากเขา เมื่อเขามาทวงค่าเช่า ก็ไม่ยอมให้และอ้างว่าเป็นที่ดินของตน ดังนี้เป็นการเปลี่ยนเจตนายึดถือแล้ว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๕๒-๒๔๙๘)
                การที่ผู้ให้กู้นำที่ดินที่ผู้กู้นำมาเป็นประกันและให้ทำกินต่างดอกเบี้ยไปแจ้งการครอบครองตามแบบ ส.ค.๑ ว่าเป็นของตนเสียนั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๗๕/๒๕๐๖
                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๗๕/๒๕๑๙ บิดาครอบครองทรัพย์มรดกของภริยาแทนผู้เยาว์ แล้วขายทรัพย์มรดกนั้นไปส่วนหนึ่งโดยปรึกษากับบุตรทุกคนว่าขายแล้วจะเอาเงินไว้เป็นกองกลาง ไม่ถือเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ
                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๕๔/๒๕๑๙ วินิจฉัยว่า การที่บุคคลผู้ยึดถือที่ดินแทนผู้ครอบครองได้ขอออก น.ส.๓ สำหรับที่ดินนั้น แม้เจ้าของที่ดินนั้นจะไปคัดค้านต่ออำเภอ ก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้ยึดถือไว้แทนได้เปลี่ยนลักณะแห่งการยึดถือ ทั้งนี้เพราะว่าผู้ยึดถือไว้แทนมิใช่เป็นผู้บอกกล่าวเปลี่ยนการยึดถือให้เจ้าของที่ดินทราบ
                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๐๕๐/๒๕๓๓ โจทก์และจำเลยต่างครอบครองที่พิพาทร่วมกัน แม้ต่อมาโจทก์ไม่ได้ครอบครองแต่ให้จำเลยครอบครอง ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์ การที่จำเลยเป็นผู้นำสำรวจเขตเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ และเป็นผู้ออกเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่ ไม่ถือเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา ๑๓๘๑
                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๐๕/๒๕๑๙ วินิจฉัยว่า การที่จำเลยพูดว่าทรัพย์ส่วนของเจ้ามรดกเอาไว้เป็นเบี้ยเผาผี แล้วจำเลยคงครอบครองทรัพย์นั้นไว้ต่อมา และยังรื้อเรือนไปปลูกที่อื่น กับอ้างว่า น.ส.๓ สำหรับที่ดินว่าเป็นของจำเลยด้วย ดังนี้ ถือเป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา ๑๓๘๑ แล้ว โจทก์ต้องฟ้องเอาการครอบครองที่ดินคืนภายใน ๑ ปี
                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๕/๒๕๒๑ จำเลยครอบครองทำนาต่างดอกเบี้ยเงินกู้ เมื่อผู้กู้ขอไถ่คืนจำเลยไม่ยอมให้ไถ่ อ้างว่านาเป็นของจำเลย ถือได้ว่าได้บอกกล่าวไม่ยึดถือแทนต่อไป อ้างว่านาเป็นของจำเลย ถือได้ว่าได้บอกกล่าวไม่ยึดถือแทนต่อไป
                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๐/๒๕๒๒ จำเลยทำนาโจทก์ต่างดอกเบี้ย โจทก์ขอไถ่ จำเลยไม่ให้ไถ่ อ้างว่าเป็นการขายขาด ดังนี้เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือแทนโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ฟ้องเรียกคืนภายใน ๑ ปี ย่อมไม่มีสิทธิฟ้อง
                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๒๓/๒๕๒๒ ผู้เช่านาไม่ยอมเสียค่าเช่า ไม่ยอมออกจากที่เช่าและไม่ยอมให้ผู้เก็บค่าเช่าทำนา เป็นการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือแล้ว
                 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๖๕/๒๕๐๘ การที่จำเลยผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ได้บอกโจทก์ว่าจะไม่ให้ทรัพย์มรดกนั้นแก่โจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยพูดด้วยความโมโห ไม่มีเจตนาจริงจัง ก็ไม่ถือว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา ๑๓๘๑
                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๖๕/๒๕๓๓ จำเลยทำสัญญาขายฝากที่พิพาทที่มี น.ส.๓ เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยยังครอบครองที่พิพาทตลอดมา โจทก์ขอให้จำเลยทำสัญญาเช่าที่พิพาทจากโจทก์จำเลยไม่ทำ และต่อมาได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากทางราชการเกี่ยวกับการขายฝาก ถือว่าจำเลยโต้แย้งการครอบครองและได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือสำหรับที่พิพาทแล้ว โจทก์ฟ้องคดีเกิน ๑ ปี นับแต่วันสัญญาขายฝากครบกำหนด จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๗๖๒/๒๕๓๖ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า โจทก์เป็นผู้ซื้อประทานบัตรเหมืองแร่ ซึ่งให้สิทธิแก่โจทก์ได้สิทธิตามผิวดินที่จะทำเหมืองแร่เท่านั้น บ. ผู้ได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ในที่ดินพิพาทหาได้โอนสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ไม่ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทยังเป็นของ บ. เจ้าของเดิมหรือทายาทผู้สืบสิทธิทางมรดกสืบต่อกันมา การที่จำเลยไปสอบเขตที่ดินพิพาทและโจทก์ยื่นคัดค้านว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของ โดยไม่ได้อาศัยสิทธิอื่นใดนอกเหนือจากสิทธิตามประทานบัตรเหมืองแร่ ซึ่งมีสิทธิที่จะเก็บประโยชน์ได้จากพื้นผิวดินเท่านั้น จะถือว่าคำคัดค้านของโจทก์เป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไม่ได้
                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๙๖๕/๒๕๓๙ การที่ผู้ขายฝากที่ดินขอไถ่ถอนการขายฝากก่อนครบกำหนดไถ่ แต่ผู้ซื้อฝากไม่ยอมให้ไถ่เป็นการผิดสัญญา ไม่ถือว่าผู้ขายฝากบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือโดยจะเอาที่ดินเป็นของตน
                  การยึดทรัพย์สินแทนผู้มีสิทธิครอบครองตามมาตรา ๑๓๘๑ นี้ หากผู้มีสิทธิครอบครองตาย มีปัญหาว่า การยึดถือแทนจะสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่ มีแนวคำพิพากษา เป็นบรรทัดฐานดังนี้
                  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1579/2514 วินิจฉัยว่า เจ้าของที่ดินมีโฉนดอนุญาตให้มารดาทำกินในที่ดินนั้น ถือว่ามารดาครอบครองแทนเฉพาะในระหว่างที่เจ้าของยังมีชีวิตอยู่ หากเจ้าของที่ดินตาย มารดาซึ่งเป็นทายาทด้วยผู้หนึ่งจะถือว่าครอบครองแทนสามีของผู้ตายด้วยมิได้ หากสามีมิได้ฟ้องคดีภายใน ๑ ปี นับตั้งแต่เจ้ามรดกตาย คดีย่อมขาดอายุความ แต่คำพิพากษาฎีกาที่ 2128/2518 วินิจฉัยว่า ครอบครองทรัพย์ไว้แทนผู้ใดแม้ผู้นั้นตายไปแล้วก็ต้องถือว่าครอบครองไว้แทนทายาทของผู้นั้นต่อไป ระหว่างคำพิพากษาฎีกาทั้งสองนี้ คำพิพากษาฎีกาที่ 1579/2514  น่าจะมีเหตุผลดีกว่า เพราะการยึดถือไว้แทนนั้นจะต้องยึดถือแทนผู้ที่มีตัวตนแน่ชัด ดังนั้นเมื่อผู้นั้นตาย ปัญหาว่าจะมีทายาทหรือไม่ และเป็นผู้ใดบ้างเป็นการไม่แน่ชัด จะยึดถือไว้แทนได้อย่างใด แต่มีคำพิพากษาฎีกาที่ 4548/2532 วินิจฉัยว่า ผู้ร้องทั้งสี่ และ ส.เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนด และได้ครอบครองร่วมกันมา เมื่อ ส. ตาย ผู้ร้องที่ 1 ได้เลี้ยงดูบุตรทั้งสองของ ส. ซึ่งเป็นผู้เยาว์โดยความรู้เห็นของผู้ร้องที่ 2 ถึงที่ 4 จึงถือว่าผู้ร้องทั้งสี่ครอบครองที่ดินรวมถึงนาของ ส. ไว้แทนบุตรทั้งสองของ ส. เมื่อบุตรของ ส. ทั้งสองได้หนีไป และไม่ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งสี่เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ดังนั้นแม้ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินมาถึง 10 ปีก็มิได้กรรมสิทธิ์
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 699/2536 ผู้เช่าที่พิพาทเมื่อผู้ให้เช่าตายโดยไม่ได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ ได้บอกกล่าวไปยังทายาทของผู้ให้เช่าว่าจะยึดถือที่พิพาทแทนทายาทของผู้ให้เช่าต่อไป ดังนี้แม้ผู้เช่าจะครอบครองที่พิพาทมาช้านานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 2617/2536 จำเลยเป็นหลานของ ล. อาศัยสิทธิ ล.เข้าทำกินในที่พิพาท เมื่อ ล. ตาย จำเลยมิได้แจ้งให้ทายาทของ ล.ว่า จะครอบครองที่พิพาทเพื่อตน ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทแทนทายาทของ ล. แม้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ คำสั่งศาลก็ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งไม่ใช่คู่ความในคดีนี้
                   มีปัญหาว่าการบอกกล่าวนั้น จะต้องบอกกล่าวโดยตรงต่อผู้มีสิทธิครอบครองหรือไม่ ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1208/2496 วินิจฉัยว่า บุตรเช่านาจากมารดา เมื่อน้องมาทวงค่าเช่านา กลับเถียงว่าเป็นของตน ดังนี้ จะถือว่าบุตรแย่งการครอบครองจากมารดามิได้เพราะเป็นการเช่าจากมารดา แต่มาเถียงสิทธิกับน้อง แต่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1307/2509 วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำขอการรับรองการทำประโยชน์ที่ดินต่ออำเภอ จำเลยได้คัดค้านอ้างว่าโจทก์รังวัดทับที่นาของจำเลย ดังนี้เมื่อโจทก์รับทราบคำคัดค้านของจำเลยแล้ว ถือได้ว่าจำเลยได้บอกกล่าวไปยังโจทก์โดยตรงว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่พิพาทแทนโจทก์ หากแต่จะยึดถือเพื่อตนเองตามมาตรา 1381 และคำพิพากษาฎีกาที่ 2789/2536 วินิจฉัยว่า บิดาจำเลยให้โจทก์อาศัยอยู่ในที่พิพาท แม้โจทก์ได้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยโจทก์ไม่ได้แจ้งให้บิดาจำเลยทราบ ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาเปลี่ยนการครอบครองจากผู้อาศัยมาเป็นครอบครองเพื่อตนเองตามมาตรา 1381 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสามฉบับนี้แสดงว่า การบอกกล่าวตามมาตรา 1381 ควรจะต้องบอกกล่าวโดยตรงต่อผู้มีสิทธิครอบครอง แต่ถ้าเป็นการบอกกล่าวต่อผู้อื่น หากผู้มีสิทธิครอบครองได้ทราบแล้ว ก็ถือว่าได้มีการบอกกล่าวต่อผู้มีสิทธิครอบครองแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การบอกกล่าวต่อผู้มีอำนาจแทนผู้มีสิทธิครอบครองเช่น ตัวแทน สามีหรือภรรยา เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่ง ย่อมเพียงพอที่จะถือว่าได้บอกกล่าวโดยตรงต่อผู้มีสิทธิครอบครองแล้ว คำพิพากษาฎีกาที่ 3962/2533 โจทก์อยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของจำเลย ต่อมาจำเลยมอบอำนาจให้ บ.ยื่นขอออกโฉนดและมอบให้ดูแลที่พิพาทแทน เมื่อ บ. นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่พิพาท โจทก์แจ้งความดำเนินคดีแก่ บ. และมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินคัดค้านการรังวัด เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินเรียกคู่กรณีมาเจรจา โจทก์ก็อ้างว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ พฤติการณ์พอถือได้ว่าโจทก์บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่พิพาทไว้แทนจำเลยมาเป็นยึดถือเพื่อตนเองแล้ว
                    การครอบครองโดยสุจริตอาศัยอำนาจใหม่จากบุคคลภายนอก เช่น ก.ครอบครองที่นามือเปล่าแทน ข. ต่อมา ค. นำ ส.ค.๑ มาแสดงว่า ข. ขายนานั้นให้ตนแล้ว ก.เชื่อว่าเป็นความจริงจึงซื้อนานั้นจาก ค. ดังนี้ นับแต่นั้นต้องถือว่า ก. ครอบครองเพื่อตนแล้ว
                    เกี่ยวกับสิทธิครอบครองนี้มีบทกฎหมายสันนิษฐานเป็นคุณแก่ผู้มีสิทธิครอบครองอยู่หลายมาตรา คือ
                    มาตรา ๑๓๗๐ บัญญัติว่า
                    ผู้ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าครอบครองโดยสุจริตด้วยความสงบและโดยเปิดเผย
                    มาตรา ๑๓๗๑ บัญญัติว่า
                    ถ้าพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดครอบครองทรัพย์สินเดียวกันสองคราว ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นได้ครอบครองติดต่อกันตลอดเวลา
                    มาตรา ๑๓๗๒ บัญญัติว่า สิทธิซึ่งผู้ครอบครองใช้ในทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสิทธิซึ่งผู้ครอบครองมีตามกฎหมาย
                    คำว่าผู้ครอบครองในมาตรา ๑๓๗๐ และ ๑๓๗๒ นั้น ย่อมหมายถึงผู้มีสิทธิครอบครอง มิใช่ผู้ครอบครองที่เพียงแต่ยึดทรัพย์สินไว้เฉยๆ โดยขาดเจตนายึดถือเพื่อตน
                    ตามมาตรา ๑๓๗๐ ผู้มีสิทธิครอบครองซึ่งครอบครองทรัพย์สินไว้นั้น เบื้องแรกต้องถือว่า ครอบครองโดยสุจริต โดยความสงบ และโดยเปิดเผย ผู้ใดจะเถียงเป็นอย่างอื่นมีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้าง เช่น ผู้ใดจะอ้างว่าผู้ที่ครอบครองที่ดินครอบครองโดยการบุกรุกที่ดินของผู้อื่นก็ดี ผู้ที่ใส่นาฬิกาข้อมือขโมยเขามาก็ดี จะต้องเป็นผู้นำสืบพิสูจน์ทั้งสิ้ิน มาตรา ๑๓๗๐ ให้สันนิษฐานไว้เพียงสามประการเท่านั้น หาได้สันนิษฐานต่อไปว่าผู้ครอบครองนั้นเจตนาครอบครองยึดถืออย่างเป็นเจ้าของ ด้วยไม่
                    ตามมาตรา ๑๓๗๑ นั้นเป็นเรื่องที่ผู้ครอบครองยึดถือทรัพย์สินนำสืบไม่ได้ว่าตนได้ครอบครองทรัพย์สินติดต่อกันตลอดไป เพียงแต่นำสืบได้เพียงว่าตนได้ครอบครองยึดถือทรัพย์สินนั้นสองคราว คือแรกคราวหนึ่งและเว้นระยะมา แล้วจึงมาครอบครองครั้งหลังอีกคราวหนึ่ง ดังนี้มาตรา ๑๓๗๑ สันนิษฐานว่าผู้นั้นครอบครองยึดถือทรัพย์สินนั้นติดต่อกันตลอดเวลา มาตรานี้มีประโยชน์ในการนับระยะเวลาการครอบครองเพื่อจะได้กรรมสิทธิ์ ตาม มาตรา ๑๓๘๒
                     ตามมาตรา ๑๓๘๒ เป็นเรื่องที่กฎหมายถือว่าสิทธิของผู้มีสิทธิครอบครองที่ใช้ต่อตัวทรัพย์สินที่ตนครอบครองยึดถืออยู่นั้นเป็นสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ใดจะโต้เถียงว่าเป็นสิทธิที่ไม่ชอบต้องมีหน้าที่นำสืบ หักล้าง เช่น ผู้ที่ขโมยทรัพย์เขามาและยึดถือไว้เพื่อตน ย่อมมีสิทธิครอบครอง เมื่อมีผู้ใดมาเอาทรัพย์นั้นต่อไป ขโมยย่อมมีสิทธิเรียกเอาทรัพย์นั้นคืน ตามมาตรา ๑๓๗๕ และการใช้สิทธิเช่นนี้ ย่อมถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ เว้นแต่เจ้าของทรัพย์ผู้มีกรรมสิทธิ์จะโต้แย้งว่าตนมีสิทธิดีกว่า เพราะ ขโมย นั้น ลักทรัพย์ของตนมา ในกรณีเช่นนี้เจ้าของทรัพย์ย่อมมีหน้าที่นำสืบ
                     ผลของการมีสิทธิครอบครอง
                     ผู้มีสิทธิครอบครองย่อมมีสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้สิทธิครอบครองของตนดังต่อไปนี้
                     ๑.ผู้มีสิทธิครอบครองมีสิทธิให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๗๔ ว่า
                      "ถ้าผู้ครอบครองถูกรบกวนในการครอบครองทรัพย์สิน เพราะมีผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร์ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะให้ปลดเปลื้องการรบกวนนั้นได้ ถ้าเป็นที่น่าวิตกว่าจะยังมีการรบกวนอีก ผู้ครอบครองจะขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้
                      การฟ้องคดีเพื่อปลดเปลื้องการรบกวนนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกรบกวน
                      ผู้ครอบครองดังกล่าวในมาตรา ๑๓๗๔ นี้ย่อมหมายถึงสิทธิครอบครอง มิใช่เป็นเพียงผู้ยึดถือครอบครองโดยมิได้เจตนายึดถือเพื่อเพื่อตน เพราะเพียงแต่ยึดถือหรือครอบครองทรัพย์สินเฉยๆ โดยยังไม่มีสิทธิครอบครองนั้น หามีอำนาจที่จะฟ้องผู้ใดไม่ คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๗๕/๒๕๑๘ ผู้เช่าอาคารซึ่งครอบครองอาคารที่เช่า แม้ไม่มีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือ ก็ฟ้องผู้บุกรุกละเมิดการครอบครองนั้นได้ แต่ถ้าผู้เช่ายังไม่ได้เข้าไปครอบครองทรัพย์ที่เช่า ก็ถือว่าผู้เช่ายังไม่มีสิทธิครอบครอง จึงไม่มีอำนาจฟ้องผู้ที่ทำละเมิดต่อทรัพย์ที่เช่านั้นได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๑๖/๒๕๑๓ ผู้เช่าที่ยังไม่เคยเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าไม่มีอำนาจฟ้องผู้ที่ปลูกโรงไว้ในที่เช่าก่อนทำสัญญาเช่า) แต่อย่างไรก็ตาม แม้การได้ซึ่งสิทธิครอบครองจะตกอยู่ในบังคับห้ามโอนตามกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการเกษตร พ.ศ.๒๕๑๑ ก็ต้องถือว่าผู้ครอบครองมีสิทธิครอบครอง ชอบที่จะใช้สิทธิขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองได้(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๕๖/๒๕๓๗)
                     การรบกวนการครอบครองของผู้มีสิทธิครอบครองนั้น ถ้าเป็นการรบกวนการครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ได้มีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒ และ ๓๖๔ บัญญัติเป็นความผิดอยู่แล้ว
                     การรบกวนการครอบครองนี้ อาจเป็นการส่งเสียงรบกวนหรือขัดขวางต่อการใช้ทรัพย์สินของผู้มีสิทธิครอบครอง เช่น เข้าไปใช้ทรัพย์สินของผู้มีสิทธิครอบครองโดยมิได้อนุญาต เป็นต้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๕๖-๘๕๗/๒๕๐๘ เข้าครอบครองที่ดินไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๖ ต่อมาได้แจ้ง ส.ค.๑ ย่อมมีสิทธิครอบครอง ทางราชการไม่มีสิทธิไปปักหลักเขตประกาศเป็นหนองสาธารณะ ถ้าทำถือว่ารบกวนสิทธิของผู้ครอบครอง ผู้ครอบครองมีสิทธิข้อให้ห้ามได้ แต่การสอดแทรกรบกวนนั้นต้องเป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจตามกฎหมาย หรือไม่มีกฎหมายรับรองให้กระทำได้ถ้าเขามีสิทธิกระทำได้โดยชอบ ผู้มีสิทธิครอบครองหาอาจมีสิทธิให้ปลดเปลื้องการรบกวนได้ไม่ เช่น ผู้ที่บุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น แม้จะเจตนายึดถือเพื่อตน แต่ถ้าเจ้าของที่ดินเขาเข้ามาหวงห้ามขับไล่ ตนจะอ้างสิทธิตามมาตรา ๑๓๗๔ นี้มิได้
                     สิทธิที่จะปลดเปลื้องการรบกวนนั้น ผู้มีสิทธิครอบครองย่อมกระทำได้ทันทีโดยไม่ต้องฟ้องร้องต่อศาล แต่ถ้าผู้รบกวนยังขัดขืนหรือโต้แย้งสิทธิอยู่ ผู้มีสิทธิครอบครองต้องฟ้องศาล จะกระทำเองโดยพลการมิได้ และการใช้สิทธิฟ้องศาลนอกจากจะขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนที่เกิดขึ้นแล้ว ยังขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้กระทำการรบกวนได้อีก การโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับการครอบครองที่ดิน ไม่จำต้องถึงกับใช้กำลังกายเข้ายื้อแย่งหรือบุกรุกเข้าไปในที่ดิน เพียงการที่สามีจำเลยเคยร้องเรียนต่อนายอำเภอว่า โจทก์บุกรุกที่ดินนั้น และเมื่อสามีจำเลยตาย จำเลยก็ยังแสดงสิทธิโดยขอให้โจทก์ออกไปจากที่ดินดังกล่าวก็ถือว่า เป็นการโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์จึงชอบจะเสนอคดีเพื่อขจัดข้อโต้แย้งและแสดงสิทธิของโจทก์ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๓/๒๕๑๑) เพียงแต่ฟ้องให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ มิได้ฟ้องขอให้ห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินด้วย มิใช่เป็นการฟ้องขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตาม มาตรา ๑๓๗๔ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๑๙/๒๕๓๘)
                     เนื่องจากสิทธิครอบครองเป็นสิทธิต่ำกว่ากรรมสิทธิ์ ฉะนั้นกฎหมายจึงได้กำหนดระยะเวลาในการฟ้องร้องเพื่อปลดเปลื้องการครอบครองไว้ว่าต้องฟ้องเสียภายในหนึ่งปี บทบัญญัติของมาตรา ๑๓๗๔ จึงนำไปใช้กับที่ดินโฉนดไม่ได้(คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๒๗๙/๒๕๓๗,๒๕๓๔ ถึง ๓๕๒๕/๒๕๔๖) ระยะเวลาที่มาตรา ๑๓๗๔ บังคับให้ฟ้องร้องนั้น มิใช่อายุความฟ้องร้องดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙๓/๙ เหตุนี้แม้จะได้มีการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยฐานบุกรุก ก็จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๕๑ วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้(คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๕๒๖-๕๕๒๘/๒๕๓๘) และแม้จำเลยจะมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙๓/๒๙ ศาลก็ยกขึ้นเองได้ ทั้งนี้โดยเทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๔๖/๒๕๐๕ ซึ่งวินิจฉัยเกี่ยวกับระยะเวลาฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองตามมาตรา ๑๓๗๕ ว่า เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเสียภายในหนึ่งปี ศาลชอบจะยกฟ้องเสียได้ แม้จำเลยจะมิได้ยกมาตรานี้เป็นข้อต่อสู้ก็ตาม
                    ๒.ผู้มีสิทธิครอบครองมีสิทธิเรียกเอาการครอบครองคืนจากผู้ที่แย่งการครอบครองโดยมิชอบ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๗๕ ว่า
                    ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้
                    การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง
                    มาตรา ๑๓๗๕ นี้ต่างกับมาตรา ๑๓๗๔ ในข้อที่ว่า มาตรา ๑๓๗๔ เป็นเรื่องรบกวนการครอบครอง แต่มาตรา ๑๓๗๕ เป็นเรื่องแย่งการครอบครอง หรือแย่งตัวทรัพย์สินทีเดียว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๔๔/๒๕๔๑ วินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวเป็นคนละเรื่องกัน)
                    คำว่าผู้ครอบครองตามมาตรานี้ ก็เช่นเดียวกับมาตรา ๑๓๗๔ ย่อมหมายถึงผู้มีสิทธิครอบครอง
                    การแย่งการครอบครองนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๙๙๑/๒๕๔๑,๒๖๑/๒๕๔๕,๔๖๕๙/๒๕๔๙ อาจเป็นการแย่งเอาตัวทรัพย์โดยตรงหรือ เพียงแต่โต้แย้งคัดค้านสิทธิครอบครองในเมื่อผู้โต้แย้งได้ยึดถือครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ก่อนแล้วก็ได้ เช่น จำเลยเช่าที่พิพาท ต่อมาเมื่อโจทก์นำรังวัดที่พิพาทเพื่อออกโฉนด จำเลยไปคัดค้าน ดังนี้เป็นการโต้แย้งคัดค้านสิทธิของโจทก์แล้ว หากโจทก์ไม่ฟ้องเอาคืนการครอบครองภายใน ๑ ปี ย่อมหมดสิทธิฟ้อง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๙๖-๗๐๐/๒๔๙๓) การอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินที่มี น.ส.๓ ต่อมาที่ดินและบ้านตกเป็นของผู้ซื้อฝาก ผู้อาศัยต้องถือว่าครอบครองแทนผู้ซื้อฝาก แต่การที่ผู้อาศัยฟ้องผู้ซื้อฝากขอให้เพิกถอนการขายฝาก ถือว่าเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือแล้วจึงเป็นการแย่งการครอบครองนับแต่นั้น และเมื่อผู้ซื้อฝากซึ่งถูกฟ้องได้ฟ้องแย้งขอให้ขับไล่ผู้อาศัย ต้องถือว่าได้มีการฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองแล้ว แม้คดีนั้นศาลจะสั่งจำหน่ายคดีของผู้อาศัยอันทำให้ฟ้องแย้งตกไปก็ตาม หากผู้ซื้อฝากมาฟ้องผู้อาศัยเกิน ๑ ปี นับแต่วันแย่งการครอบครองก็ถือว่าไม่ขาดสิทธิฟ้องตามมาตรา ๑๓๗๕ เพราะต้องถือวันฟ้องแย้งเป็นการฟ้องแล้ว (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔๗๖/๒๕๓๖) จำเลยครอบครองที่ดินมือเปล่ามาฝ่ายเดียว ต่อมาจำเลยตกลงทำบันทึกแบ่งที่ดินนี้ให้โจทก์ การครอบครองของจำเลยต่อจากนั้นจึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ด้วย แต่เมื่อภายหลังจำเลยได้ขอถอนการให้ ก็ต้องถือว่าจำเลยครอบครองเพื่อตนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา(คำพิพากษาฎีการที่ ๑๔๐๔/๒๕๑๑)
                     แต่การที่เจ้าพนักงานออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลย ยังไม่ถือว่าเป็นการรบกวนหรือแย่งการครอบครองของโจทก์แต่เมื่อจำเลยยืนคำคัดค้านการขอรับรองการทำประโยชน์ จึงถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วและเริ่มนับกำหนดเวลาฟ้องตั้งแต่นั้น(คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๘/๒๕๐๘)
                     การฟ้องขับไล่โดยอาศัยสัญญาประนีประนอมยอมความหรือสัญญาให้อาศัยไม่ใช่เป็นการถูกแย่งการครอบครอง ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๓๗๕(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙๒/๒๕๓๔)
                     ขอออกโฉนดที่ดินทับที่ดิน น.ส.๓ ของโจทก์แล้วมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์สืบต่อกันมาโดยมิได้เข้าครอบครองที่ดิน ยังไม่ถือว่าเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินของโจทก์ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๙/๒๕๓๘)เพียงขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินแต่ไม่เคยเข้าไปครอบครองที่ดินก็เช่นกัน
                      ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่นามือเปล่าให้เขาและศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้ว แม้ผู้นั้นจะยังคงครอบครองนานั้นอยู่จนเกิน ๑ ปีแล้ว ก็มิใช่เป็นการแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันจะทำให้คดีของผู้รับโอนหมดสิทธิฟ้องร้อง(คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๐๕/๒๕๐๘) ผู้ที่เป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สิน แม้ผู้ใดจะมิได้ครอบครองก็ถือว่าเจ้าของรวมคนอื่นครอบครองแทน ฉะนั้นจะอ้างว่าแย่งการครอบครองจากเจ้าของรวมคนอื่นที่มิได้ครอบครองมิได้(คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๕๒/๒๕๐๘) เว้นแต่จะได้มีการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าตนเจตนาจะยึดถืออย่างเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ผู้ที่ครอบครองทรัพย์ในฐานะตัวแทนแม้จะพ้นหน้าที่แล้ว ก็ยังมีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์ให้ตัวการ ฉะนั้นจะอ้างว่าครอบครองเพื่อตนมิได้ ผู้อื่นที่ได้รับมอบการครอบครองต่อจากตัวแทนโดยรู้ความจริงเช่นนั้นต้องถือว่าอยู่ในฐานะเดียวกับตัวแทน เว้นแต่จะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา ๑๓๘๑ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๖๓/๒๔๙๓) ผู้แพ้คดีถูกยึดที่ดินขายทอดตลาดและมีผู้ซื้อได้ แม้ผู้แพ้คดีจะยังคงยึดถือที่ดินนั้นอยู่ต่อมาเกิน ๑ ปี ก็ต้องถือว่าเป็นการยึดถือเพราะเป็นเจ้าของเดิมทำกินต่อเนื่องมาโดยผู้ซื้อยังไม่ประสงค์ขับไล่เนื่องจากอยู่ในระหว่างขอออก น.ส.๓ และขอจดทะเบียนรับโอน การยึดถือดังนี้ หากไม่มีพฤติการณ์ใดๆ ขึ้นใหม่อันแสดงว่าเป็นการแย่งการครอบครองแล้ว ก็จะนำกำหนดเวลา ๑ ปี ตามมาตรา ๑๓๗๕ มาใช้มิได้(คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๔๕/๒๕๒๐) จำเลยครอบครองที่ดินของโจทก์โดยอาศัยสิทธิของ จ. และ ป.ซึ่งอยู่ระหว่างโจทก์ฟ้องเอาคืนการครอบครอง จาก จ.และ ป. คดียังไม่ถึงที่สุด จำเลยไม่อาจยกการครอบครองยันสิทธิครอบครองของโจทก์ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๕/๒๕๔๐) ที่ดินที่ทางราชการจัดให้ราษฎรทำกินนั้น ห้ามโอนภายใน ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๓๑ ดังนี้แสดงว่าทางราชการยังควบคุมที่ดินนั้นอยู่ การครอบครองในเวลาห้ามโอนอังกล่าวจึงกระทำมิได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๐๙/๒๕๓๑) จำเลยครอบครองที่พิพาทแทนโจทก์ จำเลยเคยฟ้องภริยาโจทก์เป็นคดีอาญาข้อหาบุกรุกที่พิพาท ทำให้เสียทรัพย์ และเรียกค่าเสียหาย แต่ศาลพิพากษายกฟ้อง การครอบครองที่พิพาทของจำเลยในระหว่างดำเนินคดีอาญาถือเป็นการครอบครองแทนโจทก์ จำเลยจะอ้างกำหนดเวลาฟ้องเรียกคืนการครอบครองตามมาตรา ๑๓๗๕ ยันโจทก์มิได้(คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๔๖/๒๕๓๕)
                  ถ้าผู้โต้แย้งสิทธิครอบครองมิได้ครอบครองทรัพย์ที่โต้แย้งอยู่ไม่ถือว่าเป็นการแย่งการครอบครอง จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๓๗๕ ที่จะฟ้องผู้โต้แย้งภายใน ๑ ปี แต่การโต้แย้งนั้นทำให้ผู้ถูกโต้แย้งมีสิทธิฟ้องผู้โต้แย้งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๕๕ และการฟ้องผู้โต้แย้งเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องฟ้องภายใน ๑ ปี ทั้งนี้ จะเห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๔๐/๒๕๒๒ ซึ่งวินิจฉัยว่า โจทก์ซื้อที่พิพาทจาก ส. และได้ครอบครองตลอดมา ได้ออก น.ส.๓ ที่พิพาทในนาม ส. เมื่อ ส.ตาย จำเลยบุตร ส. ขอรับมรดกต่ออำเภอ ดังนี้มิใช่แย่งการครอบครอง แม้เกิน ๑ ปี โจทก์ก็ฟ้องจำเลยได้ คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๕๒/๒๕๒๒ โจทก์ครอบครองที่ดิน จำเลยขอหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โจทก์คัดค้าน แม้เจ้าพนักงานจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลย ก็ไม่ใช่เรื่องแย่งการครอบครอง โจทก์ไม่ต้องฟ้องภายใน ๑ ปี (คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๓๖/๒๕๒๓, ๒๒๓๐/๒๕๒๕, ๗๙๕/๒๕๓๓, ๓๐๘๙/๒๕๓๗ และ ๖๓๓/๒๕๓๘ ก็วินิจฉัยอย่างเดียวกัน
                  จำเลยแจ้งความต่อตำรวจกล่าวหาโจทก์บุกรุกที่ดิน น.ส.๓ ก. แต่จำเลยก็ยังมิได้ครอบครองที่ดิน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยแย่งการครอบครอง โจทก์ไม่หมดสิทธิฟ้อง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๙๔/๒๕๓๗) การที่ผู้รับประทานบัตรเหมืองแร่ฟ้องผู้ที่สร้างสิ่งปลูกสร้างในที่ดินที่ได้รับประทานบัตรให้รื้อถอนออกไป มิใช่เป็นการฟ้องเรียกสิทธิครอบครองคืน ตามมาตรา ๑๓๗๕  
                 
                   

                   
                 
                 
           
             

           

วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2562

ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ

                                                                                  ยืม
                       ยืมเป็นสัญญาชนิดหนึ่งที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จัดไว้เป็นเอกเทศ สัญญาโดยบัญญัติไว้ในบรรพ ๓ ลักษณะ ๙ ตั้งแต่มาตรา ๖๔๐ ถึงมาตรา ๖๕๖ รวม ๑๗ มาตรา เนื่องจากสัญญายืมเป็นนิติกรรมสองฝ่าย จึงต้องนำกฎหมายลักษณะนิติกรรมและหนี้มาใช้ด้วย การปฏิบัติและการวินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญายืม นอกจากจะพิจารณาข้อสัญญาและบทบัญญัติในบรรพ ๑ และบรรพ ๒ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องดังต่อไปนี้
                       ๑.เจตนาของคู่สัญญา สัญญายืมเป็นนิติกรรม ๒ ฝ่าย เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป เมื่อเป็นนิติกรรมก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของมาตรา ๑๔๙ ที่ว่า "มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล" ดังนั้นการที่พนักงานในหน่วยงานหนึ่งทำใบยืมให้หน่วยงานนั้นเพื่อเบิกเงินไปจ่ายในการงานของหน่วยงานนั้นเอง ไม่เป็นสัญญายืม เพราะเขามิได้มีเจตนาที่จะยืมเงินของหน่วยงานไปใช้ แต่เป็นการทำใบยืมเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของหน่วยงานและเงินตามใบยืมก็นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานนั้นเท่านั้น เช่น
                       คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๑๑/๒๕๒๙ เรื่องยืมตาม ป.พ.พ. เป็นกรณีที่ผู้ให้ยืมให้ผู้ยืมใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมเพื่อประโยชน์ของผู้ยืมหาใช่เพื่อประโยชน์ของผู้ให้ยืมไม่ การที่โจทก์ผู้ให้ยืมให้จำเลยยืมเงินไปเป็นการทดรองเพื่อให้จำเลยนำไปใช้สอยในกิจการของโจทก์เป็นประโยชน์ของโจทก์ผู้ให้ยืมเอง รูปเรื่อง จึงปรับเข้าเรื่องยืมไม่ได้
                       คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๔๖/๒๕๓๘ โจทก์ซึ่งเป็นนายอำเภอยืมเงินจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด แล้วมอบเงินนั้นให้จำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าหมวดการศึกษา เพื่อนำไปจ่ายเป็นเงินเดือน และค่าจ้างพนักงานในหมวดการศึกษา แต่จำเลยกลับเอาเงินนั้นไปให้สมาชิกสหกรณ์ครูกู้ เมื่อโจทก์ทวงเงินจากจำเลย จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้วไม่ใช้ โจทก์จึงฟ้องคดี ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เป็นกรณีที่โจทก์ปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ และเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการเท่านั้น หาใช่ทำในฐานะส่วนตัวไม่ การคืนเงินยืมดังกล่าว ก็เพียงแต่นำใบสำคัญที่คณะกรรมการจ่ายเงินได้จ่ายไปนำไปเบิกจากงบประมาณแผ่นดินแล้วนำไปชำระแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด หาจำต้องนำเงินส่วนตัวมาชำระคืนไม่ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ให้ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๕๐ เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้ให้ยืมเงิน โจทก์กับจำเลยจึงไม่มีหนี้ต่อกัน หนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยทำไว้แก่โจทก์จึงไม่มีผลบังคับ
                       คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๔๑๔/๒๕๕๑ จำเลยเป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการอบรมลูกจ้างของโจทก์ จำเลยจึงขอยืมเงินโจทก์ ๑๒๗,๑๐๐ บาท เพื่อใช้ในการดังกล่าว แต่เงินนั้นถูกคนร้ายลักไป ดังนี้การยืมเงินเป็นเรื่องของการปฏิบัติราชการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา การทำสัญญายืมเงินเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการปฏิบัติราชการของจำเลย จึงมิใช่การยืมตามลักษณะ ๙ แห่ง ป.พ.พ. และกรณีนี้ไม่อาจนำบทบัญญัติในลักษณะ ๙ มาใช้ในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง
                       ถ้าผู้ทำใบยืมนำเงินไปใช้ในการอื่นไม่ถูกต้องตามระเบียบอาจจะต้องรับผิดฐานละเมิดได้(ดูฎีกาที่ ๙๑๐/๒๕๒๐)
                    ๒.ความสามารถในการทำนิติกรรม สัญญายืมเป็นนิติกรรม ๒ ฝ่าย คือ เป็นนิติกรรมที่เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาตรงกันของบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป บุคคลที่ทำสัญญายืมอาจจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้
                       ๒.๑ กรณีที่บุคคลธรรมดาเป็นคู่สัญญา คู่สัญญาทุกคนจะต้องมีความสามารถ มิฉะนั้นสัญญายืมจะเป็นโมฆียะ เพราะมาตรา ๑๕๓ บัญญัติว่า "การใดมิได้เป็นตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคล การนั้นเป็นโมฆียะ" สัญญาที่เป็นโมฆียะนั้นใช้ได้จนกว่าจะถูกบอกล้างโดยบุคคลตามที่มาตรา ๑๗๕ กำหนด บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคล เช่น มาตรา ๒๑, ๒๙, ๓๐, และ ๓๔ ดังนั้น ในกรณีที่บุคคลธรรมดาทำนิติกรรมหรือสัญญายืมนอกจากจะพิจารณาตามบทบัญญัติในบรรพ ๓ ลักษณะ ๙ แล้วจะต้องพิจารณาถึงบทบัญญัติในมาตรา ดังกล่าวด้วย
                       ๒.๒ กรณีที่นิติบุคคลเป็นคู่สัญญา โดยสภาพแล้วนิติบุคคลไม่เป็นผู้เยาว์ไม่เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ แต่ความประสงค์ของนิติบุคคลจะต้องแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคลและต้องอยู่ภายในขอบอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น ด้วยตามมาตรา ๖๖ ดังนั้นในสัญญาจะผูกพันนิติบุคคลหรือไม่จะต้องดูว่า ผู้แทนกระทำการภายในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้นหรือไม่
                             ๒.๒.๑ ผู้แทนกระทำการภายในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล ถ้าผู้แทนของนิติบุคคลทำการแทนนิติบุคคลภายในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล นิติบุคคลนั้น ต้องผูกพันและรับผิดตามนิติกรรมนั้น สำหรับนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อประกอบธุรกิจการค้าจำเป็นจะต้องมีเงินทุนมาใช้ในการดำเนินกิจการ ดังนั้น การที่ผู้แทนของนิติบุคคลกู้ยืมเงินผู้อื่นมาเพื่อใช้ในกิจการของนิติบุคคลนั้น ต้องถือว่าเป็นการกระทำภายในวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น (ฏีกาที่ ๓๘๙๖/๒๕๒๕ และ ๕๐๐๒/๒๕๔๐)
                             ๒.๒.๒ ผู้แทนกระทำการนอกวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล ในกรณีที่ผู้แทนของนิติบุคคลไปทำสัญญาในนามนิติบุคคลแต่นอกวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล ตามปกติแล้วนิติบุคคลนั้นไม่ต้องรับผิด เช่น กรรมการบริษัทใช้เงินในบัญชีของบริษัทเป็นประกันหนี้ของตนที่มีต่อธนาคาร (ฎีกาที่ ๔๑๙๓/๒๕๒๘) กรรมการบริษัททำสัญญาในนามของบริษัทค้ำประกันหนี้ของผู้อื่นที่มิได้เกี่ยวข้องกับบริษัท (ฏีกาที่ ๔๗๗๘/๒๕๓๑) กรรมการของบริษัทจำเลยทำบันทึกการจ่ายเงินให้โจทก์เพื่อช่วยให้โจทก์มีรายได้ เป็นการทำนอกวัตถุประสงค์ ไม่ผูกพันจำเลย (ฎีกาที่ ๑๔๑๘/๒๕๕๔)
                        ถ้าผู้แทนของนิติบุคคลทำสัญญานอกวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล แต่นิติบุคคลได้รับประโยชน์จากนิติกรรมนั้นไปแล้ว เมื่อจะต้องรับผิดหรือมีหน้าที่ตามสัญญานั้น นิติบุคคลจะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าเป็นเรื่องนอกวัตถุประสงค์ไม่ได้ เช่น การรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นการค้ำประกันอย่างหนึ่ง เป็นการกระทำนอกวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ระบุรับค้ำประกันหนี้สิน (ฎีกาที่ ๑๗๓๘/๒๕๓๗)
                        บริษัทจำเลยที่ ๑ ไม่มีวัตถุประสงค์ในการประกันวินาศภัย แต่ได้รับประกันวินาศภัย และรับเบี้ยประกันภัยแล้ว จะปฏิเสธว่าเป็นเรื่องนอกวัตถุประสงค์ของบริษัทเพื่อให้พ้นความรับผิดที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันภัยหาได้ไม่ (ฎีกาที่ ๔๒๑๑-๔๒๑๒/๒๕๒๘ และ ๕๒๕๖/๒๕๕๐)
                        ในทำนองเดียวกันถ้าเราทำสัญญากับนิติบุคคลและได้รับประโยชน์ตามสัญญานั้นแล้วต่อมาเราผิดสัญญา เราจะปฎิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าการทำสัญญานั้นอยู่นอกวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลไม่ได้ เช่น แม้ขณะที่ให้เช่าซื้อบริษัทโจทก์จะมิได้มีวัตถุประสงค์ให้เช่าซื้อสังหาริมทรัพย์ แต่จำเลยให้การและนำสืบรับว่า จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับโจทก์จริง จำเลยจะโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะการให้เช่าซื้อรถยนต์อยู่นอกวัตถุประสงค์ของโจทก์หาได้ไม่ (ฎีกาที่ ๑๘๔๕/๒๕๓๑)
                        ๓.วัตถุประสงค์ของนิติกรรม สัญญายืมจะใช้บังคับได้ต้องเป็นไปตามมาตรา ๑๕๐ คือมีวัตถุประสงค์ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ถ้าเราขอยืมเงินจากเพื่อน ธนบัตรหรือเงินที่ยืมเป็นวัตถุแห่งหนี้วัตถุประสงค์ของการยืมก็คือยืมเงินนั้นไปเพื่อทำอะไร ถ้าวัตถุประสงค์เป็นการไม่ชอบตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๕๐ และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งก็รู้ สัญญานั้นเป็นโมฆะ เช่น กู้เงินโดยบอกผู้ให้กู้ว่าจะเอาไปลงทุนค้าฝิ่นเถื่อน (ฎีกาที่ ๗๐๗/๒๔๘๗) กู้เงินโดยบอกว่าจะเอาไปใช้หนี้ค่าจ้างมือปืนไปยิงครู(ฎีกาที่ ๓๕๘/๒๕๑๑) ให้กู้เงินโดยรู้ว่าผู้กู้จะนำเงินนั้นไปใช้ในการวิ่งเต้นกับกรรมการคุมสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ (ฎีกาที่ ๕๗๑๘/๒๕๕๒) พระภิกษุให้กู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ยได้ (ฎีกาที่ ๓๗๗๓/๒๕๓๘) สัญญากู้ยืมที่มีมูลหนี้มาจากการพนันหวยใต้ดิน เป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมไม่ก่อหนี้ที่พึงชำระต่อกัน(ฎีกาที่ ๔๘๒๒/๒๕๕๐) ธนาคารหรือบริษัทที่ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมให้ลูกค้ากู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงเป็นโมฆะ (ฎีกาที่ ๔๐๐๑/๒๕๕๑ และ ๖๒๒๓/๒๕๕๖)
                        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๗๖/๒๕๔๒ เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายเป็นโมฆะตามตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐ แล้ว การที่โจทก์ชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินพิพาทให้จำเลย ย่อมเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายซึ่งมาตรา ๔๑๑ บัญญัติว่าจะเรียกร้องทรัพย์สินคืนไม่ได้ ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจเรียกเงินคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินที่โจทก์ฟ้องเป็นสัญญาที่จำเลยตกลงยอมรับผิดใช้หนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากการที่โจทก์ได้ชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๕๐ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามหนังสือสัญญากู้เงินให้แก่โจทก์


                                                        ปรึกษาทนายความ แอดไลน์มา



ทรัพย์-ที่ดิน

ทรัพย์-ที่ดิน
ความหมายของทรัพย์ และทรัพย์สิน
                 มาตรา ๑๓๗ บัญญัตว่า ทรัพย์หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง
                 มาตรา ๑๓๘ บัญญัติว่า ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้
ทั้งสองมาตราดังกล่าวจะเห็นว่า มีส่วนที่ร่วมกันหรือซ้อนกันอยู่ เพราะมาตรา ๑๓๗ บัญญัติว่า ทรัพย์หมายความว่าวัตถุมีรูปร่าง และมาตรา ๑๓๘ ตอนแรกก็บัญญัติว่า ทรัพย์สินหมายความรวมถึงทรัพย์ แล้วก็บัญญัติต่อไปว่ายังหมายความรวมถึงวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ อาจกล่าวได้ว่าทรัพย์คือ วัตถุมีรูปร่างเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สิน แต่มาตรา ๑๓๘ บัญญัติต่อไปว่า ทรัพย์สินนั้นอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ ก็จำเป็นที่จะต้องเอาคำว่าอาจมีราคาและอาจถือเอาได้นั้นมาขยายคำว่าวัตถุมีรูปร่างด้วยเช่นกัน ถือว่า ข้อความว่าอาจมีราคาและอาจถือเอาได้นั้น ก็ต้องขยายทั้งคำว่าทรัพย์ และคำว่าวัตถุไม่มีรูปร่าง ฉะนั้นทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นจะต้องอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ ซึ่งมีข้อสังเกตดังนี้
                 ๑.การมีราคาและการถือเอาได้นั้น ตัวบทใช้คำว่าอาจนำหน้าคือ อาจมีราคาและอาจถือเอาได้ ไม่ได้บังคับว่าต้องมีราคาและต้องถือเอาได้ คำว่าอาจคือ เป็นไปได้ที่จะมีราคาหรือเป็นไปได้ที่จะมีการถือเอาได้ เช่น นกที่เกาะตามกิ่งไม้บินไปบินมา หรือปล่าที่ว่ายน้ำไปมาในคลอง ทั้งนกทั้งปลานั้นยังไม่มีการเข้าถือเอาแต่อยู่ในวิสัยที่จะเข้าถือเอาได้ หรือเอาแร้วไปดักนก เอาเบ็ดไปตกปลา ทั้งนกและปลานั้นก็อาจเป็นทรัพย์ที่อาจถือเอาได้และอาจมีราคาด้วยกันทั้งคู่
                 ๒.คำว่าทรัพย์และทรัพย์สินนั้นมีความหมายไม่เหมือนกัน ทรัพย์มีความหมายแคบกว่าทรัพย์สิน เพราะทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สิน นอกจากนี้ทรัพย์สินยังหมายความรวมถึงวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ ฉะนั้นการใช้กฎหมายต้องระวังว่า เมือใดควรจะใช้คำว่าทรัพย์ เมือใดควรจะใช้คำว่าทรัพย์สิน เช่น ผู้มีฐานะดีท่านหนึ่งต้องการให้เราทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายว่าจะยกทรัพย์มรดกนั้นให้แก่ทายาทคนใดโดยเฉพาะ ส่วนทายาทคนอื่นๆ ไม่ให้ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลส่วนตัว เช่น มีบุตรหลายคน บรรดาบุตรคนโตก็แต่งงานแยกครอบครัวไปแล้วตอนที่แยกครอบครัวนั้น ก็มีการแบ่งทรัพย์สินให้ไปตั้งตัวสร้างครอบครัวแล้วก็เหลือบุตรคนเล็กอยู่ด้วยกัน เป็นคนที่ดูแลตลอดมายังไม่ได้แต่งงานยังไม่ได้แบ่งทรัพย์สินให้ ฉะนั้นทรัพย์สินที่เหลือจะให้บุตรคนเล็กคนเดียว ถ้าไม่ระมัดระวังกำหนดในพินัยกรรมว่าทรัพย์ของข้าพเจ้าทังหมดที่มีอยู่ในขณะที่ข้าพเจ้าถึงแก่ความตายนั้นให้ตกเป็นของบุตรชายคนเล็ก คนอื่นไม่มีสิทธิอย่างนี้พอเจ้ามรดกตายอาจเกิดปัญหาขึ้นได้ว่าทรัพย์นั้นหมายความถึงวัตถุที่มีรูปร่างเท่านั้น เช่น รถยนต์ เครื่องเพชร ที่ดิน บ้านที่อยู่อาศัย ส่วนวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง หรือสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นในบริษัทหรือในสถาบันการเงิน สิทธิหรือลิขสิทธิ์พวกทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหลาย เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร เหล่านี้ไม่มีรูปร่างทั้งสิ้น เป็นสิทธิในความคิดสร้างสรรค์ไม่รวมถึง ทายาทอื่นๆ จะมาขอแบ่งโดยอ้างว่าเป็นกองมรดกของผู้ตาย ซึ่งมาตรา ๑๖๐๐ บัญญัติว่ากองมรดกของผู้ตายนั้นได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย แต่พินัยกรรมกำหนดว่าทรัพย์เท่านั้น คุณเอารถยนต์ไป เอาบ้านไป เอาเครื่องเพชรไป เอาเครื่องตกแต่งในบ้านไป แต่ว่าสิ่งที่เป็นทรัพย์สินนั้นเอาไปไม่ได้ ต้องมาแบ่งถือเป็นกองมรดก ในปัจจุบันทรัพย์สินที่เป็นวัตถุไม่มีรูปร่างอาจมีราคาสูงเป็นต้นว่า เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียง มีมูลค่ามากกว่าที่ดินมากมายนัก ก็จะเกิดปัญหาขึ้นว่าบุตรชายคนเล็กไม่ได้สมประโยชน์ ถ้าเราทำพินัยกรรมแล้วไม่ระวังในเรื่องนี้บุตรชายคนเล็กก็จะต้องเอาทรัพย์สินอื่นๆ ไปแบ่งให้แก่ทายาทคนอื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตามบางกรณีกฎหมายอาจจะไม่สอดคล้องหรือการใช้ถ้อยคำในกฎหมายอาจจะไม่เป็นไปในแนวเดียวกันก็อาจทำให้เกิดความสับสนได้ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ และมาตรา ๓๓๕ ในเรื่องลักทรัพย์ กฎหมายใช้คำว่าเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย แต่ในเรื่องฉ้อโกงตามมาตรา ๓๔๑ ความผิดต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา ๑๔๔ กฎหมายใช้คำว่าทรัพย์สิน ก็เกิดปัญหาว่า หมายความว่าอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องลักทรัพย์ คือ ลักกระแสไฟฟ้านั้น จะเป็นลักทรัพย์หรือไม่ เพราะกระแสไฟฟ้านั้นไม่มีตัวตนเป็นพลังงานที่ส่งไปตามสายไฟฟ้าเท่านั้น ก็เกิดปัญหาขึ้นมาว่าการลักลอบใช้กระแสไฟฟ้านั้นความผิดหรือไม่ เราเอาสายไปต่อจากสายของการไฟฟ้านครหลวงเข้ามาใช้ในบ้านโดยไม่ผ่านมาตรวัดไฟฟ้านั้นเป็นการลักทรัพย์หรือไม่ที่เป็นปัญหาก็เพราะว่าประมวลกฎหมายอาญาในเรื่องลักทรัพย์ตามาตรา ๓๓๔ และมาตรา ๓๓๕ ใช้คำว่าทรัพย์เท่านั้น ซึ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๗ ก็ให้ความหมายชัดเจนแล้วว่าทรัพย์หมายความถึงวัตถุที่มีรูปร่าง แปลประกอบกับมาตรา ๑๓๘ ก็คือ อาจมีราคาและอาจถือเอาได้ ในเรื่องนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาประชุมใหญ่
                   คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๗๗/๒๕๐๑ (ประชุมใหญ่) การลักกระแสไฟฟ้าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
                   ซึ่งในคำพิพากษาศาลฎีกาเองก็ไม่ได้อธิบายว่าทำไมการลักกระแสไฟฟ้าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้ทั้งๆ ที่กระแสไฟฟ้านั้นไม่มีรูปร่าง ก็มีนักกฎหมายหลายท่านพยายามที่จะวิเคราะห์หาเหตุผลว่าทำไมศาลฎีกาถึงวินิจฉัยอย่างนั้น ท่านศาสตราจารย์บัญญัติ วิเคราะห์ว่าก่อนที่จะมีการใช้ประมวลกฎหมายอาญา เราใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ ในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ นั้นมีการให้คำนิยามของคำว่าทรัพย์ไว้โดยเฉพาะในมาตรา ๖(๑๐) ว่าหมายความถึงสิ่งของอันบุคคลมีกรรมสิทธิ์หรือมีอำนาจเป็นเจ้าของได้ จะเห็นได้ว่าคำนิยามนั้นกว้างกว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗ ในปัจจุบัน ฉะนั้นในขณะที่ใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ นั้น การลักกระแสไฟฟ้าเป็นการลักทรัพย์อย่างแน่นอน เพราะกระแสไฟฟ้าถือเป็นทรัพย์ได้ตามคำนิยามมาตรา ๖ (๑๐) ท่านศาสตราจารย์บัญญัติเห็นว่าศาลฎีกาถือแนวบรรทัดฐานตามกฎหมายเก่านั่นเอง ซึ่งผมเห็นว่า เป็นคำอธิบายที่มีน้ำหนักอยู่ แต่อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาตามหลักวิชาการในการตีความโดยการใช้กฎหมายนั้นก็ยังมีข้อน่าคิดอยู่ เพราะว่ากฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ นั้น ได้ถูกยกเลิกเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.๒๔๙๙ แล้ว ในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.๒๔๙๙ มาตรา ๔ บัญญัติว่า เมื่อประมวลกฎหมายอาญาได้ใช้บังคับแล้วยกเลิกกฎหมายลักษณะอาญา ก็เท่ากับคำนิยามของคำว่าทรัพย์ตามมาตรา ๖(๑๐) ของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ ได้ถูกยกเลิกผลก็คือประมวลกฎหมายอาญาไม่มีคำนิยามของคำว่า ทรัพย์ เมื่อไม่มีคำนิยามของคำว่าทรัพย์ก็ไม่น่าที่จะเอาคำนิยามของกฎหมายที่ถูกยกเลิกแล้วมาใช้อีก ในทางตรงกันข้ามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๗ ได้ให้ความหมายของคำว่าทรัพย์ไว้โดยเฉพาะ เมื่อมีบทนิยามหรือการให้ความหมายของคำว่าทรัพย์ไว้โดยเฉพาะแล้ว ทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่บัญญัติภายหลังก็ไม่มีบทบัญญัติให้ความหมายเป็นพิเศษของคำว่าทรัพย์ โดยหลักแล้วคำว่าทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔, ๓๓๕ นั้น ก็ควรจะตีความว่า มีความหมายอย่างเดียวกับที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้ คือ วัตถุที่มีรูปร่าง ซึ่งศาลฎีกาเคยถือหลักการตีความทำนองนี้ เช่น ในเรื่องของสถานภาพของการเป็นสามีภริยาว่า เมื่อมีการใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ บรรพ ๕ ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบของการเป็นสามีภริยาไว้ว่าจะต้องมีการจดทะเบียนสมรสจึงถือว่าเป็นการสมรสกันตามกฎหมาย ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๑ วรรคแรก จะเห็นว่าเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาว่าด้วยความผิดฐานลักทรัพย์ ถ้าภริยาไปลักทรัพย์ของสามีหรือสามีไปลักทรัพย์ของภริยาผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ แต่ว่าประมวลกฎหมายอาญาไม่มีบทบัญญัติถึงสถานภาพของการเป็นสามีภริยาหรือ ความสัมพันธ์ในฐานะเป็นสามีภริยาที่มาตรา ๗๑ วรรคหนึ่งกล่าวถึงจะต้องมีการจดทะเบียนสมรสหรือไม่ หรือว่าอยู่กินกันฉันสามีภริยาเป็นที่รู้กันทั่วไปในสังคมก็ถือว่ามีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาตามที่มาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง บัญญัติ ซึ่งในเรื่องนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยในแนวที่ว่า ถ้าในประมวลกฎหมายอาญา นั้นไม่มีคำจำกัดความของคำว่าสามีภริยาไว้ต้องเอากฏหมายทั่วไปของการเป็นสามีภริยามาใช้ คือนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ซึ่งบังคับไว้ว่าการสมรสนั้นจะต้องมีการจดทะเบียนสมรสถึงจะถือว่าเป็นคู่สมรสกัน แล้วตีความว่าสามีภริยาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๑ วรรคแรก นั้นจะต้องเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ จดทะเบียนสมรสกันไม่ใช่อยู่กินกันฉันสามีภริยาเท่านั้น ในเรื่องการลักกระแสไฟฟ้านั้นในต่างประเทศก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน โต้เถียงกันไปมาในที่สุดหลายประเทศก็ออกกฎหมายไว้โดยเฉพาะ เป็นต้นว่า ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเยอรมัน เขามีกฎหมายบัญญัติเฉพาะเรื่องลักพลังงานต่า่งๆ ของเราเองเมื่อประมาณ ปี ๒๕๓๕ หรือ ๒๕๓๖ กระทรวงยุติธรรมได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาได้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นพิจารณาเหมือนกันว่าเราควรจะเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้เป็นพิเศษหรือไม่ แต่ในที่สุดคณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่จำเป็น เพราะมีคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๗๗/๒๕๐๑ (ประชุมใหญ่) วินิจฉัยไว้ชัดแจ้งแล้วว่าการลักกระแสไฟฟ้านั้นเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จากนั้นมาแนวคำพิพากษาฎีกาก็เป็นไปในทางเดียว
                    คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๘๐/๒๕๔๒(ประชุมใหญ่) คำว่าโทรศัพท์สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนอธิบายว่า โทรศัพท์เป็นวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้าให้กลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่ง สัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นกระแสไฟฟ้าที่แปลงมาจากเสียงพูดเคลื่อนที่ไปตามสายลวดตัวนำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การที่จำเลยลักเอากระแสสัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยทุจริต  จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์เช่นเดียวกันกับ ลักกระแสไฟฟ้า