ยืมใช้คงรูป
ลักษณะของสัญญายืมใช้คงรูป มาตรา ๖๔๐ บัญญัติว่า อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่า จะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว" และมาตรา ๖๔๑ บัญญัติว่า การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม จากข้อความดังกล่าวแสดงลักษณะของสัญญายืมใช้คงรูปว่ามีอยู่ ๔ ประการคือ
๑. เป็นสัญญาที่วัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน มาตรา ๖๔๐ ใช้คำว่า ให้ผู้ยืมใช้สอย "ทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่ง" มาตรา ๑๓๘ ให้บทนิยามคำว่า "ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้" เมื่อมาตรา ๖๔๐ ใช้คำว่า "ทรัพย์สิน" ดังนั้นวัตถุแห่งสิทธิตามสัญญายืมใช้คงรูปอาจจะเป็นของที่มีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่างก็ได้ แต่จะต้องคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อใช้สอยเสร็จแล้ว ทรัพย์สินที่ยืมจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้
๒. เป็นสัญญาที่ไม่มีค่าตอบแทน เนื่องจากมาตรา ๖๔๐ ใช้คำว่า "ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า" สัญญายืมใช้คงรูปจึงเป็นสัญญาที่ไม่มีค่าตอบแทนซึ่งมีผลให้ต้องถือเอาตัวผู้ยืมเป็นสาระสำคัญ เราจะให้ผู้ใดยืมทรัพย์สินของเราไปใช้ เราคงจะต้องพิจารณาแล้วว่า คนที่มาขอยืมเป็นคนที่จะใช้ของของเราด้วยความระมัดระวังและเก็บรักษาทรัพย์นั้นอย่างดี มาตรา ๖๔๘ ก็บัญญัติว่า "อันการยืมใช้คงรูป ย่อมระงับสิ้นไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม" เป็นการถือเอาตัวผู้ยืมเป็นสาระสำคัญ ถ้าผู้ยืมตายสัญญายืมระงับ แต่ผู้ให้ยืมตาย สัญญายืมไม่ระงับ ผลอีกประการหนึ่งของสัญญาไม่มีค่าตอบแทน คือ ผู้ให้ยืมไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องหรือในการรอนสิทธิที่ทำให้ผู้ยืมไม่อาจใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมได้ ซึ่งตรงข้ามกับเรื่องเช่าทรัพย์ ถ้าเราให้ใครยืมรถยนต์ของเราไปใช้ เมื่อเราส่งมอบรถยนต์สัญญายืมก็บริบูรณ์ รถยนต์คันนั้นจะเก่าจะชำรุดบกพร่องอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ผู้ยืมจะต้องพิจารณา เอาเองว่า สมควรจะยืมรถของเราหรือไม่ เราไม่มีหน้าที่ต้องช่อมรถนั้นให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้
๓.เป็นสัญญาที่ไม่โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืม มาตรา ๖๔๐ ตอนท้ายใช้คำว่า และผู้ยืมตกลงจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว หมายความว่า ถ้ายืมทรัพย์สินสิ่งใดไปก็จะต้องนำทรัพย์สินสิ่งนั้นมาคืน จะนำทรัพย์สินอื่นมาคืนแทนไม่ได้ แสดงว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืมมิได้โอนไปยังผู้ยืม ดังนั้น ผู้ให้ยืมไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้ยืม (ฎีกาที่ ๕๒๖/๒๕๒๙ และ ๑๔๐๗/๒๕๓๘) ถ้ามีภัยพิบัติต่อทรัพย์สินที่ยืมทำให้ทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลาย โดยมิใช่ความผิดของผู้ยืมแล้ว ผู้ให้ยืมต้องรับผิดชอบในผลนั้นเองตามมาตรา ๒๑๙ วรรคหนึ่ง
๔.เป็นสัญญาที่บริบูรณ์เมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม มาตรา ๖๔๑ บัญญัติว่า การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่า ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม กฎหมายไม่ได้ใช้คำว่า โมฆะ คำว่า ไม่บริบูรณ์ มีความหมายว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์ที่ให้ยืม สัญญาไม่เป็นโมฆะ แต่ยังใช้ไม่ได้ ยังไม่เกิดสิทธิหน้าที่ตามสัญญา เมื่อใดก็ตามที่มีการส่งมอบทรัพย์ที่ให้ยืมสัญญาก็จะครบถ้วนบริบูรณ์ คู่สัญญาจึงจะมีสิทธิหน้าที่ตามที่ระบุในสัญญาตามกฎหมาย
หน้าที่และความรับผิดของผู้ยืมใช้คงรูป
๑.หน้าที่ของผู้ยืมใช้คงรูป เมื่อผู้ยืมได้รับมอบทรัพย์สินที่ยืมแล้ว ผู้ยืมมีสิทธิที่จะใช้สอยทรัพย์สินนั้นโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน และมีหน้าที่ ๕ ประการตามที่บัญญัติไว้ใน ปพพ. มาตรา ๖๔๒, ๖๔๓ , ๖๔๔ , ๖๔๖ และ ๖๔๗ คือ
๑.๑ หน้าที่เสียค่าใช้จ่ายในการทำสัญญา ส่งมอบและส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๖๔๒ ว่า ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี ค่าส่งมอบและค่าส่งคืน ทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดี ย่อมตกแก่ผู้ยืมเป็นผู้เสีย ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา คือค่าธรรมเนียมที่จะต้องเสียให้แก่รัฐในการทำสัญญายืม ขณะนี้ไม่ปรากฏว่ายืมอะไรที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียม ส่วนค่าส่งมอบ และค่าส่งคืนทรัพย์สินที่ยืมถ้าไม่ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย ส่วนปัญหาว่าจะส่งมอบ และส่งคืน ณ สถานที่ใด ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นต้องเป็นไปตามมาตรา ๓๒๔ คือ ต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ที่ทรัพย์นั้นอยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น
๑.๒ หน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ทรัพย์สินที่ยืม หน้าที่นี้กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๖๔๓ ว่า "ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือ นอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย หรือ บุบสลาย ไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ถึงอย่างไรๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง"
คำว่า ใช้การอย่างอื่นนอกจากการเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น คือ ทรัพย์ที่ยืมไปนั้นปกติคนทั่วไปเขาใช้ทำอะไร ผู้ยืมก็ต้องใช้อย่างนั้น เช่น ยืมรถเก๋งไปใช้ ผู้ยืมต้องเอาไปใช้ให้คนนั่ง ไม่ใช่เอาไปใช้บรรทุกของ
ส่วนการใช้ นอกจากการอันปราฏในสัญญา เช่น ยืมรถเก๋งที่กรุงเทพ โดยบอกว่าจะไปธุระที่เชียงใหม่ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น จะนำไปใช้ในเส้นทางอื่นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกันไม่ได้
คำว่า เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หมายความว่า ผู้ยืมจะต้องเป็นคนใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมเอง การใช้สอยนี้ต้องดูสภาพของทรัพย์ที่ยืมประกอบด้วย เช่น ยืมรถไปใช้เราขับเองหรือใช้คนขับรถที่มีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถนั้น โดยเราสามารถควบคุมได้ก็ถือว่าเราเป็นคนใช้ทรัพย์นั้น ยืมถ้วยยืมจานไปใช้ในงานทำบุญเลี้ยงพระ แม้ในงานทำบุญนั้นจะมีคนอื่นมาใช้ถ้วยใช้จานนั้นด้วยก็ยังถือว่า เราเป็นคนใช้ทรัพย์นั้น อย่างนี้เป็นต้น
ส่วนคำว่า เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดหน้าที่ให้ผู้ยืม จะต้องรีบคืนทรัพย์ที่ยืมเมื่อใช้สอยทรัพย์นั้นเสร็จแล้ว หรือเมื่อใช้ครบกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้ เช่น ยืมรถมาใช้ ๓ วัน เมื่อครบ ๓ วัน ก็ต้องคืน จะอ้างว่า ยืมมาแล้วยังไม่ได้ใช้ขอเก็บไว้ต่อจนกว่าจะใช้รถคันนั้นครบ ๓ วัน อย่างนี้เป็นการผิดหน้าที่ตามมาตรา ๖๔๓
ในกรณีที่ผู้ยืมผิดหน้าที่ดังกล่าวแล้วปรากฏว่าทรัพย์สินที่ยืมสูญหาย หรือบุบสลาย ผู้ยืมจะต้องรับผิดตามมาตรา ๖๔๓ ถ้าผู้ยืมไม่ผิดหน้าที่ผู้ยืมไม่ต้องรับผิด เช่น ยืม โทรทัศน์มาใช้ ๑ สัปดาห์ เมื่อยืมมาได้เพียง ๒ วัน เพื่อนบ้านประมาททำให้เกิดไฟใหม้ ไฟลามมาไหม้บ้านผู้ยืมทำให้โทรทัศน์ที่ยืมถูกไฟไหม้ กรณีนี้ผู้ยืมไม่ต้องรับผิด แต่ถ้าผู้ยืมใช้โทรทัศน์ไป ๑๐ วัน แล้วยังไม่ยอมคืน เกิดไฟใหม้เช่นกรณีแรก ผู้ยืมจะต้องรับผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๖๔๓ ตอนท้าย เช่น พิสูจน์ได้ บ้านต้นเพลิง บ้านผู้ยืม และบ้านผู้ให้ยืม เป็นตึกแถวติดกันถูกไฟใหม้หมดทั้ง ๓ คูหา อย่างนี้ ผู้ยืมไม่ต้องรับผิด
หน้าที่สงวนทรัพย์สินที่ยืม กรณีเป็นหน้าที่ตามมาตรา ๖๔๔ ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง" เช่น ตามปกติเราชอบเอาโน๊ตบุ้คมาใช้ที่ระเบียง ใช้เสร็จก็วางไว้ตรงนั้นเพราะเป็นคอนโดมิเนียม คนมาลักไปไม่ได้ แต่ตรงนั้นมันไม่กันแดดกันฝนร้อยเปอร์เซ็นต์คนธรรมดาทั่วๆ ไป เขาจะเก็บโน๊ตบุ้คไว้ในที่ไม่ร้อนจัด แห้งและไม่ถูกละอองน้ำ เรายืม โน๊ตบุ๊คคนอื่นมาใช้ เราก็ต้องนำมาเก็บไว้ในห้อง จะวางไว้ที่ระเบียงเหมือนของเราเองไม่ได้ ปัญหาว่าขนาดไหนเป็นการสงวนทรัพย์สินอย่างวิญญูชนนั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่ชัด ต้องดูพฤติการณ์เป็นกรณีไปว่า กรณีเช่นนั้นคนธรรมดาทั่วๆ ไป ในภาวะเช่นนั้นเขาปฏิบัติอย่างไร
๑.๔ หน้าที่คืนทรัพย์สินที่ยืม หน้าที่นี้ กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา ๖๔๐ ตอนท้ายว่า ผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว และมาตรา ๖๔๖ บัญญัติว่า ถ้ามิได้กำหนดเวลาไว้ ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืม เมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว ตามการอันปรากฏในสัญญา แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้ เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว
ถ้าเวลาก็มิได้กำหนดกันไว้ ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร์ ท่านว่าผู้ยืมจะเรียกของคืนเมื่อไหร่ก็ได้
มาตรา ๖๔๖ บัญญัติหน้าที่ผู้ยืมไว้ ถ้าการยืมมีกำหนดเวลา เมื่อถึงเวลาก็ต้องคืน แต่ถ้ายืมไม่มีกำหนดเวลา ก็ต้องดูว่า ยืมทรัพย์สินไปใช้สอยเพื่อการอันใด เมื่อทำการอันนั้นเสร็จแล้ว ก็ต้องคืนทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าในสัญญาไม่มีหนดเวลาส่งคืน และ ก็ไม่ได้ระบุว่า ยืมไปใช้ในการอันใด มาตรา ๖๔๖ วรรคสอง บัญญัติว่า ผู้ให้ยืมจะเรียกของคืนเมื่อไรก็ได้ คือ เรียกคืนได้ทันที ส่วนจะคืนที่ไหนต้องเป็นไปตามมาตรา ๓๒๔ คือ ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้ ก็ต้องคืน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ในเวลาก่อหนี้ ค่าใช้จ่ายในการคืน เป็นไปตามมาตรา ๖๔๒ คือผู้ยืมเป็นผู้เสีย ไม่นำมาตรา ๓๒๕ ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปมาใช้บังคับ
๑.๕ หน้าที่เสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืม มาตรา ๖๔๗ วางหลักว่า ค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้นผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย เช่น ยืมรถไปใช้ผู้ยืมต้องบำรุงรักษารถนั้นให้อยู่ในสภาพดี ต้องตรวจและเติมน้ำ น้ำกลั่น น้ำมันเครื่อง และลมยาง ค่าใช้จ่ายแบบนี้ ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาเป็นอย่างอื่นแล้ว ผู้ยืมจะต้องเป็นผู้เสีย และจะเรียกคืนจากผู้ให้ยืมไม่ได้
ส่วนการซ่อมแซม ใหญ่ ก็เช่นกัน ต้องตกลงกันไว้ในสัญญาว่า ใครจะเป็นคนออกค่าใช้จ่าย ถ้าไม่ต้องตกลงกันไว้ แต่ผู้ยืม ไปทำการซ่อมแซมใหญ่โดยพลการ ก็จะเรียกค่าซ่อมจากผู้ให้ยืมไม่ได้
๒.ความรับผิดของผู้ยืมใช้คงรูป ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ยืมสูญหาย หรือบุบสลาย ปัญหาว่า ผู้ยืมจะต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืม และ กรณีที่บุคคลภายนอก ทำละเมิดเป็นเหตุ ให้ทรัพย์สินที่ยืมเสียหาย ผู้ยืมจะฟ้องผู้ทำละเมิด ได้หรือไม่
๒.๑ ผู้ยืมต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมเมื่อผิดหน้าที่ ตามที่บัญญัติไว้ใน ปพพ. มาตรา ๖๔๓ วางหลักว่า ผู้ยืมจะต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินสูญหาย หรือบุบสลาย เมื่อ ผู้ยืม ทำผิดหน้าที่ คือ ผู้ยืมเอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้ในการอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา หรือ เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้ หรือเอาทรัพย์สินที่ยืมไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ ซึ่งแม้จะการสูญหาย หรือ บุบสลาย จะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย ก็ต้องรับผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ถึงจะอย่างไร แม้ผู้ยืมจะไม่ได้ทำผิดหน้าที่ ทรัพย์สินนั้น ก็ต้องสูญหาย หรือ บุบสลาย อยู่นั่นเอง นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ ในมาตรา ๖๔๔ คือ หน้าที่ต้องสงวนทรัพย์สินที่ยืมเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง ดังนั้นเมื่อเกิดความเสียหาย ก็ต้องปรากฏว่า ผู้ยืมทำผิดหน้าที่ ตามสัญญา และตามกฎหมาย ดังกล่าว จึงจะต้องรับผิด ถ้าไม่ได้ทำผิดหน้าที่ แม้เกิดความเสียหาย ผู้ยืมไม่ต้องรับผิด (ฎีกาที่ ๕๓๔/๒๕๐๖ และ ๗๔๑๖/๒๕๔๘)
๒.๒ ผู้ยืมฟ้องผู้ทำละเมิดทำให้ทรัพย์สินที่ยืมเสียหายได้หรือไม่ ผู้ยืมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องผู้ทำละเมิด ทำให้ทรัพย์สินซึ่งยืม สูญหาย หรือบุบสลาย ได้ เฉพาะ ในกรณีที่ผู้ยืม มีความรับผิดต่อผู้ให้ยืมเท่านั้น ถ้าผู้ยืมไม่ผิดหน้าที่ ก็ไม่มีความรับผิด ต่อผู้ให้ยืม เมื่อมีบุคคลภายนอกมาทำละเมิดแก่ทรัพย์สินที่ยืมไป แม้ผู้ยืมจะเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมทรัพย์ที่ยืมให้กลับสู่สภาพเดิม ผู้ยืมก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ทำละเมิดใช้ค่าเสียหาย เป็นเรื่องที่ผู้ให้ยืม จะไปว่ากล่าวโดยใช้สิทธิของตนเอง
คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๖๘๓/๒๕๓๗ โจทก์ยืมรถยนต์ผู้อื่นมาใช้แล้วถูกจำเลยทำละเมิดขับรถยนต์มาชนท้ายรถคันที่โจทก์ยืมเสียหาย แม้ มาตรา ๖๔๗ จะบัญญัติว่าค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติ และการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืมนั้น ผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย ก็มีความหมายเพียงว่า ผู้ยืมต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืมอันเป็นปกติของการใช้ทรัพย์สินที่ยืมเท่านั้น มิใช่กรณีอันเกิดจากการถูกกระทำละเมิด ซึ่งเป็นเหตุอันผิดปกติที่มีมาตรา ๔๒๐ และ ๔๓๘ วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ทำละเมิดต้องรับผิดไว้แล้ว โจทก์ จึงไม่มีหน้าที่ต้องซ่อมรถยนต์คันที่จำเลยทำให้เสียหาย โจทก์มิใช่ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิด จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๗๖๖/๒๕๕๑ มาตรา ๖๔๓ บัญญัติให้ผู้ยืมใช้คงรูปต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมเฉพาะกรณี ผู้ยืมเอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้ในการอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติของทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา หรือเอาไปใ้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือ เอาไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ แต่โจทก์ยืนยันในคำฟ้องว่าเหตุละเมิด ที่เกิดขึ้น เป็นความผิดของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ดังนี้ โจทก์ ในฐานะผู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของทรัพย์ แม้โจทก์จะได้ซ่อมรถยนต์คันที่โจทก์ยืมมาเรียบร้อยแล้ว โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิของเจ้าของทรัพย์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รับผิดได้ เพราะการรับช่วงสิทธิ จะมีได้ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้อันจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ คือ เจ้าของรถ เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง (วินิจฉัยตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๔๕๑/๒๕๒๔)
ความระงับของสัญญายืมใช้คงรูป
1.สัญญาระงับเพราะผู้ยืมตาย มาตรา ๖๔๘ วางหลักว่า อันการยืมใช้คงรูป ย่อมระงับสิ้นไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม ดังนั้น เฉพาะผู้ยืมตายเท่านั้น ที่เป็นเหตุให้สัญญาระงับ ถ้าผู้ให้ยืมตายสัญญายืมใช้คงรูปไม่ระงับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 338/2479 จำเลยยืมเรือของนาย ก. ไปใช้โดยมีข้อตกลง ว่ายืมกันตลอดอายุของจำเลย เมื่อผู้ให้ยืมตาย ผู้รับมรดกยังไม่มีสิทธิฟ้องเรียกทรัพย์ที่ให้ยืมคืน เพราะมาตรา ๖๔๘ แสดงให้เห็นว่า กฎหมายมิได้ประสงค์ให้ถือเอาความมรณะของผู้ให้ยืมเป็นเหตุให้สัญญาระงับ
2.สัญญาระงับเพราะเหตุอื่น ตามหลักทั่วไปของสัญญา ยืม คือ ๑.เมื่อส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม ๒.เมื่อทรัพย์ที่ยืมสูญหายหรือบุบสลายจนหมดสิ้นไป ๓. เมื่อมีการบอกเลิกสัญญา ตามมาตรา ๖๔๕ ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้ยืมปฏิบัติผิดหน้าที่ตามมาตรา ๖๔๓ หรือมาตรา ๖๔๔ เช่นใช้สอยทรัพย์สินไม่ถูกต้องตามสัญญา หรือ ไม่สงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืม ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ส่วนการเลิกสัญญาจะต้องทำอย่างไร และจะมีผลเป็นอย่างไร ต้องเป็นไปตาม ปพพ. บรรพ ๑ และ บรรพ ๒
อายุความ
๑.อายุความเรียกค่าทดแทน มาตรา ๖๔๙ บัญญัติว่า ในข้อความรับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนอันเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูปนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลา หกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา อายุความในมาตรานี้ ใช้เฉพาะกรณีผู้ยืม ปฏิบัติผิดหน้าที่ ผิดสัญญา ตามมาตรา ๖๔๓ มาตรา ๖๔๔ และมาตรา ๖๔๗ จนทำให้เกิดความเสียหาย ถ้าการผิดหน้าที่ดังกล่าวเลยไปถึงขั้นละเมิด ก็ต้องนำอายุความเรื่องละเมิดมาใช้บังคับเมื่อมีการฟ้องให้รับผิดฐานละเมิด
๒.อายุความเรียกทรัพย์สินที่ยืม การฟ้องเรียกคืนทรัพย์สินที่ยืม หรือ ให้ใช้ราคาทรัพย์สินที่ยืม ผู้ให้ยืมมีสิทธิฟ้องภายใน อายุความ ๑๐ ปี ตาม ปพพ. มาตรา ๑๙๓/๓๐
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๘๙/๒๕๒๖ อายุความตามมาตรา ๖๔๙ เป็นกรณีฟ้องให้รับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนอันเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูป เช่น ค่าเสียหายเกี่ยวกับการชำรุดหรือเสื่อมราคาเนื่องจากการใช้สอยทรัพย์สินที่ยืม ในกรณีฟ้องเรียกคืน หรือ ใช้ราคาทรัพย์สินที่ยืมไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ จึงต้องปรับด้วยมาตรา ๑๖๔(ปัจจุบัน เป็นมาตรา ๑๙๓/๓๐) คืออายุความ ๑๐ ปี
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๖/๒๕๓๖ ตามคำฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องเรียกคืนลังไม้หรือราคาลังไม้ซึ่งจำเลยที่ ๑ ยืมไปพร้อมผลิตภัณฑ์ขวดแล้ว ซึ่งโจทก์ขายให้จำเลยที่ ๑ ตามสัญญาซื้อขาย และจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติกับโจทก์ตลอดมาตั้งแต่มีการซื้อขายกัน จึงนำมาตรา ๖๔๙ มาบังคับไม่ได้ ต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๖๔(ปัจจุบันเป็น มาตรา ๑๙๓/๓๐)
นอกจากเจ้าของทรัพย์สินที่ยืม จะใช้สิทธิ ในอายุความทั่วไปในฐานะเป็นคู่สัญญา แล้ว เมื่อสัญญาระงับ เจ้าของทรัพย์สินยังสามารถใช้สิทธิ ตาม ปพพ.มาตา ๑๓๓๖ ในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ติดตามเอาทรัพย์คืน จากผู้ยืมที่ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ โดยไม่มีกำหนดอายุความ เว้นแต่ ผู้ยืมที่ยึดถือทรัพย์สินไว้ จะได้สิทธิโดยการครอบครองปรปักษ์ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เจ้าของทรัพย์สิน ไม่สามารถเรียกทรัพย์สินคืนจากผู้ยืมได้ ดังนั้นเมื่อสัญญาระงับแล้ว ไม่ว่าด้วยเหตุใด เจ้าของทรัพย์ที่ให้ยืม ต้องเร่งขวนขวายรักษาสิทธิของตนเอง เพราะ ถ้าเป็นการยืมทรัพย์สิน ที่เป็นสังหาริมทรัพย์ เช่น รถ สิ่งของ อุปกรณ์ ต่างๆ ผู้ยืมจะเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ยืม หากมีเหตุให้สัญญาระงับ แล้ว ผู้ยืมไม่ส่งคืน ผู้ให้ยืมทักท้วงแล้ว ก็ไม่คืน เท่ากับ ผู้ยืมได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ เป็นยึดถือเพื่อตน เมื่อครอบครอง โดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของ ครบ ๕ ปี จะได้กรรมสิทธิโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ปพพ.๑๓๘๒ ทางแก้ของผู้ให้ยืม คือ แจ้งความร้องทุกข์ เป็นคดีอาญา ในข้อหา ยักยอกทรัพย์ ได้ ในทางแพ่ง ก็ฟ้องเรียกคืนทรัพย์สิน โดยต้องดำเนินการภายในกำหนดอายุความตามกฎหมาย
ปรึกษาทนายความ แอดไลน์